กรุงเทพธุรกิจ 1 มิ.ย.55-เปิดสายด่วน 1663 ปรึกษาปัญหาเอดส์ หวังดึงกลุ่มพฤติกรรมเสี่ยงเข้าถึงบริการตรวจ-รักษา ลดแพร่กระจายเอชไอวี เผยมีผู้ติดเชื้อ 2.5 แสนราย ยังเข้าไม่ถึงบริการ ด้าน ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ระบุ 80% ปรึกษาสงสัยถึงการมีความเสี่ยงติดเชื้อ ขณะที่แพทย์ มช. ชี้วิจัยพบ ยาต้านไวรัสเอชไอวี ลดโอกาสติดเชื้อ 42-70% รอ อย.สหรัฐ ตัดสินไฟเขียวให้บริษัทผลิต

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดศูนย์บริการปรึกษาปัญหาเอดส์ทางโทรศัพท์หมายเลข 1663 หรือ 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์ ณ ที่ทำการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ถ.รามคำแหง เขตสะพานสูง กทม. เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย และมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เพื่อพัฒนาระบบบริการปรึกษาและการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยโรคเอดส์ของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นายวิทยา บุรณศิริ กล่าวว่า ศูนย์ 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์ เป็นสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพของประชาชนที่รัฐบาลเห็นความสำคัญและจัดบริการให้ เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ปัญหาเรื่องเอชไอวี/เอดส์ เพื่อให้ประชาชนที่มีปัญหาและพฤติกรรมเสี่ยงเข้าถึงบริการปรึกษาและได้รับการรักษาโดยเร็ว ลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้

ในขณะเดียวกันในผู้ที่ติดเชื้อแล้วก็จะเข้าถึงบริการรักษาได้อย่างทันท่วงที ลดการเจ็บป่วย และการเสียชีวิต ตามเป้าหมายสู่การเป็นศูนย์ตามยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์แห่งชาติปี 2559 ดังนั้น สายด่วนปรึกษาเอดส์ 1663 จึงถือเป็นช่องทางสำคัญที่จะช่วยให้คนไทยเข้าถึงบริการปรึกษาและตรวจรักษาเรื่องเอชไอวี/เอดส์ได้เร็วขึ้น

ศูนย์ฯ จะทำงานเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลซึ่งให้การดูแลรักษา ซึ่งในปี 2555 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดงบดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเอดส์กว่า 2,940 ล้านบาท และปี 2556 ได้รับงบเพิ่มเป็นกว่า 3,276 ล้านบาท โดยจะให้บริการด้วยความเป็นมิตรและรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้รับบริการ

ล่าสุดคาดว่าไทยมีผู้ติดเชื้อที่ยังมีชีวิตประมาณ 500,000 ราย แต่มีเพียง 250,000 รายที่เข้าถึงบริการสาธารณสุข ขณะที่เหลือยังไม่เข้าสู่ระบบการรักษา มีทั้งคนที่ไม่ทราบว่าตัวเองมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เอชไอวี กลุ่มคนที่ไม่กล้าไปรับบริการปรึกษายังสถานพยาบาล และกลุ่มที่ไม่มีข้อมูลเรื่องการดูแลรักษา ดังนั้นการมีศูนย์ปรึกษาทางโทรศัพท์นี้ จะช่วยได้ รมว.สาธารณสุข กล่าว

นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ประธานกรรมการศูนย์ 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์ กล่าวว่า ศูนย์ฯ เปิดให้บริการ โดยไม่มีการถามชื่อ และจะบันทึกเป็นรหัสผู้รับบริการแต่ละราย ผู้รับบริการจะได้รับทราบข้อมูล ได้รับการปรึกษาในเบื้องต้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้รับบริการมีความเข้าใจและมีข้อมูลเพียงพอที่จะตัดสินใจเข้ารับการบริการปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี ทั้งนี้มีบริการทั้งหมด 10 คู่สาย มีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครที่คอยให้คำปรึกษา 38 คน ตั้งแต่เวลา 10:00  20:00 น.

ชี้ผู้ป่วย 80% สงสัยติดเชื้อ

ด้าน นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานที่เปิดบริการให้คำปรึกษาด้านเอดส์ แต่ยังมีปัญหาการเข้าถึงอยู่มาก เพราะบางครั้งคนโทรไปจะเจอเครื่องตอบรับแทนหรือไม่มีผู้รับสาย เพราะด้วยที่ต่างหน่วยงานต่างทำ แต่การเปิดสายด่วนปรึกษาเอดส์ 1663

นอกจากเป็นหมายเลขที่จำได้ง่ายแล้ว ยังเป็นการพัฒนาการให้คำปรึกษาที่จะค่อยๆ รวมศูนย์ เรียกว่าจะเป็นศูนย์หลักเพื่อให้คำปรึกษาเรื่องเอดส์โดยเฉพาะ ทำให้เกิดความสะดวกมากขึ้น โดยศูนย์ให้คำปรึกษานี้ยกมาจากศูนย์ให้คำปรึกษาของทางมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ที่ดำเนินการมา 17 ปีแล้ว แต่เป็นหมายเลขโทรศัพท์ 7 หลัก

นายนิมิตร์ กล่าวว่า ผู้โทรมาขอคำปรึกษาส่วนใหญ่จะไม่ใช่ผู้ที่ทราบว่าตนเองติดเชื้อแล้ว แต่ร้อยละ 80 จะเป็นกลุ่มที่เพิ่งมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเอดส์มา และสงสัยว่าตัวเองจะติดเอดส์หรือไม่ ซึ่งหากผู้ให้คำปรึกษาประเมินแล้วว่าเป็นพฤติกรรมเสี่ยง ก็จะแนะนำให้เข้ารับการตรวจเพื่อยืนยัน ซึ่งตามระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้สิทธิประโยชน์ในการตรวจฟรีปีละ 2 ครั้ง

ส่วนศูนย์ให้คำปรึกษาของมูลนิธิเอดส์ เฉลี่ยมีผู้โทรขอคำปรึกษาวันละ 20 สาย แต่ภายหลังจากที่เปิดศูนย์สายด่วนปรึกษาเอดส์ 1663 แล้ว เชื่อว่าจะมีผู้ที่โทรศัพท์ขอรับคำปรึกษามากขึ้น

นายนิมิตร์ กล่าวต่อว่า การเปิดศูนย์สายด่วนฯ นี้ ยังเป็นหนึ่งในแผนพัฒนาให้คำปรึกษาด้านเอดส์ โดยได้รับงบสนับสนุนเริ่มต้นจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยมีคณะกรรมการที่มีผู้แทนจากหน่วยเกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ อาทิ ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กรมควบคุมโรค กรมสุขภาพจิต และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นต้น ซึ่งจะมีการประเมินผลการดำเนินการเป็นระยะ

ค้นพบยารักษาโรคเอดส์ได้

นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ ผอ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จากข้อมูลตัวเลขที่มีการสำรวจพบว่า กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายพบอัตราความชุกของการติดเชื้อเอชไอวีสูงกว่าประชากรทั่วไปมากกว่า 10 เท่า การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีที่ได้ผลคือ การใช้ถุงยางอนามัย แต่การป้องกันที่จะนำมาเสริมวิธีเดิมที่เรามีการใช้กันอยู่ในปัจจุบัน คือ มีการศึกษาวิจัยนำยาต้านไวรัสเอชไอวีที่ปกติใช้เพื่อรักษาโรคเอดส์ในผู้ติดเชื้อ แต่นำมาใช้เพื่อการป้องกันในผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อเอชไอวี

ยาดังกล่าวเป็นยารับประทาน ซึ่งจากการศึกษาในหลายประเทศรวมทั้ง จ.เชียงใหม่ ในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย เกย์ สาวประเภทสอง พบว่า กลุ่มที่ได้รับยาต้านไวรัสมีการติดเชื้อเอชไอวีลดลง 42% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก ส่วนการศึกษาในทวีปแอฟริกาในกลุ่มชายและหญิงที่มีผลเลือดเอชไอวีต่างกัน คือคนหนึ่งติดเชื้อ คนหนึ่งไม่ติดเชื้อ พบว่า ยาต้านช่วยลดโอกาสติดเชื้อได้ประมาณ 70% และอีกโครงการทำในแอฟริกาเช่นกันในชายรักต่างเพศและผู้หญิงพบว่าลดการติดเชื้อได้ 63% นพ.สุวัฒน์ กล่าว

นพ.สุวัฒน์ กล่าวต่อว่า ล่าสุดเมื่อต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ทางบริษัทผู้ผลิตยาดังกล่าวได้ยื่นเรื่องต่อองค์การอาหารและยาสหรัฐ เพื่อขอขึ้นทะเบียนยาตัวนี้ใหม่โดยปรับข้อบ่งชี้ของยาสำหรับการรับประทานล่วงหน้าคาดว่า กลางเดือน มิ.ย.นี้จะมีการตัดสินว่าจะอนุญาตให้เพิ่มข้อบ่งชี้ในการใช้ยาต้านเป็นการป้องกันล่วงหน้าได้หรือไม่