สพฉ.จัดอบรมชุดปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินฯ นำร่อง 20 ทีม กระจายความพร้อมสู่พื้นที่ เน้นฝึกหนักภาคปฏิบัติ
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดอบรมชุดปฎิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินเคลื่อนที่เร็วตอบโต้ภัยพิบัติ โดยมีนายเดชฤทธิ์ ปัญจะมูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี และนพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย ผู้ช่วยเลขาธิการสพฉ. เป็นประธานการเปิดอบรมในส่วนของภาคปฏิบัติ
นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ภัยพิบัติที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรุนแรง สพฉ.จึงเตรียมพร้อมโดยจัดอบรม “ชุดปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินเคลื่อนที่เร็วตอบโต้ภัยพิบัติ (DMERT : Disaster Medical Emergency Response Team) ประจำจังหวัดหรือโรงพยาบาล โดยนำร่อง 20 ทีม จากทุกเขตพื้นที่ เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเกิดขึ้นอย่างถูกต้องได้มาตรฐานและทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งในแต่ละทีมจะจัดตามความชำนาญพิเศษ ประกอบด้วยแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน แพทย์ที่รับผิดชอบงานด้านสาธารณภัย หรือแพทย์ทั่วไป จำนวน 2 คน พยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินหรือสาธารณภัย จำนวน 4 คน เจ้าพนักงานฉุกเฉินการแพทย์(EMT-I) เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน หรือผู้ช่วยพยาบาล 2 คน และ พนักงานฉุกเฉินการแพทย์ หรืออาสาสมัครฉุกเฉินการแพทย์ 3 คน รวมชุดละ 11 คน
“สำหรับการอบรมในภาคทฤษฎีแได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งจากนี้จะเป็นการต่อยอดการอบรมด้วยการปฏิบัติภาคสนาม ในพื้นที่ป่าเขาจ.ปราจีนบุรี โดยจะมีการจำลองสถานการณ์มีผู้บาดเจ็บที่รอความช่วยเหลือจำนวนมาก รวมทั้งเป็นสถานการณ์เฉพาะที่ยากต่อการช่วยเหลือ เพื่อให้แต่ละทีมนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในการวางแผน แก้ปัญหาและสามารถปฏิบัติการการตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเวลา 3 วัน โดยไม่พึงพาทรัพยากรจากพื้นที่ ซึ่งการฝึกครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความชำนาญทั้งในเรื่องการประสานงาน ระบบการสื่อสาร การช่วยเหลือเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ รวมทั้งการเคลื่อนย้ายในแนวดิ่งจากอาคารสูง โดยได้รับความร่วมมือจากทีมวิทยากรจากโรงพยาบาลรามาธิบดี กองทัพบก กองทัพเรือ สถาบันเวชศาสตร์การบิน และหน่วยงานด้านสาธารณสุข ฯลฯ”นพ.ไพโรจน์กล่าว
นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า สำหรับการอบรมชุดแรกเป็นทีมจากจังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดชัยนาท จังหวัดน่าน จังหวัดยโสธร และจังหวัดอุตรดิตถ์ และในช่วงวันที่ 30 พ.ค.-1 มิ.ย. จะเป็นการอบรมปฏิบัติภาคสนามในอีก 5 ทีม เพื่อกระจายความพร้อมสู่พื้นที่ต่อไป ทั้งนี้หลังจากการอบรมแล้ว สพฉ.หวังว่าชุดปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินเคลื่อนที่เร็วตอบโต้ภัยพิบัติจะสามารถออกปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินที่ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที สามารถดำรงชีวิตและช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยไม่ต้องพึ่งพาพื้นที่ ซึ่งในเบื้องต้น สพฉ. ได้สนับสนุนอุปกรณ์ที่จำเป็นไว้ให้ อาทิ เต้นท์สนาม เตียงสนาม เครื่องปั่นไฟ อุปกรณ์ทางการแพทย์
ที่มา: http://www.posttoday.com
- 27 views