สวรส. เผยสถานการณ์ดื้อยาปฏิชีวนะรอบ 10 ปี พบ ผู้ป่วยติดเชื้อดื้อยา 100,000 คนต่อปี เสียชีวิต 30,000 คน ทำสูญเสียเศรษฐกิจกว่า 10,000 ล้านบาท ชี้ปัญหารุนแรงบางรายต้องใช้ยาใหม่ราคาแพงกว่าทอง 30,000 บาทต่อยา 15 กรัม แถมบางรายถึงขั้นไม่มียารักษานอนรอความตาย จี้รัฐเร่งควบคุม หลังพบเชื้อดื้อยาในสัตว์อาหารหวั่นแพร่กระทบคนได้อีก

สถานการณ์เชื้อดื้อยาไม่ใช่เล็กอีกต่อไป หลังจาก นพ.วิษณุ ธรรมลิขิตกุล ประธานคณะกรรมการวิจัยและพัฒนาระบบการควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพ ได้เปิดเผยผลสำรวจ เชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ: ภาวะวิกฤติต่อสุขภาพคนไทย ซึ่งสนับสนุนโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) แม้ว่ายาปฏิชีวนะจะเริ่มมีการใช้ครั้งแรกในปี 2480 และช่วยทำให้ประชาชนมีชีวิตยืนยาวขึ้น จากเดิมที่ต้องเสียชีวิตจากภาวะติดเชื้อแล้วจะไม่มียารักษา แต่หลังจากใช้ยาดังกล่าวเป็นเวลานาน ส่งผลให้เชื้อโรคเริ่มดื้อยามากขึ้น ผลจากการสำรวจพบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2543-2554) พบว่ามีเชื้อโรคดื้อยาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีเชื้อหลายชนิดที่ดื้อยาปฏิชีวนะทุกขนานแล้ว สาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสม ใช้มากเกินไป ใช้ไม่เหมาะกับโรค ซึ่งแต่ละปีคนไทยใช้ยาปฏิชีวนะ 10,000 ล้านบาท ทั้งยังพบว่าแต่ละปียังมีคนไทยติดเชื้อดื้อยา 100,000 คน ทำให้ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลนานขึ้นมากกว่า 1 ล้านวัน เสียชีวิตอย่างน้อยประมาณ 30,000 คนต่อปี และส่งผลเสียทางด้านเศรษฐกิจกว่า 10,000 ล้านบาท ฉะนั้นหากไม่แก้ไขอย่างเร่งด่วนจะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง 

พบเชื้อดื้อยาใน 4 กลุ่มหลัก 

นพ.วิษณุ กล่าวว่า เชื้อดื้อยาที่พบบ่อยจะอยู่ใน 4 กลุ่มคือ 1.สเตปออเรียส (Staph aureus) เป็นเชื้อดื้อยาที่พบได้บ่อยในโรงพยาบาล 2.เชื้ออีโคไล (E.coli) เป็นการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ซึ่งพัฒนามาเป็นเชื้อดื้อยา 3.คาบาฟิแนม (Carbapenems) เป็นยากลุ่มสุดท้ายของการรักษาเชื้อดื้อยาจากร้อยละ 1-2 เป็นร้อยละ 63-64 และในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพบว่ามีคนดื้อยาดังกล่าวในหลายจังหวัดของประเทศ บางรายเสียชีวิตแล้ว และ 4.อะซินีโต แบคเตอร์ บอมมานิโอ หรือ เอบอม (Acinetobacter baumannii) เป็นยาตัวเดิมที่นำกลับมาใช้ใหม่ ในกลุ่มคนที่ติดเชื้อในกระแสเลือด ติดเชื้อในปอด ที่ไม่มียารักษาแล้ว ซึ่งยากลุ่มนี้มีพิษต่อไต และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตถึงร้อยละ 80 โดยคนที่เสี่ยงต่อการเกิดเชื้อโรคดื้อยาส่วนใหญ่คือผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ การสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ ผู้ที่มีสายในร่างกาย เช่น เครื่องช่วยหายใจ สายสวนหลอดเลือดดำ ส่วนในกลุ่มคนทั่วไปถ้าไม่เคยกินยาปฏิชีวนะมาก่อนหากเกิดการติดเชื้อจะมีอาการไม่รุนแรงและรักษาได้ง่าย แต่หากเคยกินยาปฏิชีวนะมาแล้วเมื่อได้รับเชื้อโรคส่วนมากจะเกิดการดื้อยา รักษาได้ยาก ต้องให้ยาที่แรงขึ้น แพงขึ้น และเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงมากขึ้น 

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่สอบสวนโรคในโรงพยาบาลหลายแห่งทั่วประเทศ เพื่อหาเชื้อนิวเดลี เมทัลโล-บีตา-แลคตาเมส (NDM-1) ภายหลังจากที่มีรายงานการดื้อยาของเชื้อนี้ที่เริ่มจากอินเดียและแพร่ระบาดไปทั่ว ทั้งในยุโรปและสหรัฐ ที่ตัวอย่างการดื้อยาชัดเจน รวมไปถึงกรณีเชื้ออะซินีโตแบคเตอร์ บอมมานิโอ (Acinetobacter baumannii) หรือที่เรียกว่า เอบอม ที่มักพบในโรงพยาบาล นพ.วิษณุ กล่าว และว่า ที่สำคัญคือเราพบว่ามีการปนเปื้อนเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะในสัตว์ที่เป็นอาหารคน เช่น ไก่ ดังนั้นจึงอยากให้จำกัดการใช้สารหรือยาปฏิชีวนะในสัตว์ด้วย 

แนะสงสัยติดเชื้อรีบหาหมอ 

นพ.วิษณุ กล่าวต่อว่า ถ้าสงสัยว่าตนเองติดเชื้อควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ ไม่ควรซื้อยากินเอง ซึ่งแพทย์จะบอกได้ว่าควรรับยาปฏิชีวนะหรือไม่ เช่น กรณีที่เป็นหวัดส่วนใหญ่จะหายได้เองไม่ต้องกินยาดังกล่าวก็ได้ เช่นเดียวกับโรคอุจจาระร่วง ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ถ้าร่างกายแข็งแรงก็จะหายได้เองเช่นกัน ยกเว้นในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคมะเร็ง โรคตับแข็ง แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยว่าต้องใช้ยาปฏิชีวนะกลุ่มใด 

เหตุพฤติกรรมใช้ยาผิด 

ด้าน นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า ประชาชนเข้าใจว่าเป็นยาแก้อักเสบนั้นที่จริงแล้วก็คือยาปฏิชีวนะ เมื่อเป็นหวัด ร้อยละ 80 มักขอยาปฏิชีวนะที่เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ทั้งที่ไข้หวัดเกิดจากเชื้อไวรัส เป็นการใช้ยาไม่เหมาะสม และเมื่อกินยานี้บ่อยๆ ทำให้ยาใช้ไม่ได้ผล ดังนั้นเราจะมีโครงการรณรงค์การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสม หากเราปล่อยให้ปัญหาการดื้อยาเกิดขึ้นแบบนี้ เกรงว่าในอนาคตอาจคนติดเชื้อที่ไม่มียารักษาได้เลย ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่อยากให้เกิด และขณะนี้เริ่มมีตัวอย่างผู้ป่วยบางรายที่เกิดปัญหานี้แล้ว ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าว 

เร่งควบคุมร้านขายยา 
นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าวว่า ส่วนการควบคุมการขายยาปฏิชีวนะในร้านขายยานั้น เพื่อไม่ให้เกิดการใช้ยาที่พร่ำเพรื่อ ในร้านขายยาที่มีเภสัชกรประจำไม่น่าจะเป็นปัญหา อาจจะไม่ต้องควบคุม ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการเข้าถึงยา แต่ในร้านขายยาที่ไม่มีเภสัชกรอยู่ประจำตลอดเวลาอาจจะต้องพิจารณา ควรให้ขายยาดังกล่าวต่อไปหรือไม่ 

นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางการวิจัยและพัฒนาระบบยา สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า สิ่งที่ต้องดำเนินการจากนี้ คือ 1.สถานพยาบาลทุกแห่งต้องมีมาตรการควบคุมและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลอย่างเคร่งครัด 2.สถานพยาบาลเข้มงวดในการตรวจสอบและอนุมัติการใช้ยาปฏิชีวนะ 3.บุคลากรสาธารณสุขให้บริการผู้ป่วยตามแนวทางการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล 4.การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง 5.จำกัดการจ่ายยาปฏิชีวนะที่ร้านยา และ 6.งดใช้ยาปฏิชีวนะแก่สัตว์เพื่อเร่งการเจริญเติบโต ยาปฏิชีวนะขณะนี้ราคาแพงกว่าทอง เพราะทองราคาแค่ 20,000 บาท แต่ยาปฏิชีวนะบางชนิดเพียง 15 กรัม ราคา 30,000 บาท ซึ่งต่อไปเชื่อว่าจะมียาปฏิชีวนะที่ราคาแพงว่าทองมากขึ้น และในอนาคตอาจมียาที่ราคาแพงกว่าเพชรด้วย จากปัญหาการดื้อยา ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางการวิจัยฯ กล่าว 

พบเชื้อดื้อยาในไก่สดแพ็คขาย 

ขณะที่ นพ.ชาญวิทย์ ตรีพุทธรัตน์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า จากงานวิจัยของนักศึกษาระดับปริญญาโทที่ได้เก็บตัวอย่างเนื้อไก่สดที่บรรจุขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตมาตรวจ จำนวน 200 ตัวอย่างที่ผ่านมา นำส่งโดยบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ 4 แห่ง เพื่อตรวจหาเชื้อดื้อยา 2 ชนิด คือ เชื้อ Escherichia coli (E. Coli) และ Salmonella enterica 
เชื้อทั้ง 2 ชนิดเป็นเชื้อประจำถิ่นที่นำไปสู่ภาวะการดื้อยาโดยใช้เกณฑ์มาตรฐานพบเชื้อไม่เกิน 500 ตัวต่อเนื้อไก่ 25 กรัม ซึ่งจากผลการตรวจพบตัวอย่างเนื้อไก่ที่เกินเกณฑ์มาตรฐานถึงกว่าร้อยละ 56.7 โดยมีระดับการเกินตั้งแต่ 10-1,000 เท่า และในจำนวนนี้พบเชื้อดื้อยาร้อยละ 40 แยกเป็นการตรวจพบเชื้อ E. Coli ร้อยละ 53 ของไก่ตัวอย่างและพบ เชื้อ Salmonella enterica ร้อยละ 18.7 สะท้อนให้เห็นว่า ชุมชนยังมีความเสี่ยง เนื่องจากการควบคุมมาตรฐานสินค้ามีความผิดพลาด อีกทั้งยังอาจกระทบต่อการส่งออกเนื้อไก่ในอนาคตได้ ที่เก็บตัวอย่างเนื้อไก่ในซูเปอร์มาร์เก็ต เพราะคิดว่าเป็นเนื้อไก่ที่ผ่านการทำความสะอาดมาเป็นอย่างดีแล้ว มีความสะอาดมากที่สุด นพ.ชาญวิทย์ กล่าวและว่า ส่วนไก่ที่จำหน่ายในตลาดสด หากเก็บตัวอย่างมาตรวจอาจพบมากกว่านี้ 

นพ.ชาญวิทย์ กล่าวอีกว่า ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหานั้น คงต้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเอาจริงเอาจังในการควบคุมและแก้ไขปัญหานี้ โดยเฉพาะการตรวจมาตรฐานอาหารที่ใช้ในชุมชน และการใช้ยาต้านจุลชีพในการเลี้ยงสัตว์ ที่ไม่ควรมีสารตกค้าง

 

ที่มา : นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 30 พ.ค. 55