เผยแพร่ครั้งแรก เอเอสทีวีผู้จัดการสุดสัปดาห์ วันที่ 19-25 มีนาคม 2554 หน้าที่ 28

หมอไม่มีจรรยาบรรณ...
รอรักษาช้า...
ยาไม่ได้คุณภาพ...
นี่คือภาพสะท้อนของปัญหาประกันสังคมไทยที่ผู้ประกันตนร้องเรียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า รวมกลุ่มชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตนยืนยันสิทธิไม่เป็นธรรมร่วมกันหาทางออกที่ดีกว่า

"เมื่อรักษาแบบนี้ไม่ต้องมีจะดีกว่า" เป็นคำพูดของผู้ใช้การรักษาพยาบาลในระบบประกันสังคม จากการที่ผู้ประกันตนมีการร้องเรียนเป็นจำนวนมาก ทั้งในเว็บบอร์ด และผ่านสายด่วน1506 สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน ถึงความไม่มีมาตรฐานด้านการรักษาทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานการตรวจรักษา การจ่ายยา การวินิจฉัยโรคของแพทย์และระยะเวลาของการพบแพทย์เพื่อตรวจในโรงพยาบาลที่ได้ให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนโดยใช้บัตรประกันสังคมในการเข้ารับการรักษานั้น จึงกลายเป็นคุณภาพที่ต่ำกว่าระบบอื่นทั้งที่บุคคลเหล่านี้ซึ่งต่างก็เป็นมนุษย์เงินเดือนต้องแบ่งจ่ายถึง 5%ของรายได้ให้แก่ประกันสังคม เพื่อหวังที่จะได้รับการรักษาที่ดีแต่เมื่อไม่เป็นไปอย่างที่คิดจึงไม่ผิดที่ประชาชนหลายต่อหลายคนจะออกมาเรียกร้องถึงความเป็นธรรมที่ตนควรได้รับ

สิทธิประโยชน์ที่แตกต่าง

สิทธิประโยชน์ตามหลักประกันสังคมนั้น ได้แจกแจงประโยชน์การรับการรักษาพยาบาลต่างๆ ให้แก่ผู้ประกันตน แต่ที่ผ่านมานั้นผู้ประกันตนกลับรู้สึกถึงความด้อยของมาตรฐาน

การรักษา และไม่รู้สึกพิเศษไปกว่าผู้ใช้บัตรทองที่ไม่ต้องเสียค่าเบี้ยใดๆ ในทุกครั้งที่เข้ารับการรักษาพยาบาล เมื่อเทียบกับผู้ประกันตนที่ต้องจ่ายทุกเดือนโดยหักเป็นเปอร์เซ็นต์จากฐานเงินเดือนที่ได้ เพื่อแบ่งจ่ายเป็นค่าเบี้ยประกันสังคม เมื่อมองอีกนัยหนึ่งเสมือนเป็นการบังคับจ่าย โดยที่การรักษาพยาบาลก็ไม่ได้ดีไปกว่ากันเลย และบางสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ได้พัฒนาระบบการแพทย์ขึ้นมาเทียบเท่าหรือเหนือกว่าด้วยซ้ำ

จากการที่นพ.กำพล พลัสสินทร์ประธานชมรมโรงพยาบาลเพื่อการพัฒนาระบบประกันสังคม ได้ทำข้อมูลเปรียบเทียบระบบประกันสังคม (สปส.) กับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) โดยมีหัวข้อเอกสารว่า "ระบบประกันสังคม(สปส.) ด้อยกว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจริงหรือ" ซึ่งประธานชมรมโรงพยาบาลเพื่อการพัฒนาระบบประกันสังคม ได้นำเสนอข้อมูลเปรียบเทียบการบริการของระบบ สปส.กับระบบบัตรทอง อาทิ

1.) ระบบประกันสังคมสามารถเลือกหน่วยพยาบาล รพ.ขณะที่บัตรทองส่วนใหญ่เลือกได้แต่ รพ.ของรัฐเท่านั้น 2.)รพ.และคลินิกที่มีแพทย์คู่สัญญา สปส.มีแพทย์มาตรฐาน และมีเครือข่าย รพ.ที่มีศักยภาพสูง มีระบบส่งต่อที่ชัดเจน เช่นรพ.แพทย์ทั้งหมด สถานพยาบาลคู่สัญญาต้องมี 100 เตียงขึ้นไป ประกอบด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 14 สาขา และบุคลากรที่พร้อมขณะที่ระบบบัตรทองเป็นคลินิกชุมชนจะมีหรือไม่มีแพทย์ก็ได้โดยใช้ระบบส่งต่อ 3.) การส่งต่อในระบบ สปส.มีไม่มาก เนื่องจากรพ.คู่สัญญา มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญครบทุกสาขา รักษาแบบ one stop service ยกเว้นบางรายในโรคที่ซับซ้อนจะส่งต่อไป รพ.ที่มีศักยภาพสูงกว่าที่ยินดีรับรักษาต่อเพราะรับค่ารักษาเป็น free for service ไม่ใช่แบบเหมาจ่าย 4.) เจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาที่ไหนก็ได้ 2 ครั้ง/ปี ปัจจุบันไม่จำกัดจำนวนครั้ง ผู้ป่วยนอก 1,000 บาท/ครั้ง ผู้ป่วยใน 2,700 บาท/วัน ถ้านอน ICU 4,500 บาท/วัน ภายในระยะเวลา 72 ชม.ไม่รวมวันหยุด กรณีต้องผ่าตัดเบิกได้ 8,000-16,000 บาท ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ารักษาไม่จำกัดจำนวนครั้ง ผู้ป่วยนอก 700 บาท/ครั้ง ผู้ป่วยใน4,500 บาท/วัน กรณีต้องผ่าตัดเบิกได้ 8,000-14,000 บาท ถ้าหาเตียงไม่ได้ภายใน 24 ชม.จะรับผิดชอบตามจริง ไม่จำกัดจำนวนครั้ง และ 5.) ระบบประกันสังคมให้การดูแลผู้ป่วยโรคไต หากกรณีไตวายเฉียบพลันดูแล 60 วัน หลังจากนั้นก็เป็นไตวายเรื้อรัง (chronic) ก็เบิกขอฟอกด้วยเครื่องถาวรได้ เป็นต้น

นายปั้น วรรณพินิจเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ได้ออกหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีการรักษาพยาบาลในระบบประกันสังคม เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งทางสำนักงานประกันสังคมได้มีการพัฒนาขยายสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นในการปลูกถ่ายอวัยวะ ได้แก่ การปลูกถ่ายไขกระดูก การปลูกถ่ายอวัยวะกระจกตา การปลูกถ่ายไต ซึ่งการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนไม่ได้มีการเพิ่มอัตราเงินสมทบแต่อย่างใดนอกจากนี้มีสิทธิ์ได้รับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลที่เลือก โดยไม่จำกัดจำนวนครั้งและจำนวนเงิน

ตอนนี้ประเด็นไม่ได้อยู่ตรงที่ว่า ประกันสังคมหรือบัตรทองจะมีอะไรมากกว่ากัน? แต่สิ่งที่ผ่านมาที่ได้เห็นและเป็นอยู่ คือด้านการบริการทางการแพทย์ของระบบประกันสังคม ที่ในปัจจุบันมาตรฐานการรักษาพยาบาลของประกันสังคมไม่เทียบเท่าบัตรทอง โดยเฉพาะด้านสิทธิประโยชน์ที่ระบบประกันสังคม(สปส.) ไม่คุ้มครอง ขณะที่ระบบบัตรทองให้การดูแลคือ การจ่ายยาเสพติดเมธาโดน การให้การรักษากรณีฆ่าตัวตาย การดูแลพักฟื้นแบบพื้นบ้าน การให้ยาต้านแก่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีซึ่งไม่ร่วมยาอะทัสนามีเวียร์ การเบิกค่าพักรักษาต่อเนื่องใน รพ.ไม่จำกัดเวลา และความเสียหายที่เกิดจากบริการทางการแพทย์

เงินสมทบภาครัฐที่ไม่เป็นธรรม

ปัญหาความเหลื่อมล้ำของระบบบริการสาธารณสุขยังคงมีให้เห็นอยู่ในสังคมไทย อันเกิดจากการแบ่งของระบบชนชั้นในการให้สิทธิที่ไม่เสมอภาค ระหว่างข้าราชการและประชาชนทั่วไปโดยแบ่งเป็นผู้ประกันตนและผู้ใช้บัตรทอง ซึ่งรัฐได้ให้เงินอุดหนุนในการรักษาพยาบาลอย่างไม่ยุติธรรมเมื่อเทียบกับสัดส่วนของจำนวนคน จึงเป็นช่องว่างให้เกิดการเข้าถึงการรับบริการทางการแพทย์ที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

ในปี 2553 ภาระงบประมาณสำหรับค่ารักษาพยาบาลของระบบประกันสุขภาพต่างๆ ทั้ง 3 ระบบนั้น สิ่งที่เห็นอย่างชัดเจน คือข้อเสียเปรียบของผู้ประกันตนที่ต้องเสียเงินเพื่อให้ได้สิทธิ์ในการรักษาพยาบาล ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ประกันตนอยู่ในระบบ 9.4 ล้านคน และคนทั้งหมดต้องเสียเบี้ยให้ประกันสังคมทุกเดือน (5% ของเงินเดือนซึ่ง 1.5% เกี่ยวกับสุขภาพ) ขณะที่ผู้ใช้บริการบัตรทองมีสิทธิการรักษาฟรี และสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการไม่จำกัดเช่นกัน ซึ่งมีคนอยู่ในระบบ 4.9 ล้านคนแต่รัฐอุดหนุนเงินค่ารักษาพยาบาลสูงถึง 62,195 ล้านบาทต่อปี ส่วนสิทธิหลักประกันถ้วนหน้าหรือสิทธิรักษาฟรี มีอยู่ในระบบ 47.7 ล้านคน รัฐอุดหนุนเงิน 120,846 ล้านบาทต่อปี และสำนักงานประกันสังคม มีคนอยู่ในระบบ 9.4 ล้านคนแต่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐเพียง 7,490.62 ล้านบาทต่อปี ใช้เงินเพียง 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด (22,471.68 ล้านบาท) จะเห็นได้ว่าสัดส่วนจำนวนคนไม่สอดคล้องกับเงินที่รัฐอุดหนุนในการรักษาพยาบาล

ดร.นพ.พงศธร พอกเพิ่มดีนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ให้ความเห็นว่า สำนักงานประกันสังคมได้รับเงินสมทบจาก 3 ส่วนด้วยกันคือ ผู้ประกันตน, นายจ้าง และรัฐบาลจึงมีเพียงผู้ประกันตนเพียงกลุ่มเดียว ที่จะต้องจ่ายสมทบในการรักษาพยาบาล ขณะที่คนอื่นๆ กว่า 55 ล้านคนไม่ต้องจ่าย รัฐบาลเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด จึงเกิดคำถามสำหรับความไม่เป็นธรรมโดยเฉพาะผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมต่อรัฐบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องว่า ทำไมผู้ประกันตนจึงเป็นคนเพียงกลุ่มเดียว ที่จะต้องจ่ายสมทบในการรักษาพยาบาลหรือเจ็บป่วยต่างๆ ขณะที่คนอื่นๆ ไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล แม้แต่บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิที่กำลังรอพิสูจน์สัญชาติยังได้รับสิทธิด้านรักษาพยาบาล โดยไม่ต้องร่วมจ่ายเช่นเดียวกับผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม

จรรยาบรรณหมอหายไปไหน?

เมื่อจรรยาบรรณของแพทย์ขึ้นอยู่กับเงิน นั่นก็หมายความว่าหมอมองผู้ป่วยไม่ต่างอะไรกับลูกค้าที่เข้ามารับบริการในโรงพยาบาล โดยมีสำนักงานประกันสังคมเป็นผู้ควบคุมดูแล ดังนั้นขอบเขตการรักษาพยาบาลจึงเท่ากับจำนวนเงินต่อหัวที่ได้รับ นั่นคือ 2,105 บาทต่อปี หรือ 175 บาทต่อเดือน มาเป็นค่าหมอค่ายา ค่าเครื่องมือแพทย์ ในจำนวนเงินที่จำกัดคงต้องประหยัดกันมาก ทั้งเวลาในการรักษาและค่าสึกหรอของอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ แต่อย่าลืมไปว่าอีกส่วนหนึ่งยังมีผู้ประกันตนที่ไม่เคยได้ใช้สิทธิ์ประกันสังคมจึงถือเป็นกำไรของ รพ. ซึ่งหมอไม่ได้คำนึงแค่จริยธรรมทางการแพทย์ที่มุ่งแต่รักษาผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงค่าใช้จ่ายและรายรับด้วย แล้วประชาชนตาดำๆ อย่างผู้ใช้บัตรประกันสังคมจะทำอย่างไร?

นี่คืออีกหนึ่งกรณีที่ผู้ประกันตนเกิดการร้องเรียนผ่านเว็บบอร์ดเพจหนึ่งบนหน้าเว็บไซต์ เมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรมในระบบการรักษาพยาบาล ซึ่งเป็นตัวอย่างที่สะท้อนมาตรฐานความไม่เท่าเทียมกัน และความไม่มีคุณภาพในชีวิตของผู้ใช้ระบบประกันสังคม

"ผมได้ไปตรวจที่โรงพยาบาลศิครินทร์เมื่อวันที่ 1 เมษายน2553 ที่ผ่านมา โดยใช้สิทธิ์ประกันสังคม หมอผู้ตรวจคนแรกแจ้งว่า เป็นไส้เลื่อนต้องผ่าตัด และได้ออกหนังสือรับรองการป่วยให้ หลังจากนั้นได้นัดให้มาอีกครั้งในวันที่ 22 เมษายน 2553 เมื่อถึงวันนัดคืนก่อนหน้านั้นก็ได้งดน้ำงดอาหารและเตรียมตัวไปเพื่อรับการผ่าตัด เมื่อไปถึงก็ได้ถูกส่งตัวไปหาหมอเฉพาะทางอีกคนหนึ่ง และได้ทำการตรวจซ้ำอีก สุดท้ายก็แจ้งว่าต้องผ่าตัดให้ไปติดต่อกับทางพยาบาลเรื่องการผ่าตัด พยาบาลก็ส่งเรื่อง

ต่อให้ไปพบเจ้าหน้าที่ของประกันสังคมที่อยู่ที่นั่น เรื่องการนัดวันผ่าตัด (เนื่องจากใช้สิทธิ์ประกันสังคม) แต่เจ้าหน้าที่ท่านนั้นก็บอกว่า ต้องหาวันนัดผ่าอีกที เมื่อถามว่าแล้วเมื่อไหร่ ก็ตอบมาว่าต้องถามกับอีกคนที่มีอำนาจตัดสินใจ แต่ตอนนี้ติดประชุมอยู่ ตั้งแต่เช้า สาย และก็บ่ายไม่แน่ใจว่าประชุมจริง หรือหลบกันแน่ และก็ไม่มีใครตอบได้ว่าจะได้ผ่าตัดเมื่อไหร่ เงียบกันไปทั้งพยาบาลและเจ้าหน้าที่ ให้เหตุผลแต่เพียงว่าคิวผ่าตัดเยอะ

ต้องรอคิว และจะผ่าคิวที่อันตรายๆ ก่อน

จากวันนั้นเราก็รอมาประมาณ 3 อาทิตย์เพื่อจะได้ผ่าตัดให้หายๆ ซะที แต่ก็ได้รับการบ่ายเบี่ยง จึงถามกลับไปว่าถ้าจะจ่ายเงินค่าผ่าตัดเองล่ะ จะผ่าได้เมื่อไหร่ คราวนี้เหมือนปล่อยไก่ตัวน้อยเข้าไปฝูงหมาขี้เรื้อนที่หิวโหย จะผ่าเดี๋ยวนั้นก็ยังได้ สรุปก็ได้ผ่าตัดเป็นวันถัดไป ยังพูดให้ช้ำใจอีกว่าเดิมจะได้เป็นคิวที่ 3 แต่จะลัดให้เป็นคิวที่ 2 ส่วนค่าผ่าตัดก็จะลดพิเศษให้ (หรือแพงพิเศษไม่แน่ใจ) จากเดิมประมาณ 50,000 บาท ลดเหลือไม่เกิน 35,000 บาท สรุปแล้วเสียค่าใช้ในจ่ายผ่าตัด 35,000 บาทตอนนี้ผ่าตัดเรียบร้อยและวันที่ไปล้างแผลก็โดนไปอีก 700 บาทมีเพื่อนที่เคยทำงานเกี่ยวกับโรงพยาบาลเอกชนมาก่อนเล่าให้ฟังว่ามันเหมือนกับเป็นเทคนิคของทางโรงพยาบาล ที่จะพยายามโยกโย้ ถ่วงเวลาไปเรื่อยๆ จนคนไข้ทนไม่ไหวและต้องกัดฟันจ่ายเงินเอง

เรื่องที่เล่ามานี้อยากจะร้องเรียนว่า ในเมื่อไม่อยากรับคนไข้ประกันสังคม จะด้วยเพราะได้เงินน้อยกว่าหรือไรก็แล้วแต่ก็ไม่ควรเข้าร่วมโครงการแต่แรก เมื่อรับคนไข้ประกันสังคมแล้วก็ไม่ควรจะมี 2 มาตรฐานแบบนี้หรือจะทำก็ทำให้เนียนๆหน่อย เช่นเมื่อจะจ่ายเงินเองก็นัดไปอีก 3-4 วัน ทำให้ดูเหมือนคิวแน่นจริงๆ แต่นี่พอจะจ่ายเงินเอง คิวดันว่างขึ้นมาทันทีแล้วเจ้าหน้าที่ประกันสังคมที่ประจำอยู่ที่นั่นก็ควรหาคนที่มีความรับผิดชอบ และทำงานจริงๆ ไปประจำ ไม่เข้าใจเลยว่าทำไมต้องประชุมกันทั้งวัน"

จากกรณีศึกษาการร้องเรียนของผู้ประกันตนข้างต้น ทำให้รู้สึกสลดหดหู่กับการบริการรักษาพยาบาลในระบบประกันสังคมอย่างมาก ความล่าช้าของการรักษาอันเนื่องมาจากการดำเนินการในระบบ สิ่งที่ผู้ใช้สิทธิ์ประกันสังคมได้รับคือการรออย่างไม่มีกำหนด และไม่ทราบว่าจะได้รับการรักษาเมื่อไหร่ แต่เมื่ออำนาจเงินเข้ามาระบบก็ขับเคลื่อนทันที แล้วอย่างนี้จะมีสิทธิประกันสังคมไว้ทำไม?

ปัญหาช่องทาง (สูญ) ร้องเรียน

ผู้ประกันตนร้องเรียนการรับบริการทางการแพทย์ไม่ได้เนื่องจากเกิดปัญหาของช่องทางการร้องเรียน โดยผ่านทางสายด่วนของ สปส. 1506 จึงหันมาพึ่งสายด่วน สปสช.แทน และใน5 ปีที่ผ่านมาพบยอดตัวเลขผู้ร้องเรียนบางปีสูงถึง 4,000 รายเลยทีเดียว ยอดตัวเลขดังกล่าวจึงสะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบประกันสังคม

นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า กรณีที่ผู้ประกันตนโทรศัพท์ไปยังสายด่วนประกันสังคม 1506 แล้วเจ้าหน้าที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ได้จึงต้องไปร้องเรียนกับช่องทางของสิทธิบัตรทองแทน ซึ่งเรื่องร้องเรียนได้แก่ การส่งเงินไม่ครบ 7 เดือนกรณีตั้งครรภ์เนื่องจากประกันสังคมมีการกำหนดเรื่องเวลาในการใช้สิทธิประโยชน์ได้นั้นต้องส่งเงินสมทบครบตามเงื่อนไข ส่วนเรื่องผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ถ้าเป็นไตวายมาก่อนเข้าเป็นสมาชิกประกันสังคมจะไม่สามารถเบิกค่ารักษาได้ อีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการทันตกรรมสามารถเบิกได้ครั้งละ 300 บาท ไม่เกิน 2 ครั้งต่อปี ซึ่งเป็นการจำกัดจำนวนครั้งและจำนวนเงินที่เบิกได้ในอัตราที่ต่ำมากนอกจากนี้ยังร้องเรียนถึงสิทธิประโยชน์ไม่ครอบคลุม เช่น กรณีการฆ่าตัวตาย การรักษาจิตเวช ภาวะแท้งบุตร การรักษาด้านกายภาพ การรักษาเป็นผู้ป่วยในเกิน 180 วัน การพิการตั้งแต่กำเนิดต้องใส่ขาเทียม การดูแลผู้ป่วย การเยี่ยมบ้าน รวมถึงมาตรฐานการรักษาพยาบาล ความต่อเนื่องของการรักษาโรคเรื้อรัง เช่น โรคเอดส์ และปัญหาการใช้สิทธิกรณีอุบัติเหตุจากการทำงาน เป็นต้น

"จำนวนผู้ร้องเรียน สปส. ประมาณ 4,000 คนนั้น แสดงถึงโครงสร้างของระบบประกันสังคมด้านการบริหารจัดการมีปัญหา และไม่มีกลไกในการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐาน เมื่อเทียบกับระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งมีความเป็นอิสระ มีส่วนร่วมในทุกระบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกำหนดสิทธิประโยชน์ การตรวจสอบคุณภาพมาตรฐาน รวมถึงเมื่อเข้าใช้บริการแล้วเกิดความเสียหายขึ้นจากการรับบริการก็จะมีกองทุนช่วยเหลือเบื้องต้นเพื่อชดเชยในความเสียหายที่เกิดขึ้น

ตอนนี้เชื่อว่าหลายคนที่เป็นผู้ประกันตน อยากเลิกใช้สิทธิ์บัตรประกันสังคมและมาใช้บัตรทองแทน ตรงนี้จึงอยากให้ระบบสุขภาพมีมาตรฐานเดียวกัน รัฐต้องรับผิดชอบทั้งหมดเหมือนกันทั้ง 65 ล้านคน มีการรักษาพยาบาลเป็นมาตรฐานเดียวกันโดยไม่ยกเว้นเฉพาะผู้ประกันตน 9.4 ล้านคนเท่านั้น"นางสาวสุภัทรากล่าว

ขณะนี้ได้มีการจัดตั้งชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน เพื่อผลักดันผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม เข้าสู่ระบบสุขภาพมาตรฐานเดียวกัน เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตนออกมาเคลื่อนไหวปฏิรูประบบสุขภาพให้มีมาตรฐานเดียว เพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นในมาตรฐานหลายระบบที่มีอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น จึงออกมาเรียกร้องให้รื้อระบบประกันสังคมใหม่ โดยในวันที่ 1 พฤษภาคมจะหยุดจ่ายเงินสมทบในส่วนการรักษาพยาบาล เพื่อความเป็นธรรมของกลุ่มผู้ประกันตนและให้หลักประกันสุขภาพเท่าเทียมทั้งสังคม.