ยาแก้ปวดแบรนด์ดัง "ไทลินอล" ขาดตลาดหลังน้ำท่วมใหญ่ทำโรงงานเสียหาย "จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน" เร่งแก้เกมนำเข้าจากเกาหลีแก้ขัดเป็นการชั่วคราว คาดเริ่มเดินเครื่องผลิตได้ในเร็ว ๆ นี้ เผยยา-เวชภัณฑ์หลายรายการขาด ขณะที่น้ำเกลือ-สำลีเริ่มคลี่คลาย

จากการสำรวจร้านขายยาในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล พบว่าร้านขายยาหลายแห่งไม่มียาบรรเทาปวดไทลินอล 500 มก. (บริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน) จำหน่าย และร้านขายยาต่างชี้แจงว่า เป็นผลกระทบมาจากน้ำท่วมโรงงานผลิตเมื่อปลายปีที่ผ่านมา และยอมรับว่า "ไทลินอล" ขาดตลาดมาระยะหนึ่งแล้ว เมื่อลูกถามหาส่วนใหญ่เภสัชกรประจำร้านก็จะแนะนำยี่ห้ออื่นแทน เนื่องจากมีตัวยาชนิดเดียวกันและสามารถใช้ทดแทนกันได้

นอกจากนี้ เภสัชกรประจำร้านขายยายังให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า เพื่อบรรเทาปัญหายาขาดตลาดที่เกิดขึ้นมา 3-4 เดือน เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสันได้นำเข้ายาไทลินอลที่ผลิตจากเกาหลีเข้ามาจำหน่ายแทนเป็นการชั่วคราว

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า หากสังเกตจะพบว่าไทลินอลที่นำเข้าจากประเทศเกาหลีข้างกล่องระบุว่า ผลิตโดยบริษัท แจนเซ่น เกาหลี จำกัด นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม เพื่อบริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (ไทย) จำกัด

สอดคล้องกับเภสัชกรประสิทธิ์ วงศ์นิจศีล ที่ปรึกษาชมรมร้านขายยาแห่งประเทศไทยกล่าวว่า สาเหตุที่ไทลินอล 500 มก.ขาดตลาดเป็นปัญหามาจากโรงงานผลิตและ รีแพ็กเกจจิ้งของบริษัท โอลิค (ประเทศไทย) จำกัด ที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่รับจ้างผลิตถูกน้ำท่วมและเครื่องจักรได้รับความ เสียหายตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา

ขณะที่นายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ชี้แจงในเรื่องนี้ว่า ผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา โรงงานยาและเวชภัณฑ์หลายแห่งต้องปิด และทำให้ยาและเวชภัณฑ์หลาย ๆ อย่างมีไม่เพียงพอกับความต้องการ ที่ผ่านมาองค์การเภสัชฯ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้แก้ปัญหาดังกล่าว และทำหน้าที่เป็นผู้นำเข้าเองเพื่อลดขั้นตอนการขึ้นทะเบียนที่อาจจะต้องใช้เวลา นอกจากไทลินอลก็ยังมียาและเวชภัณฑ์บางรายการที่องค์การเภสัชฯเป็นผู้นำเข้าเอง เช่น น้ำเกลือ

แหล่งข่าวจากบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายยาและเวชภัณฑ์ให้ข้อมูลปัจจุบันตลาดยาบรรเทาปวดมีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 1,500-2,000 ล้านบาท หลัก ๆ จำหน่ายผ่านช่องทางร้านขายยา มูลค่าอยู่ที่ 1,000-1,200 ล้านบาท ที่เหลือเป็นช่องทาง โรงพยาบาล โดยมีแบรนด์หลัก ๆ คือ ไทลินอลของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน และซาร่าของไทยนครพัฒนา นอกจากนี้ยังมีแบรนด์อื่น ๆ ที่ใช้ชื่อพาราเซตามอลอีกหลายแบรนด์

"การที่โรงงานยาจะกลับมาผลิตใหม่เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ในแง่ของการติดตั้งเครื่องจักรอาจจะไม่ใช่ปัญหา แต่ที่จะต้องใช้เวลาก็คือ การตรวจสอบระบบมาตรฐานการผลิตต่าง ๆ ให้เป็นไปตามเกณฑ์หรือมาตรฐานผลิตยา สำหรับโรงงานของโอลิคคาดว่าจะสามารถเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตได้ในเร็ววันนี้"

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากยาแก้ปวดไทลินอล 500 มก.ที่ขาดตลาดแล้ว ยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่ขาดตลาด อาทิ ยาแก้เชื้อรา ดาคทาริน, แชมพูขจัดรังแค ไนโซรัล, ยาแก้ท้องเสีย อิโมเดียม เป็นต้น ส่วนสินค้าอื่น ๆ ที่ขาดตลาดแต่ก็อยู่ในสถานการณ์ที่คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นก็คือ สำลี และน้ำเกลือ ซึ่งสินค้าที่ขาดตลาดดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นยาที่ผลิตจากโรงงานที่ถูกน้ำท่วมเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 17 - 20 พ.ค. 2555