กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ พบ "รางจืด" และการอบสมุนไพรช่วยบำบัดรักษาอาการติดบุหรี่ได้ เหมือนหญ้าดอกขาวและการฝังเข็ม
นายแพทย์ปภัสสร เจียมบุญศรี รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวถึงแนวทางการเลิกบุหรี่ด้วยสมุนไพรและทางเลือกอื่นว่า ที่ผ่านมาโรงพยาบาลท่าแซะ จังหวัดชุมพร ได้ดำเนินการเปิดคลินิกอดบุหรี่สำหรับผู้สมัครใจบำบัดรักษาแบบผสมผสาน ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ โดยการใช้ชาชงสมุนไพรหญ้าดอกขาว และใช้น้ำยาอมบ้วนปากเวลาที่มีอาการอยากบุหรี่ ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ นอกจากนี้ ยังมีการฝังเข็มสำหรับผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ของโรงพยาบาลยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ
นายแพทย์ปภัสสร กล่าวอีกว่า ในปีนี้มีสมุนไพรที่น่าสนใจอีกชนิดหนึ่งคือ สมุนไพรล้างพิษรางจืด ซึ่งโรงพยาบาลบ้านนาทดลองใช้กับผู้ติดสารเสพติด ร่วมกับการอบสมุนไพร พบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จากรายงานข้อมูลของ นายแพทย์สุวรรณ เพ็ชรรุ่ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านนา พบว่าทางโรงพยาบาลได้พัฒนาการรักษาผู้ป่วยสารเสพติด โดยบูรณาการโปรแกรมการสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจและการแพทย์แผนไทยในการบำบัดผู้ป่วยยาเสพติดแบบจิตสังคมบำบัดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถหยุดยาและสารเสพติด ในระยะเริ่มต้นได้โดยไม่เกิดอาการทุกข์ทรมานจากการหยุดยาหรือถอนยา เพื่อป้องกันการกลับไปเสพยาและสารเสพติดซ้ำ เพื่อให้ผู้ป่วยมีทักษะในการจัดการกับปัญหาที่เหมาะสม และสามารถดำเนินชีวิตโดยปราศจากการพึ่งพาสารเสพติด อยู่ร่วมกับครอบครัวและสังคมได้อย่างมีความสุข ทั้งนี้รวมถึงการอดบุหรี่
สำหรับวิธีการ นายแพทย์ปภัสสร กล่าวว่า ต้องอบสมุนไพร วันละ 1 ครั้งๆ ละ 30 นาที ดื่มชาชงรางจืดแทนน้ำติดต่อกัน 5 - 7 วัน สภาพร่างกายจะเริ่มปรับตัว รู้สึกอยากบุหรี่น้อยลง ซึ่งผลการติดตามผู้ป่วยต่อเนื่อง 1 ปี หลังครบโปรแกรม ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ในปี 2555 มีจำนวนผู้สมัครใจเข้ารับการบำบัดจำนวน 17 คน เลิกได้เด็ดขาด 8 คน ผู้ที่สนใจสมัครเข้ารับการบำบัดติดต่อได้ที่ โรงพยาบาลบ้านนา จังหวัดนครนายก โทร.037 381 832 - 3 ต่อ 1530
นายแพทย์ปภัสสร กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาหลายแห่ง ทำการวิจัยสมุนไพรหญ้าดอกขาว เพื่อการอดบุหรี่ ซึ่งสมุนไพร “หญ้าดอกขาว” เป็นหญ้าที่พบทั่วไปของประเทศไทย มีสรรพคุณช่วยลดการสูบบุหรี่ เนื่องจากสมุนไพรหญ้าดอกขาวมีสารไนเตรต ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้ประสาทรับรสบริเวณลิ้นรู้สึกชา ทำให้ผู้ที่บริโภคเข้าไปไม่รับรู้รสชาติใดๆ จึงไม่รู้สึกอยากบุหรี่ หญ้าดอกขาวเป็นกลุ่มที่มีโปแตสเซียมสูง การใช้ควรระวังในรายที่มีประวัติโรคหัวใจ สำหรับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น อาจมีอาการคอแห้ง ปากแห้ง เป็นต้น
สำหรับการรักษาด้วยการฝังเข็ม ที่ผ่านมากรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้มีการทำวิจัย ร่วมกับ นายแพทย์ชำนาญ สมรมิตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ พบว่า 3 ใน 4 ของผู้ที่ร่วมทำการวิจัยด้วยการฝังเข็มลดบุหรี่ สามารถที่จะเลิกบุหรี่ได้ นับว่าวิธีการที่กล่าวแล้วเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ผู้ต้องการอดบุหรี่จะเลือกใช้ต่อไป
- 168 views