รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยรอบ 5 เดือนปีนี้ พบผู้ป่วยไข้เลือดออกทั่วประเทศแล้ว 10,146 ราย เสียชีวิต 9 ราย อัตราป่วยภาคใต้สูงอันดับหนึ่ง สั่งการนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ประสานการทำงานกับหน่วยงานในพื้นที่ เข้มข้นการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก โดยเฉพาะการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย และฉีดพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย
วันนี้ (30 พฤษภาคม 2555) ที่โรงพยาบาลปากช่อง จ.นครราชสีมา นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ว่า โรคไข้เลือดออกเป็นโรคประจำถิ่นของประเทศไทย เกิดจากยุงลายกัด ข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานว่าตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 23 พฤษภาคม 2555 มียอดผู้ป่วยทั่วประเทศ 10,146 ราย เสียชีวิต 9 ราย แม้ว่าจะได้รับการดูแลรักษาอย่างดีที่สุดก็ยังมีผู้เสียชีวิต กระทรวงสาธารณสุขจึงถือว่าเป็นปัญหาที่มีความสำคัญมาก อีกทั้งขณะนี้ เข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูที่พบผู้ป่วยมากที่สุด ได้มอบหมายให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศหรือสสจ. เข้มข้นดำเนินงานป้องกันควบคุมโรค โดยร่วมกับหน่วยงานในจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จนถึงระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน เข้าไปดูแล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย และการฉีดพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย
นายแพทย์สุรวิทย์กล่าวต่อว่า ขณะนี้พบการระบาดของไข้เลือดออกมากในภาคใต้ มีอัตราป่วยสูงสุดพบ 29คนในประชากร 1 แสนคน ภาคอื่นๆ พบบ้างแต่ไม่รุนแรง โดยภาคกลางพบผู้ป่วย 22 คนในประชากร 1 แสนคน ภาคเหนือ 10 คนในประชากร 1 แสนคน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 คนในประชากร 1 แสนคน ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการอย่างเข้มแข็งมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการพ่นหมอกควันกำจัดยุง การใส่ทรายกำจัดลูกน้ำ และการให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันโรค
อย่างไรก็ตาม ขอฝากเตือนประชาชน ให้ระมัดระวังลูกหลาน อย่าให้ถูกยุงกัด โดยให้นอนในมุ้งลวด หรือมุ้งครอบ ทายากันยุง หากมีไข้ ขอให้ระมัดระวังเรื่องการใช้ยาบางชนิด เช่นยาแอสไพริน เพราะจะทำให้เลือดออกง่าย โดยหากเป็นไข้เลือดออก จะมีโอกาสเสี่ยงตกเลือด ช็อคได้ ขอให้ใช้ยาลดไข้พาราเซตามอลและเช็ดตัวลดไข้ และหากมีไข้สูงลอย กินยาลดไข้แล้วยังไม่ดีขึ้น ขอให้พาไปรับการรักษากับแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั้งในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพหรือรพ.สต.หรือโรงพยาบาลทุกแห่งใกล้บ้าน เพื่อความมั่นใจในความปลอดภัย และป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายถึงชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ
- 2 views