โรคหลอดเลือดสมอง หรือที่มักเรียกกันว่า โรคอัมพฤกษ์อัมพาต ถือเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต หรือไม่ก็เป็นอัมพาตตามมา ความน่ากลัวของโรคนี้ ก็คือ วันนี้เราอาจจะยังพูดคุยกับใครต่อใครได้ ยังทำงานได้ แต่พรุ่งนี้ ชีวิตเราอาจจะเปลี่ยนไป กลายเป็นคนที่ต้องนอนอยู่กับที่ ทำอะไรไม่ได้ พูดกับใครก็ไม่ได้ ในโอกาสที่วันที่ 24 พ.ค. เป็น “วันอัมพฤกษ์อัมพาตโลก” มาติดตามกันว่า โรคหลอดเลือดสมองเกิดจากอะไร? และคุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่?
โรคหลอดเลือดสมอง เป็นโรคที่พบบ่อยอันดับ 3 รองจากโรคหัวใจ และโรคมะเร็ง นอกจากนี้ยังถือว่าเป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดของโรคทางระบบประสาท ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตหรือไม่ก็พิการเป็นอัมพาตตามมา หลายครั้งที่คนไทยมักจะเรียกโรคนี้ ว่า โรคอัมพาต เพราะผู้ป่วยมักจะเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตจากโรคนี้กันมาก
โรคหลอดเลือดสมอง หรือภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง เกิดได้ใน 3 กรณี 1.เกิดจากเส้นเลือดสมองตีบตัน 2.เส้นเลือดสมองอุดตัน และ 3.เส้นเลือดสมองแตกหรือฉีกขาด ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการเส้นเลือดสมองตีบตันและอุดตันมากกว่า
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง ไม่ว่าจะเส้นเลือดสมองตีบตัน อุดตัน หรือแตก มีอะไรบ้าง
นพ.พิชาญ ศรีอรุณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรมและหลอดเลือด บอกว่า มีทั้งปัจจัยที่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ และที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้
“ปัจจัยที่เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ เช่น กลุ่มคนที่อายุสูงวัยขึ้น พันธุกรรม เชื้อชาติบางอย่าง ซึ่งอันนี้ปัจจัยเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงได้ ก็มี เช่น โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งปัจจัยที่สำคัญที่สุด ถ้าคนไข้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โอกาสที่หลอดเลือดสมองจะแข็งตัว และเกิดการอุดตันได้ง่าย หรือถ้าความดันโลหิตสูงมากๆ และไม่สามารถควบคุม อยู่ๆ ก็เกิดโรคเส้นเลือดสมองแตกเป็นก้อนเลือด เป็นอัมพาคขึ้นมาได้ อันนั้นที่พบบ่อยอันดับ 1 อันดับ 2 รองมาก็พวกโรคเบาหวาน ก็ทำให้หลอดเลือดในร่างกายแข็งตัวไปหมด ซึ่งไม่ว่าจะเป็นสมองหรือหัวใจ อันดับ 3 ก็พวกโรคหัวใจทั้งหลายแหล่ โรคหัวใจที่มีลิ้นหัวใจผิดปกติ โรคหัวใจที่มีการเต้นของหัวใจผิดจังหวะ อันนี้ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิด ก่อให้เกิดลิ่มเลือด แล้วหลุดขึ้นไปอุดในสมองได้”
“อันถัดไปก็โรคที่ไขมันในเลือดสูง ก็อาจจะเกาะตามผนังเส้นเลือดต่างๆ ก็ทำให้หลอดเลือดตีบลง การสูบบุหรี่ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอีกอันหนึ่งที่ทำให้ทั้งหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองเสื่อมสภาพลงได้มากกว่าคนธรรมดา เช่น คนที่เกิดอัมพาต พบว่า คนที่สูบบุหรี่กับคนที่ไม่สูบ มากกว่ากันหลายเท่าเลย และถัดไปก็มีพวกการดื่มแอลกอฮอล์ก็มีส่วนช่วย ส่วนปัจจัยอื่นๆ เช่น ความอ้วน ความเครียด การไม่ออกกำลังกาย การดำเนินชีวิตประจำวันอย่างเร่งรีบ โดยเฉพาะปัจจุบันคนไทยเปลี่ยนวิถีชีวิตไปทางตะวันตกเยอะ อาหารเห็นใช่มั้ย เรากินอาหารไปทางตะวันตกเยอะ อาหารพวกที่โฆษณา พวกจั๊งฟูดนี่เยอะมาก ทำให้วิถีชีวิตคนไทยเปลี่ยนไป วิถีชีวิตคนไทยอย่างดั้งเดิม กินอาหารพวกผัก พวกปลา โอกาสเกิดโรคพวกนี้อาจจะน้อย”
ถ้าไม่ใช่ปัจจัยด้านพันธุกรรมแล้ว คุณหมอพิชาญ บอกว่า โรคหลอดเลือดสมองพบได้ตั้งแต่วัย 30 ปีขึ้นไป แต่ยิ่งสูงอายุเท่าไหร่ ก็ยิ่งพบได้มากขึ้นเท่านั้น โดยผู้ชายมีปัจจัยเสี่ยงมากกว่าผู้หญิง เพราะดื่มเหล้าและสูบบุหรี่มากกว่า แต่ผู้หญิงก็มีปัจจัยเสี่ยงอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ ยาคุมกำเนิด ซึ่งเคยมีการทดลองในประเทศอังกฤษ พบว่า ผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิด เป็นโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าคนที่ไม่ได้ใช้ มีอาการอะไรบ้างที่เตือนให้รู้ว่า โรคหลอดเลือดสมองกำลังมาเยือนเราแล้ว คุณหมอพิชาญ บอกว่า
“อาการของโรคหลอดเลือดสมอง ส่วนมากอาการนำส่วนใหญ่ชาวบ้านจะมาหาหมอเร็วที่สุดโดยมากอ่อนแรงของแขนหรือขา ส่วนมากจะเป็นซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย บางคนอาจจะหน้าเบี้ยว แขนขาข้างซ้ายหรือขวาข้างหนึ่งอ่อนไปเลย ส่วนมากจะมาเร็วหน่อย แต่ที่จริงไม่จำเป็นต้องอ่อนแรงก็ได้นะ อาจจะมาด้วยชาก็ได้ แค่ชาของแขนหรือขาข้างใดข้างหนึ่งก็ได้ ถัดไปก็อาจจะมาด้วยเรื่องของตา ตาอาจจะมองเห็นภาพซ้อน หรือตาอาจจะมองไม่เห็นไปข้างหนึ่ง หรืออาจจะมองเห็นแค่ครึ่งหนึ่งของแต่ละตาก็ได้ ถัดไปก็อาจจะมีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน อาเจียน หรืออีกอันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการสับสนเกี่ยวกับเรื่องการพูด บางคนพูดไม่ได้ บางคนฟังไม่เข้าใจ บางคนทั้งพูดไม่ได้ทั้งฟังไม่เข้าใจก็เป็นไปได้ ถัดไปก็อาจจะมาด้วยเรื่องปวดศีรษะอย่างรุนแรง หรือเฉียบพลันอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หรือซึมลง หรือหมดสติ หรือบางคนก็มาด้วยเรื่องชัก อันนี้มาได้หลายๆ รูปแบบ แล้วแต่ตำแหน่งของสมองที่มีการขาดเลือดหรือมีเลือดออกในสมอง”
สำหรับการรักษาภาวะเส้นเลือดสมองตีบ อุดตัน หรือแตกนั้น คุณหมอพิชาญ บอกว่า ขึ้นอยู่ว่าตีบหรือแตกแค่ไหน และเนื้อสมองเสียหายแค่ไหน ซึ่งก็มีทั้งการให้ยาและการผ่าตัด
“ต้องเอกซเรย์ดู จะบอกว่ามันตีบมั้ย ตีบกี่เปอร์เซ็นต์ สมองเสียหายแค่ไหน หรือแตกมั้ย ถ้าแตกขนาดเล็กขนาดใหญ่ ถ้าขนาดเล็กนัก การรักษาก็มี ส่วนมากถ้าตีบ เรารักษาด้วยยา มีทั้งยาฉีดยากิน การดูแลไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน ไม่ให้เกิดสมองบวม หลังจากอาการคงที่เราก็ต้องทำ เรียกว่า ให้เข้ากลุ่มเวชศาสตร์บำบัดฟื้นฟู ฟื้นฟูทางด้านการพูด ฟื้นฟูทางด้านกายภาพบำบัด ทางด้านกิจกรรมบำบัด และด้านสังคมสิ่งแวดล้อม ต้องฟื้นฟูไปทั้งหมดพร้อมๆ กัน เพื่อให้เขาสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้โดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่นมาก ใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเอง กลับมาทำหน้าที่ปฏิบัติงานได้มากที่สุด ส่วนถ้าโรคหลอดเลือดสมองแตก ก็ขึ้นอยู่ว่าแตกขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ ถ้าขนาดเล็กไม่ถึง 5 ซม.ส่วนใหญ่เราอาจจะรักษาโดยทางยา แต่ถ้าแตกใหญ่นัก เราก็ต้องอาศัยศัลยแพทย์ผ่าตัดเอาก้อนเลือดที่มันใหญ่เอาออกเสีย เพื่อไม่ให้กดสมองส่วนที่ดีดี เพื่อเซฟชีวิต”
แต่ปัญหาส่วนใหญ่ของคนไทย ก็คือ รอจนโรคเป็นมากแล้วค่อยไปหาหมอ ทำให้กว่าจะถึงมือหมอ ผู้ป่วยก็เป็นอัมพาตไปแล้ว ซึ่งคุณหมอพิชาญ บอกว่า ภาวะผู้ป่วยในบ้านเรายังต่างกับในต่างประเทศมาก
“เรายังไม่ค่อยให้ความสำคัญ ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะเห็นว่า มันชาหรือมันอ่อนแรง ดูอาการก่อน พรุ่งนี้จะดีขึ้นมั้ย ถ้าไม่ดีขึ้น ค่อยไปหาหมอ ซึ่งต่างจากต่างประเทศมาก อย่างในสหรัฐฯ ถือว่าโรคนี้เป็นความเร่งด่วนอย่างมาก ยิ่งรักษาเร็วเท่าไหร่ ยิ่งดี ซึ่งความเข้าใจของคนไทยเองยังเข้าใจผิดอยู่เยอะว่า ในต่างประเทศเขาเรียกว่า Time is Brain เวลาเป็นสมอง ซึ่งชั่วโมงของการรักษาที่ดีที่สุด ที่อเมริกาเขาให้ 3 ชั่วโมงแรก ซึ่งเขามียา คล้ายๆ ยาละลายลิ่มเลือด แต่เมืองไทยยังใช้กันค่อนข้างน้อย เพราะหาคนไข้ที่จะมาทันหรือมาหาหมอทันที่จะใช้ยาอันนี้น้อยมาก เราถึงว่า รักษายิ่งเร็ว ยิ่งดี ลดการสูญเสียหรือการเสียหายของสมองได้ค่อนข้างดีมาก และสามารถฟื้นฟูและกลับไปปฏิบัติหน้าที่ได้เร็วที่สุด”
สำหรับระยะเวลาตั้งแต่แขนขาเริ่มชา หรืออ่อนแรง จนกว่าจะถึงขั้นอัมพาต กินเวลานานเท่าใดนั้น คุณหมอพิชาญ บอกว่า ไม่แน่นอน บางคนอาจจะเร็วมากแค่ไม่กี่นาที แต่บางคนอาจกินเวลาเป็นวัน เช่น ตอนเช้ายังเดินได้ เดินขากะเผลก พอตกบ่ายยกแขนยกมือไม่ขึ้น พอตกกลางคืนเดินไม่ได้ เป็นอัมพาตเลยก็มี
ส่วนการฟื้นฟูและการทำกายภาพแก่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ต้องใช้เวลานานแค่ไหนนั้น คุณหมอพิชาญ บอกว่า การฟื้นตัวของผู้ป่วยเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ 2 สัปดาห์แรก หลังทำกายภาพ แต่หากเกิน 2 ปี การฟื้นตัวจะค่อนข้างทำได้น้อยแล้ว ทำอย่างไรถึงจะหลีกเลี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง ที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตแบบนี้ได้ คุณหมอพิชาญ แนะว่า
“ป้องกันได้ คือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงทั้งหลายที่ก่อให้เกิดโรค 1.โรคที่มีต้องรักษาให้หมด เช่น โรคความดัน โรคเบาหวาน และโรคไขมันในเลือดสูง ควบคุมซะ ทานยาซะ หาหมอรักษาให้สม่ำเสมอ 2.งดสูบบุหรี่ 3.ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ อย่างน้อยๆ วันหนึ่ง 20-30 นาที อาทิตย์ละ 3 ครั้ง เพื่อให้ร่างกายหัวใจทำงานดีขึ้น ถัดไปควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ไม่ให้อ้วน ควบคุมอาหาร และพยายามทำจิตใจให้สบาย ไม่ให้เคร่งเครียด ไม่ให้เร่งรีบ คล้ายๆ เดินสายกลางตามหลักศาสนาพุทธดีที่สุด ไม่ให้ตึงไป ไม่ให้หย่อนไป”
คุณหมอพิชาญ ยังเตือนด้วยว่า ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่เป็นอัมพาต แล้วไปรักษาโดยการนวด ประคบร้อน หรืออบสมุนไพร นอกจากจะไม่ช่วยให้อาการดีขึ้น แล้วยังอาจจะมีผลข้างเคียงตามมาด้วย เพราะแขนขาของผู้ป่วยไม่ได้เป็นโรค เหตุที่มันไม่ขยับ เพราะสมองไม่สั่งการลงมา หลายครั้งจึงพบว่า ผู้ป่วยมาหาหมอด้วยอาการพองเพราะน้ำร้อนลวกจากการประคบร้อนหรืออบสมุนไพร เนื่องจากผู้ป่วยมีอาการชา จึงไม่รู้สึกร้อนแต่อย่างใด
คุณหมอพิชาญ ศรีอรุณ ยังย้ำด้วยว่า ความน่ากลัวของโรคหลอดเลือดสมอง ก็คือ วันนี้เราอาจจะยังพูดคุยกับใครต่อใครได้ ยังทำงานปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่วันพรุ่งนี้ ชีวิตเราอาจจะเปลี่ยนไป กลายเป็นคนที่ต้องนอนอยู่กับที่ ทำอะไรไม่ได้ พูดกับใครก็ไม่ได้ ชีวิตคงไม่ต่างอะไรกับการมีชีวิตในโหลแก้ว เหมือนที่พยาบาลชาวต่างประเทศคนหนึ่ง ซึ่งเคยเป็นอัมพาตจากโรคนี้ เขียนเป็นหนังสือไว้ว่า ชีวิตของเธอช่วงนั้น เหมือนมีขวดโหลครอบอยู่ เห็นทุกอย่างว่าใครทำอะไร แต่เธอสื่อสารกับใครไม่ได้เลย!
- 803 views