นี่ไม่ใช่ครั้งแรก...และไม่ใช่ครั้งสุดท้ายแน่นอนที่เกิดขึ้นที่มาบตาพุด ตราบใดที่ระบบและมาตรการการป้องกันปัญหาอุบัติภัยในพื้นที่มาบตาพุดยังย่อหย่อนและไร้ประสิทธิภาพเช่นทุกวันนี้
เราต้องสังเวยชีวิตเพื่อนมนุษย์คนขายแรงงานในนิคมฯ ดังกล่าว และชาวบ้านในชุมชนโดยรอบกว่า 40 ชุมชน (ชุมชนมาบตาพุดและบ้านฉาง) มาอย่างต่อเนื่องเพียงเพื่อแลกเศษเงินจากนายทุนอุตสาหกรรม เพียงเพื่อคำสวยหรู "เพื่อการพัฒนาประเทศ"เพราะเป็นแหล่งอุตสาหกรรมต้นน้ำของอุตสาหกรรมทั้งหลายที่สร้างจีดีพี สร้างความเจริญให้กับคนทั้งประเทศ
แต่คนงานในโรงงาน ในนิคมฯ ต่างๆ ล้วนมีความเสี่ยง ไม่รู้ว่าวันใดจะเอาชีวิตไปทิ้งในโรงงานที่เต็มไปด้วยการโฆษณาชวนเชื่อว่ามีมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม มาตรฐานด้านความปลอดภัยถึงขั้นสูงสุด แม้มลพิษก็แทบจะเป็นศูนย์ แต่ชาวบ้านในชุมชนต่างๆ กลับป่วยตายก่อนวัยอันสมควร และมีสถิติของผู้ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ และโรคมะเร็งในลำดับต้นๆ ของประเทศ
แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบกลับออกมาให้ข้อมูลข่าวสารในทิศทางตรงกันข้ามว่า ไม่มีสารก่อมะเร็งในพื้นที่ดังกล่าว ถ้ามีก็ไม่เกินมาตรฐาน ล่าสุดเหตุการณ์โรงงานบีเอสทีฯ ระเบิด เมื่อวันที่5 พ.ค. 2555 ทำให้คนงานตายไปกว่า 12 คน บาดเจ็บกว่าร้อยคนเกิดมลพิษจากควันไฟของสารเคมีชนิดโทลูอีน(Toluene : สารเคมีนี้จัดเป็นสารเคมีอันตรายตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ชนิดที่ 3)คลุ้งกระจายไปทั่วนิคมฯ ตัวแทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกลับออกมาให้ข่าวหน้าตาเฉยว่า"ไม่มีสารก่อมะเร็ง" ทั้งๆ ที่โทลูอีนเป็นสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) อยู่ในกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง 19 ชนิด ตามประกาศของกรมควบคุมมลพิษ
สารดังกล่าวเมื่อเกิดการไหม้ไฟจะก่อและแพร่กระจายมลพิษออกมามากมาย ประกอบไปด้วย 1) ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) 2) ฝุ่นละอองรวม (TSP) 3) สาร Non Methane Hydrocarbon (NMHC) 4) สาร Methyl Tertiary Butyl Ether (MTBE) 5) สาร Total Hydrocarbon (THC) 6) สาร 1,3 บิวทาไดอีนซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง แต่ทำไมผู้แทนกรมควบคุมมลพิษ ผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ข่าวว่าไม่ใช่สารก่อมะเร็ง หรือไม่ทำให้ผู้สัมผัสหรือได้รับสารนี้เป็นมะเร็ง ซึ่งไม่แน่ใจว่าผู้ให้ข้อมูลจบการศึกษามาจากสถาบันใด เขาสอนมาเช่นนั้นหรือ หรือว่ารู้แต่แสร้งให้ข่าวอันเป็นเท็จเพราะมีนัยอื่นแฝงเร้นอยู่
ปกติอุบัติเหตุที่มาบตาพุด พอจบเรื่องก็เงียบหายไป ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเข้าโรงพยาบาลก็ใช้สิทธิบัตรทอง คนงานก็ใช้บัตรประกันสังคม เจ้าของโรงงานก็เลยลอยตัว ชาวบ้านอาจเข้าพักในโรงพยาบาลได้ไม่นาน เพราะเตียงไม่ค่อยพอ หมอมักให้รีบกลับบ้าน เมื่อฟ้องร้องเป็นคดีในศาล หลักฐานก็เหมือนอาการไม่หนัก แต่กลับมาอาจมีผลข้างเคียงอีกนานส่วนพวกผู้รับผิดชอบที่รีบแจ้นออกมาบอกสื่อว่าควบคุมได้ ปลอดภัยแล้ว และยังอ้างว่าตรวจสารพิษ ตรวจ VOCs แล้วไม่เกินค่ามาตรฐานคำถามคือ ตรวจสารพิษ ตรวจ VOCs ตัวใดจึงสรุปว่าไม่เกิน หรือ VOCs รวม เพราะค่ามาตรฐานที่กำหนดเป็นแบบรายตัว หรือการตรวจกระทำ ณ ที่ใด ถ้าตรวจเหนือลมก็ไม่ต้องเอามาพูด แต่ควรตรวจ ณ ชุมชนที่สั่งอพยพคนการสั่งให้ชาวบ้านกลับบ้านได้ น่าจะมีมาตรฐานมากกว่านี้ เพราะไม่ทราบจริงๆ ว่าใช้มาตรฐานใดมีข้อที่น่าสังเกตประการหนึ่งว่า มาบตาพุดน่าจะมีศูนย์พักพิงถาวรแล้วหรือยัง เมื่อเกิดเหตุจะได้ให้อพยพไปที่นั่น และกำหนดเส้นทางว่าอยู่ชุมชนไหน ให้ใช้เส้นไหน จราจรจะได้ไม่ติดขัด ทีภัยสึนามิเขายังทำกันได้และเป็นระบบดีแต่ที่มาบตาพุดเป็นนาทีชีวิต เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายทุกวินาที เพราะสารพิษเข้าทางลมหายใจ สูดเข้าร่างกายนิดเดียวก็สามารถทำให้หมดสติได้แล้ว แต่ทว่าเรื่องเหล่านี้ข้าราชการและนักการเมืองไม่น่าที่จะสนใจมากนัก
แบบนี้นี่เล่า การป้องกันและแก้ไขปัญหาในระยะสั้นและระยะยาวในการจัดการอุบัติภัยจากโรงงานอุตสาหกรรมจึงย่อหย่อนและไร้ประสิทธิภาพเช่นทุกวันนี้ โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงที่จะต้องจัดการและให้ความจริงกับประชาชน มาบิดเบือนข้อมูลที่แท้จริงอันควรแจ้งให้ประชาชนทราบเยี่ยงนี้แล้วสังคมไทยจะหันหน้าไปพึ่งพาใครได้
การที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และอีก5-6 นิคมฯ ที่อยู่โดยรอบพื้นที่ดังกล่าวจะอ้างว่ามีแผนความปลอดภัย แผนฉุกเฉิน แผนอพยพครบถ้วนสมบูรณ์อยู่แล้ว ซึ่งคงไม่มีใครเถียงว่าไม่มี แต่ไอ้ที่มีอยู่นั่นนะมันใช้การได้จริงหรือไม่ภาคปฏิบัติสามารถบริหารจัดการในเชิงป้องกัน(Precautionary Approach) ได้จริงหรือไม่ ที่สำคัญ ระบบการสื่อสารสู่ชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบมีประสิทธิผลเพียงใด คำตอบก็คือเหตุการณ์เมื่อวันที่5 พ.ค.ที่ผ่านมานั่นไง กว่าชาวบ้านจะรู้ กว่าจะมีการสั่งอพยพ กว่าจะรู้ว่าโรงงานดังกล่าวมีสารเคมีอะไร ก็ล่วงระยะเวลาไปกว่าชั่วโมงแล้ว นี่คือคำตอบของคำถามข้างต้น
โรงงานต่างๆ ในมาบตาพุดและใกล้เคียงส่วนใหญ่จะได้รับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมมาตรฐานแรงงาน มาตรฐานการผลิตที่มีคุณภาพ (ISO 14001, ISO/OHSAS 18001 และ ISO 9001) กันแทบทั้งสิ้น แต่ตั้งแต่จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและใกล้เคียงมากว่า 30 ปี เราก็มักจะเห็นปัญหาแก๊สรั่ว สารเคมีระเบิด ไฟไหม้โรงงาน รถบรรทุกสารเคมีคว่ำ ฯลฯ อยู่เนืองๆ ในพื้นที่นิคมฯ ต่างๆดังกล่าว จึงอาจกล่าวได้ว่ามาตรฐานหรือใบรับรองคุณภาพต่างๆ ดังกล่าวถูกฝรั่งมันหลอกให้เสียเงินมาจัดวางระบบไปโดยเปล่าประโยชน์แต่ก็อาจจะพอมีประโยชน์อยู่บ้าง เพราะสามารถใช้หลอกชาวบ้าน คนงานบ้านนอก และเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่ชอบทำงานเช้าชามเย็นชามได้
เมื่อปี2552 สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนได้ร่วมกับชาวมาบตาพุด 43 ราย ทำการฟ้องร้องหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานให้เข้มงวดต่อการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อดูแลปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ จนศาลปกครองมีคำสั่งหรือคำพิพากษาตามฟ้อง จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เข้มงวดกันมาระยะหนึ่งแล้ว แต่พอเหตุการณ์ได้ทุเลาเบาบางลง ปัญหาเดิมๆ ก็กลับมาอีกครั้ง และดูเหมือนจะรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งๆ ที่ทุกหน่วยงานต่างยืนยันว่ามีความพร้อม มีแผน มีมาตรการที่เข้มงวดในการตรวจสอบ และบังคับใช้ชัดเจนแล้ว
แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาคือ คนงานตายไปกว่า12 คน บาดเจ็บไปกว่าอีก 140 คน และชาวบ้านในชุมชนโดยรอบต้องนอนหวาดผวาไปอีกนาน นั่นหรือคือคำตอบของ กนอ. และกระทรวงอุตสาหกรรม
อันที่จริงโรงงานเหล่านี้ควรมีมาตรการที่เข้มงวด หากก่อให้เกิดอุบัติภัย ทำให้คนงานหรือชาวบ้านเสียชีวิตแม้เพียงคนเดียว ต้องสั่งปิดโรงงานนั้นๆ เลย และไม่ให้มาประกอบกิจการประเภทนั้นขึ้นมาอีก เป็นการให้แบล็กลิสต์ไปเลย เพราะถือว่าไม่มีความสามารถ ย่อหย่อนต่อการบังคับใช้ให้เป็นไปตามมาตรการหรือแผนที่เขียนไว้ กำหนดไว้โดยชัดแจ้งแล้ว เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อผู้ประกอบการโรงงานอื่นๆได้ใช้เรียนแบบได้อีกต่อไป
เรื่องนี้สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนได้มีจดหมายนำเรียนไปยังผู้บริหาร กนอ. รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ดำเนินการแล้ว แต่หาก 2 หน่วยงานดังกล่าวยังเพิกเฉย ก็เห็นทีต้องใช้มาตรการทางศาลเพื่อหาข้อยุติที่ชัดเจนว่าระหว่างทุนนิยมอุตสาหกรรมที่ย่อหย่อนต่อการป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้น กับความเดือดร้อนและเสียหายของชาวบ้าน สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ศาลจะให้คำตอบว่าอย่างไร อย่างน้อยจะได้เป็นบรรทัดฐานให้กับสังคมได้เรียนรู้กันต่อไปในอนาคต
มาบตาพุดในวันนี้บอบช้ำมามากและเป็นเวลานานแสนนานแล้ว กลายเป็นเมืองที่แวดล้อมไปด้วยมลพิษจากนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมหนักขนาดใหญ่อันดับหนึ่งของประเทศ อันเกิดจากวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในกาลอดีต ทำให้ประเทศชาติได้รับอานิสงส์สร้างความเจริญ และความอิ่มหมีพีมันในกลุ่มข้าราชการและนักการเมืองที่เกี่ยวข้องมานับครั้งไม่ถ้วน สร้างความร่ำรวยให้กับผู้ประกอบการ นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์กันทั่วหน้า
แต่อนิจจา คนมาบตาพุดดั้งเดิม ณ วันนี้แทบจะสูญหายน้อยลงไปทุกที กลายเป็นเมืองที่มีแต่คนต่างถิ่น และเท่าที่มีอยู่ก็ยากจนลงไปทุกวัน เงินทองที่เคยได้จากการเวนคืนที่ดินโดยไม่เต็มใจ หรือต้องขายที่ขายทางให้โรงงานก็พลอยร่อยหรอลงไปทุกวัน เพราะเศรษฐกิจในมาบตาพุดแม้จะดูคึกคัก แต่ทุกอย่างราคาก็แพงไปหมดทุกอย่าง เพราะต้องคอยแย่งกันกินแย่งกันใช้กับมนุษย์เงินเดือน แต่สำหรับชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ที่ไม่มีรายได้ประจำ ไม่ได้เป็นคนงานขายแรงงานในโรงงาน แต่ก็ต้องมาอยู่ในสังคมที่มีสภาพค่าครองชีพที่สูงร่วมกับกลุ่มมนุษย์เงินเดือนด้วย แถมซ้ำร้ายต้องคอยเงี่ยหูฟังว่าวันนี้จะถูกสั่งให้อพยพหนีแก๊สพิษ...หนีโรงงานระเบิด...อีกหรือไม่... แต่นักการเมือง-ข้าราชการกลับบอกว่า "เอาอยู่ค่ะ" ทุกอย่างไม่เกินมาตรฐานครับ... m
มาบตาพุดในวันนี้บอบช้ำมามากและเป็นเวลานานแสนนานแล้วกลายเป็นเมืองที่แวดล้อมไปด้วยมลพิษจากนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมหนักขนาดใหญ่อันดับหนึ่งของประเทศ อันเกิดจากวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในกาลอดีต ทำให้ประเทศชาติได้รับอานิสงส์สร้างความเจริญ และความอิ่มหมีพีมันในกลุ่มข้าราชการและนักการเมืองที่เกี่ยวข้องมานับครั้งไม่ถ้วน สร้างความร่ำรวยให้กับผู้ประกอบการ นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์กันทั่วหน้า
- 259 views