โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ถือว่าเป็นปัญหาระดับชาติ เพราะแต่ละปีมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ป่วยเบาหวานหากดูแลควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดีพอจะมีผลแทรกซ้อนต่อร่างกาย โดยเฉพาะใน 3 อวัยวะสำคัญ คือ “ตา-ไต-ตีน”
ตา : หากเบาหวานขึ้นตาอาจจะทำให้ตาบอด
ไต : ผลแทรกซ้อนจะทำให้เป็นโรคไตวาย ซึ่งต้องบำบัดทดแทนไตไปตลอดชีวิต
ตีน : หากดูแลรักษาเท้าไม่ดีแผลเล็กๆ ที่เท้าอาจจะลุกลามกลายจนต้องตัดเท้าทิ้ง
นอกจากนี้ยังมีผลต่องบประมาณในการรักษาพยาบาลที่ต้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นภาระหนักของประเทศ ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุดคือ ต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานให้อยู่ในระดับปกติ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น ด้วยการรับประทานยาและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร
ในหลายพื้นที่ทีมงานเครือข่ายสุขภาพได้พัฒนานวัตกรรมการควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวานจนได้ผลดี และ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บ้านโคกไร่ ต.หนองกุง อ.แกดำ จ.มหาสารคาม คือหนึ่งในตัวอย่างของความสำเร็จ
นางบุญเรียง บัวละคุณ ผู้อำนวยการ รพ.สต. บ้านโคกไร่ หรือที่ชาวบ้านโคกไร่เรียกว่า “คุณหมอน้อย” เล่าว่า นวัตกรรม “พอดีฉัน” เกิดจาก กรณีที่มีผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับการรักษาด้วยการควบคุมเบาหวานทั้งการกินยาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน จนได้เป็นผู้ป่วยเบาหวานต้นแบบที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีมาตลอด 12 ปี แต่กลับเสียชีวิตจากภาวะช็อคจากน้ำตาลในเลือดต่ำ เนื่องจากควบคุมอาหารมากเกินไป อะไรที่คุณหมออนามัยห้ามไว้ก็ไม่ยอมกินเลย
ผลจากการเสียชีวิตของผู้ป่วยนั้น ส่งผลสั่นสะเทือนไปทั้งหมู่บ้าน ทำให้เพื่อนบ้านที่เป็นเบาหวานเหมือนกันกลัวว่าหากทำตามที่หมออนามัยบอกทุกอย่างจะทำให้เสียชีวิต และเริ่มไม่ฟังสิ่งที่หมออนามัยพูด
ทีมสหวิชาชีพที่ดูแลโรคเบาหวานจึงเกิด “นวัตกรรมพอดีฉัน” ซึ่งได้รับสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนตำบลหนองกุง และกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ตำบลหนองกุง ส่วนโรงพยาบาลแกดำให้ความรู้ทางวิชาการและสนับสนุนบุคลากรมาช่วยงาน วิธีการดำเนินงานนั้น ทีมงาน รพ.สต.บ้านโคกไร่ ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อให้สมัครเข้าร่วมโครงการ จากนั้นให้ผู้ป่วยแต่ละคนเป็นผู้กำหนดว่า “พอดีฉัน” คืออย่างไร และให้ อสม.ที่ดูแลคอยดูแลตามความเหมาะสม
“พอดีฉัน” หมายถึง การรับประทานอาหารและควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวานแต่ละรายแตกต่างกันไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ป่วยเบาหวานรู้สึกสบายเป็นปกติสุขที่สุด แต่ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน
“หากผู้ป่วยคนใดทำได้ดีจะมีแรงจูงใจเป็นรางวัลและการยกย่องชมเชยในกลุ่มเพื่อน คือ ถ้าทำได้ตามกำหนด “พอดีฉัน” 1 ครั้ง เป็นรางวัลตามความเหมาะสม เช่น ถุงเท้า ครีมบำรุงผิว พันธุ์ผัก ผ้าเช็ดเท้า แต่ถ้าพอดีฉันต่อเนื่อง 3 ครั้ง จะได้รางวัลใหญ่ และยังมีคู่เพื่อนช่วยเพื่อนเพื่อช่วยกันควบคุมเบาหวาน การเยี่ยมบ้าน การประกวดสุขภาพผู้ป่วยเบาหวาน เป็นต้น” นางบุญเรียงระบุ
ผลสำเร็จที่ภาคภูมิใจของทีมเครือข่ายสุขภาพ ที่เป็นยิ่งกว่ารางวัลใดๆ คือ สุขภาพที่ดีขึ้นของคนในท้องถิ่น เช่น “คู่เสี่ยวหวาน” คุณยายบุญใส ทักสีรักษ์ และ คุณยายทองไสย ทับชา คู่เพื่อนช่วยเพื่อนเบาหวานที่ไปไหนไปกัน ทำอะไรก็ทำด้วยกัน กินก็กินด้วยกัน ช่วยกันเตือนเมื่ออีกคนลืมกินยา หรือเริ่มจะกินอาหารหวานเกินไป
คุณยายบุญใส เล่าว่า หลังจากป่วยเป็นเบาหวานคุณหมอน้อยได้ไปหา ไปแนะนำว่าต้องทำอย่างไรจึงจะควบคุมเบาหวานได้ และได้ให้เสี่ยวฮักคือคุณยายทองไสยมาเป็นคู่หูเพื่อดูแลกันและกัน หากควบคุมเบาหวานได้ดีคุณหมอน้อยก็จะมีของรางวัลให้ อย่างรองเท้าที่ใส่มาวันนี้ก็เป็นของรางวัลที่ได้มาเพราะควบคุมน้ำตาลได้ดี ก็มีกำลังใจจะดุแลตัวเองไม่ใช่เพราะอยากได้ของรางวัล แต่เพราะอยากอยู่ไปนานๆ
กิจวัตรประจำวันของคุณยายทั้งสองคนคือ ตื่นเช้ามาประมาณตีสี่ ลุกขึ้นมานึ่งข้าวเหนียวตามวิถีชาวบ้าน ระหว่างรอข้าวสุกก็ไปออกกำลังกาย เช่น ฮูลาฮูป ที่กำลังฮิตกัน พอข้าวสุกก็ทำอาหารไปวัด ก่อนจะกลับมาบ้าน ถ้าช่วงทำนาก็ไปทำนา ไม่ทำนาก็ทอผ้า แต่ถ้าช่วงไหนมีงานบุญคนในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียงก็จะมาจ้างให้ทำพานบายศรี ได้รายได้เพิ่มเติมมาอีก ถือว่าเป็นชีวิตที่มีความสุขตามวิถีคนอีสาน
ผลการดำเนินงาน “พอดีฉัน” พบว่าผู้ป่วยเบาหวานมีการควบคุมระดับน้ำตาลที่ดีขึ้น และได้แนวคิดในการดูแลสุขภาพ โดยแนวคิด 3 ต้อง คือ ต้องกินผัก ต้องออกกำลังกาย ต้องรับประทานยา และ 2 ไม่ คือไม่กินเกิน และไม่กินผิด หลักง่ายๆ แต่หากทำได้จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยเบาหวานได้เป็นอย่างดี
- 1108 views