ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นำคณะผู้บริหารและนักวิชาการจากกระทรวงสาธารณสุขไทย ร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 65ที่นครเจนีวาประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 21 – 26 พฤษภาคม 2555ชูผลงานความสำเร็จการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย พร้อมเสนอเวทีโลกให้ทุกประเทศใช้ลดปัญหายากจน แก้ปัญหาการเจ็บป่วยและลดปัญหาความยากจน เพื่อบรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ พ.ศ.2558
วันนี้ (21 พฤษภาคม 2555) นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่าได้รับมอบหมายจากนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้เป็นผู้แทนนำคณะผู้บริหารและนักวิชาการจากกระทรวงสาธารณสุขไทย เข้าร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลกสมัยที่ 65 (The Sixty-fifth World Health Assembly : WHA)ระหว่างวันที่ 21 – 26 พฤษภาคม 2555ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส จัดโดยองค์การอนามัยโลกโดยมีผู้บริหารระดับสูง ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการจากประเทศสมาชิกทั่วโลก 193ประเทศเข้าประชุมกว่า 2,000คนเพื่อร่วมกันกำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาสาธารณสุขระดับโลกซึ่งปีนี้เน้นหลายประเด็น อาทิ การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ความก้าวหน้าของเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals) การป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ ปัญหาสุขภาพจิต โภชนาการ และการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เป็นต้น
นายแพทย์ไพจิตร์ได้กล่าวถ้อยแถลงความก้าวหน้าการดำเนินงานพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศไทย ว่า หลังจากที่ดำเนินการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งมีเป้าหมายให้คนไทยทุกคนได้รับบริการสุขภาพที่ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทุกพื้นที่ พบว่าเป็นเครื่องมือในการลดปัญหาความเจ็บป่วย รวมทั้งลดปัญหาความยากจนได้ชัดเจน สามารถช่วยประชาชนกว่า 100,000 ครอบครัวที่ฐานะยากจนให้ได้รับการดูแลด้านสุขภาพอย่างครอบคลุมและทั่วถึง เข้าถึงบริการโดยไม่เป็นหนี้จากการรักษาพยาบาล ทั้งนี้ ไทยได้เริ่มใช้การรักษาฟรีแก่ผู้มีรายได้น้อยตั้งแต่ปี 2518 ขณะที่ประเทศมีรายได้ประชาชาติเพียง 10,000 กว่าบาทต่อคนต่อปี และในปี 2544 ที่เริ่มโครงการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็มีรายได้ประชาชาติเพียง 60,000 กว่าบาทต่อคนต่อปีเท่านั้น จึงเป็นข้อพิสูจน์ว่าประเทศที่ยากจนในโลกสามารถเริ่มต้นเดินหน้าโครงการนี้ได้เช่นกัน
ในการประชุมครั้งนี้ ประเทศไทยได้เสนอให้การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นพันธะสัญญาในเวทีการประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลก และเวทีประชุมสมัชชาองค์การสหประชาชาติด้วย และควรให้การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญ หลังจากการพัฒนาเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษในพ.ศ. 2558 มั่นใจว่าหากทุกประเทศใช้การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะสามารถแก้ไขปัญหาเจ็บป่วยและความยากจน รวมทั้งแก้ไขปัญหาสุขภาพอื่นๆ เช่น เอดส์ มาลาเรีย วัณโรค การดูแลสุขภาพแม่และเด็ก โภชนาการเด็ก เป็นผลสำเร็จเช่นไทยได้
ทั้งนี้ ปัจจัยความสำเร็จของไทยมาจาก 3 ประการ ได้แก่ 1.มีบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขที่มีจิตวิญญาณการบริการ และสถานบริการทางการแพทย์ที่ครอบคลุมอยู่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ 2.มีงบประมาณด้านสุขภาพ ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เป็นร้อยละ 14 ของงบทั้งประเทศ และ 3.การพัฒนาศักยภาพด้านการจัดการและศึกษาวิจัยองค์ความรู้ทางสังคมและสุขภาพ เป็นฐานข้อมูลในการตัดสินเชิงนโยบายสุขภาพที่เหมาะสมและคุ้มค่า
- 7 views