กรมควบคุมโรคจับมือองค์การอนามัยโลกและองค์กรแรงงานระหว่างประเทศต้าน “แร่ใยหิน” ชี้ชัดมหันตภัยร้าย ก่อ “มะเร็งปอด” ด้านสคบ.ฮึ่ม จี้ผู้ประกอบการติดฉลากเตือน เมิน ถูกฟ้องศาลปกครอง ยัน ทำถูกต้องแล้ว
วันนี้ (24 พ.ค.2555) ณ โรงแรมแกรนด์ไชน่า ปริ๊นเซส กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขจัดงานแถลงข่าวเรื่อง “แร่ใยหิน ข้อเท็จจริงที่คนไทยต้องรู้” โดยมีผู้ร่วมแถลงประกอบด้วย นพ.นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข Dr. Maureen E. Birmingham ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย Ms. Ingrid Christnesen จากองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ศ.นพ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล ฝ่ายวิชาการ สมาพันธ์อาชีวอนามัยความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน และนายจิรชัย มูลทองโร่ย รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
น.พ.นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า แร่ใยหินเป็นวัตถุอันตราย ซึ่งประเทศไทยมีการนำเข้ามานานกว่า 30 ปี ถือเป็นประเทศที่มีการนำมาใช้มากเป็นอันดับที่ 3 ในแถบเอเชีย รองจากจีนและอินเดีย ทั้งนี้แร่ใยหินกว่าร้อยละ 90 จะใช้ในอุตสาหกรรมและการผลิตซีเมนต์ใยหิน เช่น ผลิตกระเบื้องมุงหลังคา ท่อน้ำ รวมไปถึงเบรค ครัทช์ และกระเบื้องยาง ซึ่งแร่ใยหินจะก่ออันตรายต่อมนุษย์ได้มาก หากถูกรบกวนโดยวิธีการที่จะทำให้เกิดฝุ่น เช่น การตัด ขัด เจาะ เลื่อยผลิตภัณฑ์ ส่วนผลิตภัณฑ์ประเภทเบรก ครัทช์ ที่ใช้ในยานยนต์นั้น ทุกครั้งที่มีการเหยียบเบรก ฝุ่นแร่ใยหินจากผ้าเบรค ผ้าครัทช์ ก็จะฟุ้งกระจายไปในอากาศ เป็นต้นเหตุของโรคปอดอักเสบที่เฉพาะ มะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอด เยื่อบุช่องท้อง โรคทางระบบหายใจ และโรคผิวหนังซึ่งจะทำให้เกิดอาการผื่นคัน อย่างไรก็ตามในส่วนของโรคทางระบบหายใจนั้นเมื่อเป็นแล้วจะไม่สามารถรักษาอาการให้หายขาดได้ ซึ่งผู้ป่วยจะทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วยเป็นอย่างมาก
“การควบคุมการฟุ้งกระจายของฝุ่นให้อยู่ในปริมาณที่ปลอดภัยเป็นเรื่องที่ทำยาก และใช้เงินมหาศาล โดยเฉพาะสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยไม่เอื้ออำนวยให้คนงานได้สวมหน้ากากป้องกันที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งระบบกำจัดฝุ่นก็ใช้เงินลงทุนสูงมาก”
น.พ.นพพร กล่าวต่ออีกว่า โทษของแร่ใยหินที่มีต่อสุขภาพนั้นร้ายแรงเกินกว่าที่นักวิชาการหรือองค์กรสากลระหว่างประเทศจะยอมรับได้ ดังนั้นกว่า 50 ประเทศทั่วโลกจึงได้ยกเลิกการใช้อย่างสมบูรณ์ โดยมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตใช้สารที่ปลอดภัยกว่ามาทดแทน หรือทดแทนด้วยผลิตภัณฑ์ทางเลือกอื่นๆ ทั้งนี้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เห็นความสำคัญในการป้องกันอันตรายจากแร่ใยหิน จึงได้เสนอประเด็นการยกเลิกการใช้เพื่อการตัดต้นเหตุแห่งปัญหาโรค โดยเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้เห็นชอบและเสนอต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้มีมติ เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554 รับรองยุทธศาสตร์ ”การทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน”แล้ว
“ขณะนี้มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้เสียประโยชน์ ในการพยายามสื่อสารเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดหรือความคลาดเคลื่อนว่า แร่ใยหินมีความเป็นอันตรายน้อยกว่าการได้รับอันตรายจากเรื่องอื่นๆ ด้วยการอ้างว่าผลิตภัณฑ์ต่างๆที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบจะไม่สามารถปลดปล่อยเส้นใยออกมาได้เนื่องจากมีซีเมนต์ที่ใช้ยึดจับกับแร่ใยหิน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่าไม่เป็นความจริง โดยได้มีการตรวจวัดการฟุ้งกระจายขณะที่มีการตัดกระเบื้องใยหินพบว่า มีฝุ่นใยหินที่จะหลุดออกมาสู่อากาศได้ในปริมาณที่เกินมาตรฐานความปลอดภัยซึ่งเกินกว่าจะยอมรับได้ ถึงกว่า 10 เท่า” น.พ.นพพร กล่าว
ด้าน Dr. Maureen E. Birmingham ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า แร่ใยหินทุกชนิดถือเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ การสัมผัสกับแร่ใยหินไม่ว่าปริมาณแค่ไหนก็ถือว่าเป็นอันตรายทั้งสิ้น โดยก่อให้เกิดโรคเกี่ยวกับปอด ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งปอด มีพังผืดหรือคราบในปอด ทำให้เยื่อหุ้มปอดหนาตัวและมีของเหลวในช่องเยื่อหุ้มปอด รวมทั้งอาจก่อมะเร็งกล่องเสียง มะเร็งรังไข่ได้ด้วย
“ ผู้คนราว 107,000 คนทั่วโลกตายเพราะโรคปอดที่มีสาเหตุจากแร่ใยหิน โดยราว 125 ล้านคนทั่วโลกสัมผัสกับแร่ใยหินจากวัสดุที่ใช้สร้างที่ทำงาน และในหนึ่งปีผู้คนหลายพันคนตายลงเนื่องจากสัมผัสกับแร่ใยหินในวัสดุที่ใช้สร้างบ้าน”
องค์การอนามัยโลกมีจุดยืนร่วมกันกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ต่อแร่ใยหินคือ 1. หยุดการใช้แร่ใยหินทุกชนิด ไม่ว่าจะมากจากเหมืองแร่ไครโซไลท์ (สีขาว) โครซิโดไลท์ (สีฟ้า) ฯลฯ เพราะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการลดความเจ็บป่วยจากแร่ใยหิน 2. สนับสนุนให้ใช้วัสดุทดแทนอื่นที่ปลอดภัยกว่า 3. ป้องกันการสัมผัสกับแร่ใยหินที่มีอยู่เดิมและในระหว่างการรื้อทิ้ง ด้วยการวัดค่าละอองแร่ใยหินในอากาศ ซึ่งต้องควบคุมให้อยู่ในระดับต่ำสุดเท่าที่จะทำได้ และ 4. ยกระดับการตรวจวินิจฉัย การรักษา และการฟื้นฟูเยียวยาทางสังคมและการแพทย์ให้กับผู้ป่วยเนื่องจากแร่ใยหิน ตลอดจนจัดทำระบบทะเบียนผู้ที่เคยหรือในปัจจุบันต้องสัมผัสกับแร่ใยหิน
ด้านนายจิรชัย มูลทองโร่ย รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการมีมาตรการด้านฉลากและคำเตือน ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ขอความร่วมมือให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กำหนดให้มีคำเตือนไว้ในฉลากของสินค้าที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินว่า “ระวังอันตราย ผลิตภัณฑ์นี้มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ การได้รับสารนี้เข้าสู่ร่างกายอาจก่อให้เกิดมะเร็งและโรคปอดได้” ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ด้วยการออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก (ฉบับที่ 27) พ.ศ. 2552 เรื่อง ให้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก และฉบับที่ 29 (พ.ศ. 2553) เรื่อง ให้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก (ฉบับที่ 2) ประกาศทั้ง 2 ฉบับกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินจะต้องระบุข้อแนะนำในการใช้เกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่ถูกต้องเหมาะสม อาทิ การสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นแร่ใยหิน การหลีกเลี่ยงการทำให้เกิดฝุ่นหรือแตกหัก ระมัดระวังการฟุ้งกระจายของฝุ่น เป็นต้น
สำหรับกรณีที่ผู้ประกอบการที่เสียประโยชน์ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในเรื่องดังกล่าวนั้น นายจิรชัย กล่าวว่า มาตรการด้านฉลากเป็นการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคให้ได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้า เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมและสามารถนำไปใช้งานได้อย่างปลอดภัย ดังนั้นการดำเนินการออกประกาศดังกล่าวปฏิบัติถูกต้องตามขั้นตอนโดยมีการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรับฟังข้อมูลจากทุกๆ ฝ่ายไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวงสาธารณสุข ภาคประชาชน และตัวแทนของผู้ประกอบธุรกิจผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ดังกล่าว รวมระยะเวลาตั้งแต่เริ่มดำเนินการจนกระทั่งออกประกาศ 2 ปี ซึ่งยืนยันว่าสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอย่างถูกต้องตามกระบวนการ และให้ความเป็นธรรมกับทุกๆ ฝ่าย
“สำหรับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการผลักดันการยกเลิกการใช้แร่ใยหินนั้นจะดำเนินการจัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การควบคุมสินค้าที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน และมาตรการบังคับใช้กฎหมาย ในวันที่ 25 พ.ย.นี้ รวมไปถึงจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบูรณาการคุ้มครองผู้บริโภคระหว่างสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อบูรณการกรณีแร่ใยหิน ในการร่วมกันผลักดันให้มีการเลิกใช้แร่ใยหินในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตลอดจนห้ามการนำเข้าแร่ใยหินชนิดไครโซไทล์” นายจิรชัย กล่าว