เผยแพร่ครั้งแรก นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันที่ 30 มีนาคม 2555

วันที่ 1 เมษายน 2555 รัฐบาลกำลังจะเริ่มต้นการโครงการ “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน” ทำให้ประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพใดๆ สามารถเข้าถึงการรักษาเจ็บป่วยฉุกเฉินได้อย่างเท่าเทียมกัน เรื่องนี้นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งในระบบสุขภาพของประเทศไทย หลังจากการมีโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เมื่อ 10 ปีก่อน และถือได้ว่าเป็นก้าวแรกที่สำคัญของการไปสู่ระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว ที่ทำให้คนไทยที่มีสิทธิการรักษาพยาบาลแตกต่างกันได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานด้านการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียม บทความนี้จะนำเสนอรายละเอียดของเรื่องนี้ ใน 4 ประเด็นดังนี้

ประการที่ 1 ความเหลื่อมล้ำในระบบเจ็บป่วยฉุกเฉิน แต่ละกองทุนมีการบริหารจัดการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่แตกต่างกัน จึงความเหลื่อมล้ำในการรักษาพยาบาล โดยมีรายละเอียดที่แตกต่างกันดังนี้

ตารางที่ 1 ความแตกต่างด้านการแพทย์ฉุกเฉินของ 3 ระบบ ก่อน 1 เมษายน 2555

ระบบ

สวัสดิการข้าราชการ

ประกันสังคม

บัตรทอง

จำนวนผู้มีสิทธิ (ล้านคน)

4.9

9.9

47.7

ค่าใช้จ่าย/คน/ปี (บาท)

12,600

2,050

2,546

ที่มาของงบประมาณ

รัฐบาล

ผู้ประกันตน นายจ้าง รัฐบาล

รัฐบาล

การเกิดสิทธิ

ทันทีที่เป็นข้าราชการ

ต้องจ่ายสมทบไม่น้อยกว่า 3 เดือน ใน 15 เดือน

ทันทีที่ลงทะเบียน

การสิ้นสุดของสิทธิ

ไม่ได้เป็นข้าราชการ

ขาดส่งเงินสมทบ > 3 เดือน

ได้สิทธิอื่น

เงื่อนไข

ไม่จำกัด

จำกัด 72 ชั่วโมง จากนั้นส่งกลับร.พ.ต้นสังกัด

ไม่จำกัด

หน่วยบริการ

ร.พ.รัฐทั่วประเทศ เท่านั้น

ทั้งรัฐและเอกชนไม่จำกัด

ทั้งรัฐและเอกชนในเครือข่าย

การสำรองจ่าย

(ร.พ.ในเครือข่าย)

ไม่ต้อง

สำรองจ่ายก่อน

ไม่ต้อง

การสำรองจ่าย

(ร.พ.นอกเครือข่าย)

สำรองจ่ายก่อน

สำรองจ่ายก่อน

ไม่ต้อง

ตัวอย่างอัตราจ่ายร.พ.นอกเครือข่าย

 

  • ค่ายาและค่ารักษาพยาบาลครึ่งหนึ่ง แต่ไม่เกิน 4,000 บาท ทั้งผู้ป่วยนอก/ผู้ป่วยใน
  • ค่าห้อง ค่าอาหาร ไม่เกินวันละ 600 บาท
  • ผู้ป่วยนอก ไม่เกิน 1,000 บาท
  • ผู้ป่วยในปกติ ไม่เกิน วันละ 2,000 บาท
  • ผู้ป่วยใน ICU ไม่เกิน วันละ 4,500 บาท
  • ผ่าตัดใหญ่ ไม่เกินครั้งละ 8,000-16,000 บาท
  • ค่าห้อง ค่าอาหาร ไม่เกินวันละ 700 บาท

หมายเหตุ อัตราสำหรับจ่ายร.พ.เอกชน

  • ผู้ป่วยนอก ไม่เกิน 700 บาท
  • ผู้ป่วยใน ไม่เกิน 4,500 บาท
  • ผ่าตัดใหญ่ < 2 ชม. ไม่เกิน 8,000 บาท
  • ผ่าตัดใหญ่ > 2 ชม., ICU ไม่เกิน 14,000 บาท

 

ประการที่ 2 ดีขึ้นและเท่าเทียม จากระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว หลังจากที่รัฐบาลประกาศนโยบายนี้แล้ว ผู้ป่วยเจ็บป่วยฉุกเฉินทุกคน จะได้รับการดูแลดีขึ้นทุกสิทธิ อย่างเท่าเทียม โดยสามารถไปรับบริการที่ใดก็ได้ ไม่ว่าของรัฐบาลหรือเอกชน โดยไม่ต้องสำรองจ่ายไปก่อน อีกทั้งเมื่อเลย 72 ชั่วโมงก็ไม่ต้องส่งตัวกลับโรงพยาบาลต้นสังกัด โดย สปสช.จะเป็นผู้ตามจ่ายให้กับโรงพยาบาลก่อน ในอัตราผู้ป่วยในตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม RW = 10,500 บาท จะเห็นได้ว่าผู้ป่วยฉุกเฉินทุกคนได้รับสิทธิการรักษาที่ดีขึ้นกว่าเดิม แม้แต่ข้าราชการซึ่งเดิมไม่สามารถไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนได้ ต่อไปก็จะสามารถไปรับบริการได้ ส่วนผู้ประกันตน ต่อไปนี้ก็ไม่ต้องสำรองจ่ายไปก่อน และไม่ต้องถูกส่งตัวกลับโรงพยาบาลต้นสังกัดหากรับการรักษาเกิน 72 ชั่วโมง เป็นต้น

ประการที่ 3 ยังไม่ทั่วถึงทุกคน จากนโยบายที่บอกว่า “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน” แต่วันนี้ยังมีอีกหลายกลุ่มที่นโยบายนี้ยังไม่ครอบคลุม ได้แก่ บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิกว่า 450,000 คน ที่ดูแลโดยกระทรวงสาธารณสุข, พนักงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ ข้าราชการในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และครูเอกชน เป็นต้น จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องนำกลุ่มคนที่เหลือเหล่านี้เข้าสู่นโยบายดังกล่าว ไม่เช่นนั้นก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าโครงการนี้ทั่วถึงทุกคน และยังมีคำถามที่สำคัญต่อไปอีกว่า เมื่อเราเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asian Economics Community) ในปี 2558 กลุ่มแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่จ่ายสมทบค่ารักษาพยาบาลอย่างถูกต้องตามระบบประกันสังคม ควรจะเข้าสู่ระบบนี้เช่นกันหรือไม่

ประการที่ 4 สิ่งท้าทายต่อไป ยังมีหลายประเด็นที่ควรปรับปรุงเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มประสิทธิภาพ พร้อมๆกับคุณภาพ และยังเป็นการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เป็นการใช้เตียงที่มีเหลือในภาคเอกชนให้เป็นประโยชน์ และลดภาระของภาครัฐ ได้แก่ 1) ระบบสุขภาพมาตรฐานเดียวสำหรับ มะเร็ง เอดส์ ไต หัวใจ หลอดเลือด โรคค่าใช้จ่ายสูงต่างๆ ที่มีระบบบริหารจัดการเฉพาะ และยาราคาแพง, 2) การเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ในภาครัฐ และจำนวนเตียง (supply side) ให้เพียงพอกับปริมาณคนไข้ที่เข้าถึงบริการมากขึ้น เพราะตลอด 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้พัฒนาด้านหลักประกันสุขภาพ (demand side) ให้คนไข้สามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น แต่ทว่ายังไม่มีนโยบายที่เป็นรูปธรรมในการเพิ่มกำลังคนและจำนวนเตียงในโรงพยาบาลให้เพียงพอแต่อย่างใด ลำพังทำแต่ด้านหลักประกันสุขภาพให้ดีก็ไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพได้ เพราะอัตรากำลังและจำนวนเตียงในโรงพยาบาลไม่เพียงพอ และ 3) รัฐบาลต้องไม่ลืมคือ ผู้ประกันตนอีก 10 ล้าน ที่ยังเป็นคนกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายเงินสมทบค่ารักษาพยาบาล ในเมื่อทุกอย่างเหมือนกัน มาตรฐานเดียวกัน ทำไมยังเป็นคนกลุ่มเดียวที่ต้องจ่าย