ปัจจุบันนี้คนอายุยืนยาวขึ้น อัตราการตายน้อยลง แต่อัตราการเกิดต่ำ มีผลให้ประชากรวัยทำงานลดลง ขณะนี้เกิดแล้วในประเทศพัฒนา ยกเว้นสหรัฐอเมริกา ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนา ปัญหานี้แม้ยังไม่เกิดแต่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน และจะกระทบต่อเศรษฐกิจของทุกประเทศ โดยเฉพาะต่อจีน อินเดีย
ขอเริ่มที่ประเทศพัฒนาก่อน ญี่ปุ่น ยุโรปสหรัฐอเมริกายุคก่อน ญี่ปุ่นประสบปัญหาประชากรที่อยู่ในวัยสูงอายุมาก โดยในปี1945 ประชากรญี่ปุ่นมีอายุเฉลี่ยเพียง 22.3 ปีเท่านั้น ขณะที่ตะวันตกและสหรัฐอเมริกาอายุเฉลี่ย 31 ปี ต่อมาในช่วงปี 1950-1995 ญี่ปุ่นมีประชากรวัยทำงานสูงมาก เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงนั้น แต่ปัจจุบันประชากรญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีอายุ 43 ปีขึ้นไป ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ในตะวันตกมีอายุเฉลี่ย 40 ปี สหรัฐอเมริกา 36 ปี และจีน 33 ปี
คาดการณ์กันว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าโครงสร้างของประชากรญี่ปุ่นที่เปลี่ยนไปนี้จะทำให้ประชากรของญี่ปุ่นลดจากร่วม 130 ล้านคนในปัจจุบัน เหลือเพียง 115 ล้านคนและในปี 2050 ซึ่งประมาณอีก 20 ปีข้างหน้า จะลดเหลือ 90 ล้านคน ส่วนประชากรวัยทำงานก็จะลดลงจาก 81 ล้านคน เหลือเพียง 67 ล้านคน ประชากรส่วนใหญ่ของคนญี่ปุ่นจะมีอายุเฉลี่ย 52 ปี ในปี 2050 และร้อยละ 30 ของประชากรญี่ปุ่นทั้งหมดจะเป็นคนในวัย 65 ปีขึ้นไป
สำหรับยุโรป ขณะนี้ประชากรใหม่น้อยมาก โดยปัจจุบันประชากรยุโรปมีอายุเฉลี่ยประมาณ 42 ปี แต่ในอีก 20 ปีข้างหน้าจะมีอายุเฉลี่ย 46 ปี ประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปมีจำนวนถึงร้อยละ 40 และประชากรวัยทำงานของยุโรปจะลดลงราว 12 ล้านคนฟังดูแม้จะน่ากลัวแต่ก็ยังน่ากลัวน้อยกว่าญี่ปุ่น สำหรับยุโรปตะวันตกนั้นแก้ปัญหาการขาดแคลนประชากรวัยทำงานด้วยการรับแรงงานอพยพต่างชาติเข้ามา และจะต้องรับมากขึ้น
ขณะที่ญี่ปุ่นและยุโรป มีปัญหาโครงสร้างประชากรที่รออยู่ข้างหน้านั้น สำหรับสหรัฐอเมริกากลับไม่ประสบปัญหามากนักถือเป็นข้อยกเว้นสำหรับประเทศพัฒนาที่เดียว เพราะในช่วงจากนี้ไปจนถึงปี 2030 ประชากรอเมริกาจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 หรือมากกว่า 60 ล้านคน ในปี 2030 ประชากรจะเพิ่มเป็น 377 ล้านคน อัตราการเติบโตของประชากรอเมริกาดังกล่าวใกล้เคียงกับของอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ประชากรวัยทำงานของสหรัฐอเมริกายังจะเพิ่มขึ้นด้วย และประชากรสูงวัยก็จะยังมีอยู่น้อย
สาเหตุที่ทำให้สหรัฐอเมริกามีโครงสร้างประชากรที่แตกต่างไปจากประเทศที่พัฒนาอื่นๆก็เพราะมีประชากรที่อพยพเข้ามาอาศัยในประเทศอเมริกาอยู่ตลอด คาดว่าในอีก 70 ปีข้างหน้าจะมีคนอพยพเข้ามาอีกเกือบ 35 ล้านคน ซึ่งคนที่อพยพเข้ามาส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานทั้งสิ้น
ขอกล่าวถึงรัสเซีย ในปัจจุบันนี้จัดว่าเป็นประเทศที่กำลังประสบปัญหาประชากรสูงสุด อาจจะยิ่งกว่าญี่ปุ่นเสียอีก อัตราการตายสูงกว่าอัตราการเกิดถึงร้อยละ 50 ทำให้รัสเซียมีประชากรลดลงอย่างรวดเร็ว ยิ่งกว่าญี่ปุ่นและยุโรปตะวันตกอย่างเห็นได้ชัด
ในปี 1937 รัสเซียมีประชากร 162 ล้านคน พอถึงปี 1992 กลับลดลงเหลือ 148 ล้านคน ปัจจุบันเหลือ 141 ล้านคน และในอีกไม่ถึง 20 ปีข้างหน้าจะลดลงอีกเกือบ 7 ล้านคน ในอีก 40 ปีข้างหน้า คือราวปี 2050 ประชากรรัสเซียจะเหลือเพียง 80-90 ล้านคนเท่านั้น พร้อมๆ กับประชากรในวัยทำงานของรัสเซียจะลดลงราวร้อยละ 20 ในปี 2030 อายุไขโดยเฉลี่ยของคนรัสเซียขณะนี้เพียง 52 ปีเท่านั้น อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากวิกฤตด้านสาธารณสุขที่เกิดขึ้นตั้งแต่สหภาพโซเวียตล่มสลาย คนรัสเซียเสียชีวิตจากติดเหล้ามากมาย
สำหรับประชากรของจีนจะเริ่มลดจำนวนลงตั้งแต่ปี 2030 เป็นต้นไป ในขณะที่ประชากรในประเทศไทยจะเริ่มลดลงในอีก 30 ปีข้างหน้า นี่นับว่าเป็นเรื่องที่เราไม่คุ้นเคยเท่าไรนัก เพราะตั้งแต่เราเกิดมายังไม่เคยเห็นประเทศไทยมีประชากรลดลง มีแต่เพิ่มขึ้นตลอด ขณะที่มาเลเซีย เพื่อนบ้านประชากรวัยทำงานจะสูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปอีก40 ปีเป็นอย่างน้อย อินเดียและตุรกีเพื่อนบ้านที่อยู่ไกลไปหน่อยก็จะมีโครงสร้างประชากรที่ยังมีคนในวัยทำงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปอีก30-40 ปีเป็นอย่างน้อยเช่นกัน สำหรับเม็กซิโกจะเริ่มมีประชากรวัยทำงานน้อยลงในปี 2035 และบราซิลจะมีประชากรวัยทำงานลดน้อยลงตั้งแต่ปี 2011
ประเทศกำลังพัฒนาปัจจุบันนี้ใช้เวลาเพียง 20 ปีเท่านั้นในการทำให้มีประชากรสูงวัยถึงร้อยละ 15 ของประชากรเช่นที่เป็นอยู่โดยเฉลี่ยในปัจจุบัน
โดยรวม เอเชีย ละตินอเมริกา ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยังจะเป็นทวีปที่แก่ช้าในอีก 20 ปีต่อไปข้างหน้า แต่ในบรรดาประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งจีนและอินเดียจะเข้าสู่ความชราภาพรวดเร็วกว่าคนอื่นขณะนี้จีนประชากรส่วนใหญ่อายุเฉลี่ย 33 ปี แต่แค่ 10 ปีข้างหน้าประชากรส่วนใหญ่จะอยู่ในอายุ 38 ปี และอีก 40 ปีข้างหน้าประชากรส่วนใหญ่จะมีอายุเฉลี่ย 45 ปี
ซึ่งตรงนี้จะตรงกันข้ามกับอินเดีย ซึ่งอัตราการเกิดยังสูง คนหนุ่มสาวและประชากรวัยทำงานยังสูงมาก และจะสูงต่อเนื่องขณะนี้ประชากรส่วนใหญ่ของอินเดียคือคนที่มีอายุเพียง 24 ปีเท่านั้น ในอีก 10 ปีข้างหน้าก็จะเพิ่มเป็นอายุเฉลี่ย 30 ปี และในปี 2050 ประมาณ 40 ปีข้างหน้าประชากรส่วนใหญ่ของอินเดียก็จะมีอายุเฉลี่ยเพียง 38.6 ปี
กล่าวในแง่นี้ อินเดียมีความสามารถที่จะเติบโตสูงอย่างต่อเนื่องไปอีกไม่ต่ำกว่า20-30 ปี ปัญหาประชากรที่เพิ่มมากขึ้นนี้ก็จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จะทำให้ต้องใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้น แต่ข้อที่อาจทำให้ใจชื้นขึ้นก็คือ ขณะนี้ไม่เพียงแต่ตะวันตกเท่านั้นที่สามารถชะลอและลดการเติบโตของประชากรได้แล้ว แต่ประเทศตะวันออกเองในหลายๆ ประเทศต้องใช้เวลาในการลดอัตราการเติบโตของประชากรได้สูง บัดนี้จึงเป็นไปได้เป็นครั้งแรกในโลกที่จะได้เห็นความคงที่ของประชากรเกิดขึ้นในเวลาไม่นานนัก อันเป็นผลเนื่องจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วของประเทศตะวันออก เพราะการพัฒนาเช่นนั้นทำให้โครงสร้างของประชากรเปลี่ยนไป ทำให้คนตกงานน้อยลงมีลูกน้อยลง และคนแก่มีอายุเพิ่มมากขึ้น
ที่มา: นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันที่ 18 พฤษภาคม 2555
- 1711 views