รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขเตรียมวัคซีนฉีดป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และโรคไข้กาฬหลังแอ่น ให้ชาวไทยมุลสิมที่จะเดินทางไปร่วมพิธีฮัจญ์ประจำปี 2555 ที่นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบียประมาณ 13,000 คน รวม 21,000 โดสฟรี และให้โรงพยาบาลใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เปิดคลินิกฮัจญ์บริการตรวจเช็คสุขภาพก่อนเดินทางด้วย เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2555 เป็นต้นไป
วันนี้(28พฤษภาคม2555) ที่ มัสยิดกลางประจำจังหวัดสงขลา นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สมชัย นิจพานิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และน.ต.นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมโครงการพัฒนาบทบาทอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.)รับมือภัยพิบัติ และเปิดประชุมสาธารณสุขสานใจ หยุดยั้งภัยสังคม และพบปะรองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา
นายวิทยาให้สัมภาษณ์ว่า ในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดเตรียมวัคซีนให้บริการฟรีแก่พี่น้องไทยมุสลิมที่จะเดินทางไปแสวงบุญที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ประจำปี 2555 จำนวนประมาณ 13,000 คน โดยเตรียมวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (Influenza) และวัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น(Meningococcal meningitis) ตามที่ประเทศซาอุดิอาระเบียกำหนด รวมจำนวน 21,000 โดส เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้ผู้ไปแสวงบุญป่วยจาก 2 โรคดังกล่าว เนื่องจากผู้ไปประกอบพิธีฮัจญ์ ที่เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ในแต่ละปีมีจำนวนมากประมาณ 3 ล้านคน มาจากหลายเชื้อชาติ ทุกภูมิภาคของโลก และจะต้องอาศัยอยู่รวมกันจำนวนมากเป็นเวลานานในสถานที่จำกัด โรคจึงมีโอกาสระบาดขึ้นได้โดยจะเริ่มฉีดตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2555 เป็นต้นไป
นายวิทยากล่าวต่อว่า ประการสำคัญ ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขยังได้เพิ่มการจัดบริการดูแลสุขภาพพี่น้องชาวไทยมุสลิมก่อนเดินทางเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากผู้เดินทางส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุและวัยกลางคนขึ้นไป โดยให้โรงพยาบาล ใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ได้แก่ สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส เปิดคลินิกฮัจญ์ เป็นคลินิกพิเศษตรวจสุขภาพผู้ที่จะเดินทางไปแสวงบุญ โดยจะตรวจคัดกรองค้นหาโรคประจำตัว ทั้งโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคอื่นๆ หากพบมีปัญหาด้านสุขภาพจะรีบให้การรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ และแนะนำการปฏิบัติตัว เพื่อจะให้มีร่างกายแข็งแรงพร้อมที่จะเดินทางไปประกอบพิธี ผู้แสวงบุญสามารถติดต่อลงทะเบียนเพื่อขอรับบริการฉีดวัคซีนและตรวจสุขภาพได้ที่สถานบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน
ทั้งนี้ ในกลุ่มของชาวไทยมุสลิมที่เดินทางไปแสวงบุญแต่ละปีที่ผ่านมา 2 ใน 3 หรือร้อยละ 70 อยู่ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส โดยทุกๆปีกระทรวงสาธารณสุขได้จัดส่งทีมแพทย์ พยาบาลไทย ไปดูแลสุขภาพผู้แสวงบุญที่นครเมกกะจนเสร็จสิ้นพิธี ในปี 2554 มีผู้มารับบริการ ที่หน่วยแพทย์ไทย 18,141 คน เฉลี่ยวันละ 546 คน โรคที่พบมากสุดคือโรคระบบทางเดินหายใจ เช่นไข้หวัด ร้อยละ 72 รองลงมาคือปวดเมื่อยร้อยละ 10 โรคผิวหนังร้อยละ 2 มีผู้ป่วยต้องนอนพักรักษา 242 ราย มากที่สุดเป็นโรคหอบหืดร้อยละ 23 เหนื่อยอ่อนเพลียจากการเดินทางร้อยละ 21 โรคระบบทางเดินหายใจได้แก่ปอดบวมและหลอดลมอักเสบร้อยละ 10 มีผู้เสียชีวิต 13 ราย ส่วนใหญ่เสียชีวิตแบบเฉียบพลันจากโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นโรคที่สามารถตรวจค้นหาความผิดปกติได้ก่อนเดินทาง รวมถึงมีการติดตามดูแลสุขภาพเมื่อเดินทางกลับถึงประเทศไทยแล้วอย่างต่อเนื่อง
- 9 views