ครม.มีมติเมื่อวันที่ 14 พค. ที่ผ่านมารับร่าง พรบ.งบประมาณปี 56 ในวงเงิน 2.4 ล้านล้านบาท โดยตั้งงบเหมาจ่ายรายหัว สปสช. อยู่ที่ 2,755.60 บาทต่อคนลดจากปี 55 ก่อนปรับลดช่วยน้ำท่วมซึ่งตั้งไว้ที่ 2895.60 บาทต่อคน หรือลดลงร้อยละ 4.9 และมีการปรับลดหรือตัดงบชดเชยบริการด้านอื่นๆ อีก เช่น งบค่าบริการควบคุมป้องกันความรุนแรงของโรคเบาหวานความดันโลหิตสูง ได้รับ 410.0 ล้านบาทลดลงจากปี 55 ร้อยละ 6.35 และตัดงบควบคุมป้องกันปอดอุดตันเรื้อรังที่ตั้งไว้ 99.5 ล้านบาท งบบริการผู้ติดยาเสพติดที่ตั้งไว้ 195.2 ล้านบาทและงบบริการจิตเวชจำนวน 142.1 ล้านบาท ทั้งสามรายการถูกตัดงบออกหมด
นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบทเปิดเผยว่า จากเอกสารงบประมาณที่สำนักงบประมาณเตรียมเสนอสภาผู้แทนราษฎรที่จะประชุมในระหว่างวันที่ 21-23 พค. นี้งบเหมาจ่ายรายหัว สปสช. ได้รับอนุมัติ 2,755.60 บาทต่อคนเป็นเงินหลังหักเงินเดือนหน่วยบริการของรัฐแล้วเหลือ 100,699 ล้านบาทดูแลประชากรบัตรทอง 48.44 ล้านคน หรือคิดเป็น 2,078.83 บาทต่อคน ขณะที่ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ ปี 55 นี้ รัฐบาลตั้งงบกลางไว้ให้ 66,000 ล้านบาท ดูแลข้าราชการและครอบครัวประมาณ6 ล้านคน หรือเฉลี่ยคนละ 11,000 บาท คิดเป็น 5 เท่าของเงินที่รัฐบาลจัดสรรดูแลประชาชนทั่วไปในระบบบัตรทอง เป็นการเพิ่มความ เหลื่อมล้ำแตกต่างในเรื่องสิทธิประโยชน์และการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพของประชาชนมากขึ้นและทำให้ระบบบัตรทองเหมือนระบบอนาถาในอดีตสวนทางกับนโยบายรัฐบาลที่สัญญาว่าจะเพิ่มคุณภาพของระบบบัตรทองและสร้างความเท่าเทียมของสามกองทุน
“การปรับลดงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว สปสช.ปี 56 ของรัฐบาลนับเป็นครั้งแรกในรอบสิบปีนับแต่มีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นต้นมาและเกิดขึ้นพร้อมกับที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ประกาศนโยบายจะเก็บเงินสามสิบบาทอีกครั้งหนึ่งรวมทั้งสัญญาว่าจะเพิ่มคุณภาพการเข้าถึงบริการของระบบบัตรทองให้เท่าเทียมระบบสวัสดิการข้าราชการ ลดความเหลื่อมล้ำแตกต่างระหว่างสามกองทุนประกันสุขภาพของรัฐ ทำให้เกิดความแคลงใจว่า การที่รัฐบาลลดงบระบบบัตรทองและเพิ่มงบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการให้มากขึ้น ทำให้เกิดความแตกต่างกันมากกว่าห้าเท่า จะทำให้เกิดความเท่าเทียมของประชาชนในการเข้าถึงคุณภาพบริการได้อย่างไรและการลดงบประมาณเหมาจ่ายขณะที่ภาวะเงินเฟ้อและการขึ้นค่าแรง ค่าครองชีพสูงขึ้น จะกระทบต่อฐานะการเงินของรพ.ในระบบ สปสช. ในปีหน้าอย่างหนัก โดยเฉพาะรพ.ของรัฐขนาดเล็กที่อยู่ตามอำเภอต่างๆ หลายร้อยแห่งส่วนรพ.ขนาดใหญ่ของรัฐและรพ.เอกชนจะหนีไปให้บริการข้าราชการและชาวต่างประเทศตามนโยบาย medical hub ของรัฐบาลมากกว่า ซึ่งตอนนั้นระบบ 30 บาทรักษาทุกโรคก็จะเป็นระบบอนาถาสำหรับประชาชนทั่วไป ซึ่งรัฐบาลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ จะโยนบาปว่าเป็นเรื่องการบริหารงานที่ไร้ประสิทธิภาพของรพ.ของรัฐหรือของ สปสช.ไม่ได้” ประธานชมรมแพทย์ชนบทกล่าวย้ำ
นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบทเปิดเผยว่า ชมรมแพทย์ชนบทเป็นห่วงถึงนโยบายฉุกเฉินไปที่ไหนก็ได้แต่เป็นห่วงว่าแง่ปฏิบัติจริงแล้วรัฐบาลให้ความจริงใจแค่ไหนหรือเป็นเพียงการหาเสียงเพราะมีความพยายามจะจำกัดให้เฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินที่เป็นอันตรายแก่ชีวิตไปที่ไหนก็ได้เท่านั้น ส่วนผู้ป่วยฉุกเฉินที่จำเป็นอื่นๆ อีกจำนวนมากจะไม่ได้รับสิทธิและมีแนวโน้มว่ากระทรวงสาธารณสุขรวมทั้งกรมบัญชีกลางจะยอมขึ้นค่าชดเชยให้เอกชนมากกว่า 10,500 บาทต่อหนึ่งน้ำหนัก DRG ตามแรงบีบของสมาคม รพ.เอกชน รวมทั้งมีประเด็นทางกฎหมายว่าการที่ คณะกก.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติชุดใหม่ มีมติออกประกาศให้ใช้เงินจากกองทุน สปสช.ไปจ่ายชดเชยค่าบริการฉุกเฉินให้กับระบบประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการก่อนเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือไม่ เพราะกฎหมายกำหนดให้เงินกองทุน สปสช. ใช้ชดเชยให้ได้เฉพาะผู้ป่วยในระบบ สปสช.เท่านั้น
“รมว.สาธารณสุขควรจะเสนอตั้งงบประมาณจากรัฐบาลเป็นกองทุนฉุกเฉินเพิ่มเติมสำหรับนโยบายนี้โดยเฉพาะและมอบให้ สปสช.เป็น Clearing house ไม่ใช่ให้ใช้เงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสำรองจ่ายแทนกองทุนอื่นไปก่อนซึ่งกฎหมายไม่ได้อนุญาตให้ทำได้” อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบทกล่าว
- 3 views