สุรวิทย์ เผยปัญหาหลักที่ทำให้คนไทยตาบอด เกิดจากตาต้อกระจก ซึ่งมักพบมากในผู้สูงอายุและผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน เร่งลดคิวผ่าตัดให้สั้นขึ้น เหลือรอไม่เกิน 90 วัน ในปีนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทุ่มงบ กว่า 800 ล้านบาท ผ่าตัดโรคตาต้อกระจกให้ผู้สูงอายุฟรี จำนวน 100,000 ราย และร่วมมือกับศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย จัดโครงการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา ให้ผู้ป่วยอีกกว่า 2,200 ราย ในปีนี้
วันนี้ (17 พฤษภาคม 2555) ที่จังหวัดนครนายก นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมวิชาการ พยาบาลเวชปฏิบัติทางตา พยาบาลทางตา และพยาบาลที่ปฏิบัติงานสาขาอื่นที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพตา จากโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนทั่วประเทศ จำนวน 250 คน เพื่อฟื้นฟูวิชาการ ในการพยาบาลผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคทางสายตาและการส่งเสริมสุขภาพ
นายแพทย์สุรวิทย์กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนไทยมีแนวโน้มเผชิญปัญหาสายตาเสื่อมมากขึ้น จากสภาวะอากาศร้อนและการใช้สายตาในการทำงานเกี่ยวกับจอคอมพิวเตอร์ ทั้งจอชนิดตั้งโต๊ะและพกพา และที่น่าห่วงคือบนจอมือถือ ซึ่งมีสัดส่วนขนาดเล็ก จะต้องใช้สายตาในการเพ่งมอง รายละเอียดบนหน้าจอโทรศัพท์ คาดว่าในระยะยาวจะทำให้สายตาเสื่อมสภาพเร็วขึ้น นอกจากนี้คนไทยยังเผชิญกับปัญหาตาบอด ซึ่งสาเหตุอันดับหนึ่งประมาณร้อยละ 70 เกิดจากตาต้อกระจก มักพบในผู้สูงอายุและผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ที่ควบคุมน้ำตาลไม่ได้ ผลการสำรวจในปี 2550 พบผู้ที่เป็นโรคตาต้อกระจกจำนวน 5 ล้านกว่าราย ในจำนวนนี้คาดว่ามีผู้ป่วยรอการรักษาผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียม จำนวน 98,000 ราย กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายเร่งลดคิวผ่าตัด เหลือไม่เกิน 90วัน จากเดิมที่ต้องรอ 1-2 ปี เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาเร็วขึ้นและเร่งตรวจจอประสาทตาในผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อให้ได้รับการรักษาได้ทันท่วงที ทั้งนี้ในปี 2555นี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสปสช. ได้จัดงบประมาณ จำนวน กว่า 840ล้านบาท ผ่าตัดผู้ป่วยโรคตาต้อกระจกในผู้สูงอายุจำนวน 1 แสนราย
ทางด้านนายแพทย์ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกล่าวว่าในปีนี้สปสช. ได้ร่วมมือกับศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย จัดโครงการปลูกถ่ายกระจกตา ซึ่งปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่สามารถทำการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาได้ 26 แห่ง แต่ยังมีปัญหาเรื่องการบริจาคกระจกตา เนื่องจากที่ผ่านมาอัตราการบริจาคอวัยวะในประเทศไทยมีไม่มากนัก ในปี 2552-2554 มีผู้ป่วยในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตารวม 810 ราย เฉลี่ยปีละ 270ราย เนื่องมาจากการบริจาคกระจกตามีน้อย ขณะที่สถิติทั้งประเทศมีผู้จองดวงตาปีละประมาณ 1,000 ราย แต่สามารถเก็บดวงตาที่ได้จากผู้บริจาคอวัยวะและเสียชีวิตปีละประมาณ 450 ราย ดังนั้นผู้ป่วยหนึ่งรายจะต้องใช้เวลารอคอยกระจกตาบริจาคประมาณ 3-4 ปี โดยปัจจุบันมีผู้ป่วยรอดวงตา จำนวนสะสม6,656 ราย สปสช.จึงได้สนับสนุนศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทยในการดำเนินการดังกล่าว และสนับสนุนค่าจัดหา จัดเก็บและรักษามาตรฐานคุณภาพดวงตาๆละ 20,000 บาท ส่วนค่าผ่าตัดและรักษาเบิกตามระบบการวินิจฉัยกลุ่มโรคร่วมหรือดีอาร์จี
- 45 views