กระทรวงสาธารณสุข พัฒนา 14 ชุดแพทย์สนามฉุกเฉินหรือทีมเมิร์ท รับมือภัยพิบัติเช่นน้ำท่วม แผ่นดินไหวตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมเดินทางถึงพื้นที่ประสบภัยรวดเร็วภายใน 6-12 ชั่วโมงเพื่อทำการคัดแยกให้การดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินขั้นต้น ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตให้ปลอดภัย ก่อนส่งต่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาล ทำงานเป็นทีมร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ภายใต้ระบบสั่งการในภาวะฉุกเฉิน มีเสบียงครบถ้วนเพียงพอดำรงชีพได้ในภาวะภัยพิบัติ
วันนี้ (10 มิถุนายน 2555)นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เยี่ยมชมการฝึกซ้อมร่วมการปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉินภาคสนาม ระหว่างชุดแพทย์สนามฉุกเฉินระดับตติยภูมิ (Medical Emergency Response Team: MERT) หรือชุดเมิร์ท กับทหารและเจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ที่บริเวณอ่างเก็บน้ำจักรพงษ์(เขาอีโต้) อ.เมืองจ.ปราจีนบุรี ซึ่งกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทยจัดขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับภาวะภัยพิบัติ เช่นน้ำท่วมน้ำป่าไหลหลาก และ แผ่นดินถล่ม ให้สามารถรับมือกับภัยพิบัติที่รุนแรงได้ดีขึ้น
นายวิทยา กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกประสบปัญหาภัยพิบัติถี่ขึ้น เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม ดินถล่ม สึนามิ วาตภัย เป็นต้น มีผลถึงการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของประชาชนในเวลาเดียวกันจำนวนมาก ในการรับมือและลดการสูญเสียชีวิตผู้ประสบภัย ได้มอบนโยบายให้กรมการแพทย์ พัฒนาชุดปฏิบัติการแพทย์สนามฉุกเฉินในภาวะภัยพิบัติหรือชุดเมิร์ท เหมือนมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นชุดปฏิบัติการที่มีศักยภาพความพร้อมสูง คล่องตัว ทั้งด้านบุคลากร เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ สามารถออกเดินทางไปปฏิบัติภารกิจ เมื่อได้รับการร้องขอจากพื้นที่ประสบภัยหรือการสั่งการจากผู้บังคับบัญชาภายใน 6-12 ชั่วโมง ขณะนี้ทั่วประเทศมีชุดเมิร์ทแล้ว 14 ชุด โดยอยู่ในส่วนกลางที่โรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ กทม. 7 ชุด ที่เหลืออีก 7 ชุดอยู่ที่โรงพยาบาลศูนย์ 7 จังหวัดได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ลำปาง ชลบุรี ปราจีนบุรี สุรินทร์ อุบลราชธานี สระบุรี เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ.2552 ตั้งเป้าขยายจะให้ครบทั้ง 18 เขตตรวจราชการอย่างน้อยเขตละ 1 ทีมภายในปี 2556
ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ชุดเมิร์ท 1 ชุด จะประกอบด้วยบุคลากรทางการแพทย์ 16 คน คือ แพทย์ 1 คน พยาบาลฉุกเฉิน 4 คน เจ้าหน้าที่กู้ชีพหรือเวชกรฉุกเฉิน 6 คน เภสัชกร 1 คน ที่เหลือเป็นเจ้าหน้าที่สนับสนุนอื่นๆและรถพยาบาล โดยมีคุณสมบัติเฉพาะตัว 3 ประการคือ 1.มีความพร้อมในการปฎิบัติการฉุกเฉิน สามารถทำงานร่วมกับหน่วยปฎิบัติการอื่นๆได้เป็นอย่างดี เช่น หน่วยแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่ หน่วยทหาร อาสาสมัครอื่นๆ ภายใต้ระบบสั่งการในภาวะฉุกเฉิน 2.สามารถดำรงชีพอยู่ในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ ไม่รบกวนทรัพยากรของท้องถิ่น โดยจะเข้าพื้นที่พร้อมยา เวชภัณฑ์ รวมทั้งมีอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น เต้นท์สนาม เครื่องยังชีพ วิทยุสื่อสาร เครื่องปั่นไฟ เป็นต้น และ3.สามารถคัดแยกดูแลช่วยชีวิตขั้นต้นแก่ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตหรือมีปัญหาสุขภาพจิตรุนแรง พร้อมกันจำนวนมาก ให้ปลอดภัย พร้อมส่งต่อไปดูแลที่โรงพยาบาลได้อย่างเหมาะสม
สำหรับการฝึกซ้อมภาคสนามจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-10 มิถุนายน 2555 ที่วัดเขาอีโต้ และบริเวณอ่างเก็บน้ำจักรพงษ์(เขาอีโต้)อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี มีโรงพยาบาล จาก 7 จังหวัดเข้าร่วมได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ลำปาง ชลบุรี ปราจีนบุรี สุรินทร์ อุบลราชธานี สระบุรี และโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ อีก 6 แห่งได้แก่ รพ.เลิดสิน รพ.ราชวิถี รพ.นพรัตนราชธานี สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี รพ.สงฆ์ และรพ.เมตตาประชารักษ์(วัดไร่ขิง) รวมทั้งหมด 34 แห่ง โดยมีทั้งการบรรยายเนื้อหาทางวิชาการ สาธิตการค้นหาและลำเลียงผู้ป่วยในรูปแบบต่างๆ เช่น ทางหน้าผา ทางลำธาร ร่วมกับชุดปฎิบัติการค่ายพรหมโยธี กองพันเสนารักษ์ที่ 2และจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฝึกซ้อมเคลื่อนย้ายผู้ป่วย การทำลายล้างพิษสารเคมี การตั้งสถานที่ให้บริการแพทย์สนาม การคัดแยกผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บจำนวนมากของชุดเมิร์ท เพื่อให้มีความพร้อมปฏิบัติการเมื่อเกิดสถานการณ์จริงตลอด 24 ชั่วโมง
- 10 views