รพ.ศูนย์ และ รพ.ทั่วไปลุกคัดค้าน สปสช.ใช้ดีอาร์จีฉบับ 5 เพราะมีผลกระทบมาก รพ.ต้องลดรายจ่าย-คุณภาพการรักษา ร้องศึกษาข้อดี-ข้อเสียก่อนใช้ "วิทยา" เผยสำนักงบฯ เห็นชอบคงงบบัตรทอง 2,755.60 บาทต่อคน
พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์ รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป (สพศท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ใน วันที่ 14 พ.ค.นี้ ซึ่งมีนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน ทาง สพศท.ได้ขอให้ทางบอร์ด สปสช.พิจารณาทบทวนการปรับเกณฑ์การคิดค่ารักษาพยาบาลตามรายโรค หรือดีอาร์จี ฉบับที่ 5 ใหม่ เนื่องจากเป็นฉบับที่ไม่เพียงสร้างผลกระทบให้กับสถานพยาบาล แต่ยังกระทบต่อผู้ป่วยอย่างมาก เนื่องจากเป็นการปรับลดการจ่ายค่ารักษาลงจากเดิม ส่งผลให้สถานพยาบาลต้องจำกัดการรักษาเพื่อลดค่าใช้จ่ายตามไปด้วยซึ่งที่ผ่านมา รพ.ต่างๆ ได้คัดค้านการใช้ดีอาร์จีฉบับดังกล่าวและขอให้ใช้ฉบับเดิม พร้อมกับทำเรื่องเสนอมายัง สธ.ก่อนหน้านี้ ซึ่งทาง นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ. ระบุว่า จะหารือนอกรอบกับทางผู้บริหาร สปสช. ในวันที่ 10 พ.ค.นี้ก่อน
พญ.ประชุมพรกล่าวว่า การจัดทำดีอาร์จีของทาง สปสช.ในครั้งนี้เปรียบเหมือนกับการฆาตกรรมหมู่ เพราะไม่ได้ส่งผลต่อสถานพยาบาลและผู้ป่วยในระบบ สปสช.เท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสถานพยาบาลและผู้ป่วยในระบบประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการด้วย โดยเฉพาะในระบบประกันสังคมที่จ่ายค่ารักษาตามดีอาร์จี แยกระหว่างกลุ่มโรคที่มีค่าดีอาร์จีไม่เกิน 2 และที่ค่าดีอาร์จีต่ำกว่า 2 ดังนั้นที่ผ่านมา รพ.ที่เป็นคู่สัญญากับทางประกันสังคมจึงออกมาเคลื่อนไหวรวมไปถึง รพ.เอกชน
"ในการประชุม สพศท.ที่ผ่านมา เมื่อผอ.รพ.ชลบุรีเข้าร่วมรับทราบการกำหนดค่าดีอาร์จีฉบับใหม่ถึงกับลุกขึ้นเลยทีเดียว เพราะ รพ.ชลบุรีมีผู้ป่วยประกันสังคมมากถึง 150,000 คน ส่วนบัตรทองและสวัสดิการข้าราชการมีไม่มาก หากมีการใช้ดีอาร์จีฉบับใหม่ รพ.ชลบุรีคงต้องแย่แน่ ส่วน รพ.ที่ดูแลข้าราชการ อย่างกลุ่ม รร.แพทย์ คงยังไม่ทราบเรื่องนี้จึงยังไม่มีการเคลื่อนไหว"ประธาน สพศท.กล่าว และยกตัวอย่างอีกว่า การคิดค่ารักษาโรคไส้ติ่ง หากเป็นฉบับเดิมจะอยู่ที่ 1.48 แต่ฉบับใหม่ลดลงไปอยู่ที่ 1.25 ขณะที่ในกรณีที่เป็นไส้ติ่งแตก ฉบับเดิมจะอยู่ที่ 3.7 แต่ฉบับใหม่กลับลดลงเหลือแค่ 1.95 มีเพียง 2-3 โรคเท่านั้น ที่ปรับดีอาร์จีเพิ่มคือมะเร็งลำไส้ใหญ่ และหูน้ำหนวก นอกนั้นปรับลดหมด ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม เป็นต้น
ด้าน นพ.ประเสริฐ ขันเงิน ผอ.พุทธชินราช ในฐานะประธานชมรม รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป (รพศ.รพท.) กล่าวว่า การที่ สปสช.ประกาศใช้เกณฑ์ดีอาร์จีฉบับที่ 5 มีหลายกลุ่มโรคที่ถูกลดงบประมาณลง เช่น ไส้ติ่งอักเสบ ลดลงเกือบ 50% ในขณะที่ที่ผ่านมาทาง รพ.ก็แบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่มากอยู่แล้ว จึงส่งผลให้ รพ.ต้องหาทางประหยัดค่าใช้จ่ายเข้าไปอีก ด้วยการลดประสิทธิภาพในการรักษาประชาชนลง ดังนั้น ตนจึงได้ส่งหนังสือถึงปลัด สธ.เพื่อพิจารณาคัดค้านการใช้ระบบดังกล่าว หรือว่าให้ชะลอการใช้ออกไปเพื่อให้มีการศึกษาผลกระทบที่ชัดเจนด้านข้อดี-ข้อเสีย
นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สธ. ยังให้สัม ภาษณ์ถึงการพิจารณางบประมาณเหมาจ่ายรายหัวบัตรทอง ปี 2556 ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 8 พ.ค. ไม่มีการหารือเรื่องนี้แต่เบื้องต้นสำนักงบฯ เห็นชอบให้คงไว้ในอัตรา 2,755.60 บาท ซึ่งเท่ากับอัตราเดิมเมื่อปีที่แล้วที่ถูกปรับลดลงมาหลังน้ำท่วม
ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ตนยังไม่ทราบรายละเอียดล่าสุดเรื่องการปรับงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวไว้ที่อัตรา 2,755.60 บาท หากได้ตัวเลขที่แท้จริงมาแล้วจะต้องนำเข้าที่ประชุมบอร์ด สปสช.อย่างแน่นอน ว่าหลังจากถูกปรับลดงบประมาณแบบนี้แล้วจะทำอย่างไรกันต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 9 พฤษภาคม 2555
- 5 views