นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่าตามที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการแผนปฏิบัติการปฏิรูปประเทศไทยครอบคลุมผู้มีรายได้น้อยและด้อยโอกาส โดยเฉพาะสร้างระบบความคุ้มครองและหลักประกันสังคมให้กับแรงงานนอกระบบ สำนักงานประกันสังคมจึงได้ขยายความคุ้มครองประกันสังคมตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ขึ้น
โดยผู้ประกันตนตามมาตรา 40 จะได้รับความคุ้มครอง 4 กรณี ได้แก่กรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย และชราภาพ ที่สำคัญผู้ประกันตนสามารถสมัครโดยมีสิทธิถึง 2 ทางเลือกด้วยกันคือ ทางเลือกที่ 1 จ่ายเงินสมทบ 100 บาท/ เดือน ได้รับสิทธิประโยชน์ 4 กรณีคือ กรณีเจ็บป่วย นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลตั้งแต่ 2 วันขึ้นไปได้รับเงินชดเชยวันละ 200 บาท ไม่เกิน 20 วันต่อปี กรณีทุพพลภาพ มีหลายสิทธิ เช่น ได้รับเงินชดเชย 500 บาท/เดือน เป็นเวลา 15 ปี (เงื่อนไขการได้รับสิทธิคือภายในระยะเวลา 10 เดือน ก่อนทุพพลภาพส่งเงินสมทบมาแล้วอย่างน้อย 6 เดือน) ได้รับเงินชดเชย 650 บาท/ เดือน เป็นเวลา 15 ปี (เงื่อนไขการได้รับสิทธิคือภายในระยะเวลา 20 เดือน ก่อนทุพพลภาพส่งเงินสมทบมาแล้วอย่างน้อย 12 เดือน) ได้รับเงินชดเชย 800 บาท/เดือน เป็นเวลา 15 ปี (เงื่อนไขการได้รับสิทธิคือภายในระยะเวลา 40 เดือน ก่อนทุพพลภาพส่งเงินสมทบมาแล้วอย่างน้อย 24 เดือน) ได้รับเงินชดเชย 1,000 บาท/เดือน เป็นเวลา 15 ปี (เงื่อนไขการได้รับสิทธิคือภายในระยะเวลา 60 เดือนก่อนทุพพลภาพส่งเงินสมทบมาแล้วอย่างน้อย 36 เดือน) และหากผู้ทุพพลภาพตาย ผู้จัดการศพก็จะได้รับค่าทำศพ 20,000 บาท- กรณีตาย ได้รับค่าทำศพ 20,000 บาท (เงื่อนไขการได้รับสิทธิคือภายในระยะเวลา 12 เดือนก่อนตาย ส่งเงินสมทบมาแล้วอย่างน้อย 6 เดือน)
สำหรับทางเลือกที่ 2 จ่ายเงินสมทบ 150 บาท/เดือน ได้รับสิทธิประโยชน์ 3 กรณีแรกเช่นเดียวกับทางเลือกที่ 1 และได้รับเงินเพิ่มอีก 1 กรณีคือ กรณีชราภาพ ผู้ประกันตนจะได้รับเงินออมคืนเป็นเงินก้อน ขั้นต่ำ 50 บาท/เดือน ดอกผล เมื่ออายุครบ 60 ปี
สำหรับหลักเกณฑ์ของผู้สมัครคือ แรงงานต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ มีบัตรประจำตัวประชาชน และจะต้องไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ 39 สามารถสมัครได้ที่สำนักงานประกันสังคมทุกพื้นที่ หน่วยบริการเคลื่อนที่ หรือสมัครผ่านตัวแทนที่ได้รับการอบรมจาก สปส.สอบถามสายด่วนที่ 1506
อนึ่งแรงงานนอกระบบปัจจุบันมีมากกว่า 24 ล้านคน ซึ่งเป็นแรงงานที่ไม่ใช่ลูกจ้างในสถานประกอบการ เช่น กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน กลุ่มผู้ขับรถรับจ้าง แท็กซี่ รถตุ๊กตุ๊ก มอเตอร์ไซค์รับจ้าง รับจ้างทางการเกษตร หาบเร่แผงลอย คนทำงานบ้าน รับจ้างทั่วไป รวมถึงบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้ทำงานอยู่ในกลุ่มสาขาอาชีพต่างๆ สปส.อยู่ระหว่างทำประชาสัมพันธ์ดึงแรงงานนอกระบบเข้าสู่มาตรา 40 ตั้งเป้าราว 1.2 ล้านคน จากปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 600,000 คน เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ใน 2 ทางเลือก
ที่มา: นสพ.แนวหน้า วันที่ 13 พฤษภาคม 2555
- 3 views