กรุงเทพธุรกิจ 31 พ.ค. 55- นักวิชาการระดับโลกเกือบ 100 คน ร่อนจดหมายถึงนายกฯ หนุนเลิกใช้ใยหินไครโซไทล์ วอนรัฐบาลไทยคิดถึงผลกระทบสุขภาพคนไทย ประณาม กลุ่มอุตสาหกรรมส่งจดหมายข่มขู่นักวิชาการไทย ให้เลิกแจ้งผลกระทบสุขภาพ ท้าทายเสรีภาพนักวิชาการ ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมขอศึกษา 4 เดือนยกเลิกนำเข้า
เครือข่ายนักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ ด้านสาธารณสุขนานาชาติ นำโดย ศ.ดร.เคน ทาคาฮาชิ ประเทศญี่ปุ่น ศ.ดร.อาเธอร์ แอล แฟรงค์ ประเทศสหรัฐอเมริกา และ ศ.ดร.โคลิน แอล โซสโคลนี ประเทศแคนาดา และนักวิชาการนานาชาติรวม 97 คนจากทั่วโลกได้ลงนามในจดหมายส่งถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ประเทศไทยยุติการใช้ใยหินไครโซไทล์ พร้อมส่งสำเนาถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข
ศ.ดร.เคน กล่าวว่า เครือข่ายนักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ด้านสุขภาพ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยสนับสนุนการดำเนินการตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพทั่วโลก ในการห้ามใช้ใยหินไครโซไทล์ ซึ่งปัจจุบันมี 50 ประเทศทั่วโลกได้เลิกใช้ใยหินไครโซไทล์ แล้ว
และเรียกร้องให้อย่าหลงเชื่อกลุ่มอุตสาหกรรมแร่ใยหิน ที่พยายามหยุดรัฐบาลประเทศต่างๆ ไม่ให้ดำเนินมาตรการยุติการใช้ใยหินไครโซไทล์ โดยให้ข้อมูลที่บิดเบือนความจริงหลายประการ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง เช่น การอ้างว่า ประเทศอังกฤษถือว่าการใช้แร่ใยหินเป็นสิ่งที่ปลอดภัย ทั้งที่อังกฤษได้ห้ามใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ตั้งแต่ปี 2542 โดยทำโครงการรณรงค์ให้ความรู้ ใยหิน : นักฆ่าที่ซ่อนเร้น
พบ 11 โรงงานแปรรูปไทยใช้ใยหิน
นอกจากนี้ มีข้อมูลว่าแร่ใยหินฆ่าผู้ที่ประกอบอาชีพก่อสร้างราว 20 คนต่อสัปดาห์ ขณะที่อุตสาหกรรมแร่ใยหินในไทย ยังจงใจบิดเบือนข้อมูลว่า WHO สนับสนุนการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ ทั้งที่ความจริง WHO เรียกร้องให้หยุดการใช้ใยหินไครโซไทล์ โดยเฉพาะวัสดุสำหรับหลังคา และวัสดุอื่นๆ ที่ใช้ในการก่อสร้าง
รัฐบาลไทยจำเป็นต้องตระหนักถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชนที่จะได้รับพบว่า จากการวิจัยในโรงงานแปรรูปแร่ใยหิน 11 แห่ง โดยนักวิชาการจากสถาบันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ พบค่าความเข้มข้นแร่ใยหินในอากาศตั้งแต่ 0.01-43.31 ไฟเบอร์ต่อซีซี ขณะที่ค่ามาตรฐานอยู่ที่ 5.45 ไฟเบอร์ต่อซีซี เท่านั้น โดย 36.45% ของตัวอย่างทั้งหมดสูงกว่าค่าความปลอดภัย หากรัฐบาลไม่มีมาตรการใดๆ ก็จะเริ่มเห็นผลกระทบต่อสุขภาพที่จะได้รับในไม่ช้า ศ.ดร.เคนกล่าว
ชี้ศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์บิดเบือน
ดร.เคน กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กรณีที่ศูนย์ศึกษาข้อมูลไครโซไทล์ (Chrysotile Information Center) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับเงินสนับสนุนจากสมาคมไครโซไทล์นานาชาติ มีสมาชิกเป็นผู้ผลิตไครโซไทล์ในต่างประเทศ ได้ส่งจดหมายถึง รศ.ดร.ภก.วิทยา กุลสมบูรณ์ แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้ยุติการให้ข้อมูลหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ความจริงเรื่องเกี่ยวกับความเสี่ยงทางสุขภาพที่เกิดจากแร่ใยหินไครโซไทล์
และได้แนบท้ายจดหมายว่าจะดำเนินการตามกฎหมายหากยังมีการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว การส่งจดหมายดังกล่าว ถือเป็นสิ่งท้าทายต่อความเป็นอิสระด้านการวิจัยและการศึกษา อุตสาหกรรมใยหินในระดับโลกคิดว่า สามารถกดดันสถาบันการศึกษาระดับสูงของไทย ให้หยุดการทำงานของนักวิทยาศาสตร์ที่ดำเนินงานวิจัยด้านสุขภาพ ที่ถือเป็นผู้ที่มีความกล้าที่จะบอกความจริงที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนไทยนับล้านคน
หาก รศ.ดร.ภก.วิทยา ถูกดำเนินการทางกฎหมายตามที่ถูกส่งจดหมายข่มขู่ ทางเครือข่ายนักวิชาการด้านสาธารณสุขนานาชาติ จะรณรงค์หาทุนสนับสนุนเพื่อช่วยเหลือในการจ้างทนาย ที่มีความสามารถเพื่อตอบโต้การดำเนินการจากอุตสาหกรรมผลิตแร่ใยหินด้วย ดร.เคนกล่าว
นอกจากนี้ ศูนย์ศึกษาข้อมูลไครโซไทล์ ยังอ้างว่า โรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดไม่ได้เกิดจากการสัมผัสกับแร่ใยหิน แต่เกิดจากการสูบบุหรี่นั้น ข้อเท็จจริงองค์การระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยด้านมะเร็งได้ระบุว่า มะเร็งเยื่อหุ้มปอด (เมโสเทลีโอมา) หรือมะเร็งเยื่อบุช่องท้อง ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ ซึ่งสามารถอธิบายได้จากการเปลี่ยนแปลงโมเลกุล
อุตฯ ชี้ศึกษาเลิกใช้แร่ใยหินใน 4 เดือน
นายยงยุทธ ทองสุข รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการลดและเลิกใช้แร่ใยหินประเภทไครโซไทล์ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมมอบหมายให้มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชศึกษา และคาดว่าจะศึกษาเสร็จในอีก 4 เดือนข้างหน้า ซึ่งศึกษาแนวทางลดและเลิกใช้แร่ใยหินประเภทไครโซไทล์ในสินค้า 5 ชนิด คือ 1. กระเบื้องลอนคู่ 2. กระเบื้องแผ่นเรียบ 3. กระเบื้องยางปูพื้น 4. ท่อซีเมนต์ 5. เบรกและคลัตช์
โดยที่ผ่านมา ได้รับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีความเห็นว่าต้องการให้เพิ่มการศึกษารายการสินค้าให้มากขึ้น แต่อาจเพิ่มไม่ได้เพราะมีงบศึกษาจำกัดและสินค้าทั้ง 5 รายการ มีสัดส่วนการใช้แร่ใยหินมากกว่า 90%
นายยงยุทธ กล่าวว่า ขณะนี้ คงตอบไม่ได้ว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจะดำเนินการลด และเลิกใช้แร่ใยหินประเภทไครโซไทล์อย่างไร เนื่องจากไม่สามารถประกาศห้ามใช้ได้ทันที โดยต้องรอผลการศึกษาก่อนว่าถ้าเลิกใช้แล้วจะใช้วัตถุดิบตัวใดมาทดแทน ซึ่งการจะลดและเลิกใช้แร่ใยหิน จะต้องมีขั้นตอนเพื่อให้ทุกฝ่ายได้ปรับตัว โดยถ้าศึกษาเสร็จจะได้แผนการลดและเลิกใช้เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ไม่สามารถประกาศห้ามใช้แร่ใยหินได้ทันที ต้องรอผลการศึกษาก่อน
- 1 view