ตามที่ภาคีวิชาชีพหมออนามัยแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลโครงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก 1 ล้านราย ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยเบื้องต้นตรวจในสาวโรงงานแห่งหนึ่งพบ 47 ราย เป็นมะเร็งระยะเริ่มต้นและระยะกำลังกลายเป็นมะเร็ง แต่ติดอุปสรรคของระบบประกันสังคม เนื่องจากโรงพยาบาล (รพ.) ตามสิทธิไม่รักษาทันที ต้องตรวจซ้ำและขาดเครื่องมือพื้นฐานส่งผลให้การรักษายืดออกไปนั้น
เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ต้องเข้าใจก่อนว่าตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ระบุว่า เมื่อเจ็บป่วยให้ได้รับการรักษาทันที แต่ไม่ได้ระบุให้มีการส่งเสริมป้องกันโรค ซึ่งการส่งเสริมป้องกันโรคนั้น ปัจจุบันรัฐบาลมีงบประมาณส่วนนี้ให้ สปสช.ดำเนินการ ซึ่งกรณีสาวโรงงานตรวจคัดกรองมะเร็งตามโครงการของ สปสช. และได้ผลว่าแพทย์สงสัยว่าเริ่มป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกแล้วส่งให้โรงพยาบาลในสังกัด สปส.รักษา แต่ปรากฏว่าโรงพยาบาลยืนยันขอตรวจซ้ำ เรื่องนี้ต้องมองตามหลักความเป็นจริงว่า เมื่อแพทย์ผู้ตรวจคัดกรองคนละคน การที่แพทย์อีกคนจะรักษานั้นจำเป็นต้องตรวจซ้ำเพื่อยืนยัน ซึ่งเป็นเรื่องปกติ
"ผมไม่ได้เข้าข้างโรงพยาบาล แต่เป็นข้อเท็จจริง ยกตัวอย่าง หากมีแพทย์คนหนึ่งตรวจคนไข้ว่า เป็นโรคไส้ติ่งอักเสบต้องทำการผ่าตัด และส่งมาให้แพทย์อีกคนทำการผ่า หากเป็นผมจะตรวจซ้ำก่อนแล้วค่อยผ่าตัด เนื่องจากแพทย์ผู้ผ่าตัดคือ แพทย์ด่านสุดท้าย หากเกิดอะไรขึ้นก็ต้องรับผิดชอบทั้งหมด เรื่องนี้เป็นการรีเช็กเพื่อยืนยัน" นพ.สุรเดชกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการดำเนินการอย่างไรกรณีโรงพยาบาลไม่มีเครื่องมือรักษาผู้ป่วยมะเร็งพื้นฐาน ที่เรียกว่า LEEP ซึ่งเป็นวิธีปาดผิวของปากมดลูกที่เป็นรอยโรคออก นพ.สุรเดชกล่าวว่า ก่อนอื่นต้องถามว่า เครื่องมือดังกล่าวเป็นมาตรฐานของแพทย์สูตินรีเวชหรือไม่ หากเป็นมาตรฐานที่โรงพยาบาลทุกแห่งต้องมี สปส.จะดำเนินการกำชับให้โรงพยาบาลในสังกัดต้องมีทั้งหมด
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน 8 มิ.ย.55
- 17 views