กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประกาศความสำเร็จพัฒนาเทคนิคตรวจพันธุกรรมป้องกันการแพ้ยาจนเกิดภาวะผื่นแพ้ยารุนแรงจากยา 3 ชนิด
นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ นายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยว่า การตรวจสารพันธุกรรมเพื่อป้องกันภาวการณ์เกิดผื่นแพ้ยารุนแรง มีเพื่อศึกษาหาลักษณะทางพันธุกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการแพ้ยาบางชนิดในชาวเอเชีย โดยจากสถิติที่ผ่านมา สามารถพบคนไทยที่มีลักษณะแพ้ยาอย่างรุนแรงจากยาลมชัก 6 พันถึง 7พันกว่าคน ในขณะที่แนวโน้มการใช้ยาดังกล่าว และยาลดกรดยูริกมีเพิ่มมากขึ้น สธ. ได้เล็งเห็นถึงปัญหา และได้มอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ศึกษาวิจัยพัฒนาเทคนิคการตรวจสารพันธุกรรมเพื่อป้องกันภาวะการเกิดผื่นแพ้ยารุนแรง หรือ “เภสัชพันธุศาสตร์” เพื่อหาข้อมูลทางพันธุกรรมของผู้ป่วยในการเลือกใช้ยาอย่างเหมาะสมเป็นรายบุคคล เทคนิคการตรวจสารพันธุกรรม เป็นวิธีการตรวจสอบที่ได้มาตรฐาน มีความถูกต้อง และแม่นยำ สูง
นายแพทย์บุญชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการวิจัยพัฒนาเทคนิคการตรวจสารพันธุกรรมเพื่อป้องกันภาวการณ์เกิดผื่นแพ้ยารุนแรง เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2553 เป็นวิธีที่พัฒนาขึ้นบนเทคนิคพีซีอาร์ ใช้ตัวอย่างในการเก็บเลือดที่เก็บในสารกันเลือดแข็ง ชนิด EDTA หรือวิธีเก็บเซลล์จากเยื่อบุกระพุ้งแก้ม โดยใช้เวลาเพียง 5 วันก็ทราบผลแล้ว นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายในการตรวจวิเคราะห์ เพียงแค่ 1พันบาท ต่อราย ผิดกับการตรวจที่ต่างประเทศซึ่งค่าใช้จ่ายจะสูงกว่าประมาณ 2-5 เท่า
อาการแพ้ยาทั้งสามชนิดอย่างรุนแรงนั้น ผู้ป่วยจะมีอาการตั้งแต่ไข้ขึ้นสูง และออกผื่น ไปจนถึงผิวหนังมีการอักเสบอย่างรุนแรง เป็นแผลพุพองลักษณะคล้ายถูกไฟไหม้ และหลุดลอก โอกาสที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตนั้นมีได้มากถึงร้อยละ 30 จากความสำเร็จในครั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และโรงพยาบาลเครือข่ายภายใต้ สธ. ทั้ง 16 แห่ง จัดทำโครงการวิจัยต่อเนื่อง เพื่อช่วยลดอุบัติการณ์การแพ้ยาชนิดอื่นๆของคนไทยซึ่งจะต้องใช้เวลาในการวิจัยอีกประมาณ 2-3 ปี จะทำให้คนไทยใช้ยาได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น
- 17 views