ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายต้านยาสูบ เล็งดึง ปท.สมาชิก 'เอฟซีทีซี' ร่วมผลักดัน 'กม.ขยายภาพคำเตือน' บนซองบุหรี่ หลังศาลปกครองสั่งชะลอชั่วคราว ชี้รับไม่ได้ธุรกิจแทรกแซงนโยบายกฎหมาย

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม น.ส.บังอร ฤทธิภักดี เครือข่ายควบคุมการบริโภคยาสูบในอาเซียน (SEATCA) กล่าวถึงกรณีศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแสดงรูปภาพ ข้อความคำเตือนเกี่ยวกับพิษภัย และช่องทางติดต่อเพื่อการเลิกยาสูบในฉลากของบุหรี่ ซิกาแร็ต พ.ศ.2556 ซึ่งจะมีผลบังคับให้บุหรี่ทุกชนิดที่จำหน่ายในประเทศต้องขยายภาพ คำเตือนจากร้อยละ 55 เป็นร้อยละ 85 ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2556 ไว้เป็นการชั่วคราวว่า ประเทศสมาชิกตามกรอบอนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบ องค์การอนามัยโลก (FCTC) ได้สนับสนุนให้ประเทศไทยออกกฎหมายเพิ่มขนาดภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ โดยมีการส่งจดหมายสนับสนุนอย่างเป็นทางการก่อนหน้านี้ และหลังจากนี้ก็จะเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อสู้ โดยจะมีการเชิญนักกฎหมายจากประเทศออสเตรเลีย

ซึ่งสามารถเพิ่มขนาดภาพคำเตือนไปจน ถึงออกกฎหมายไม่ให้มีการใช้สัญลักษณ์ทางการค้าบนซองบุหรี่สำเร็จ มาให้ความคิดเห็นและแบ่งปันประสบการณ์ในการต่อสู้ทางกฎหมาย และจะมีการล่ารายชื่อประเทศสมาชิก เพื่อมาช่วยสนับสนุนประเทศไทย ร่วมทั้งเชิญร่วมให้ความเห็นด้านวิชาการ และกฎหมาย เพื่อแสดงให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของการปฏิบัติตาม มาตรา 5.3 เพื่อการสนับสนุนให้บอกความจริงของอันตรายบนซองบุหรี่

"ขณะนี้ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด มียอดขายร้อยละ 30 อยู่ในประเทศแถบเอเชีย ซึ่งประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่บริษัทบุหรี่มองว่าสามารถขยายฐานการตลาดได้ โดยเฉพาะนักสูบหน้าใหม่ ซึ่งการเพิ่มขนาดคำเตือนบนซองบุหรี่ เป็นการบอกความจริงถึงอันตราย และตรงกันข้ามกับภาพลักษณ์ที่บริษัทบุหรี่พยายามปิดบังและสร้างขึ้น ซึ่งการวิจัยพบชัดเจนว่ายิ่งขยายภาพคำเตือน ประชาชนจะทราบถึงพิษภัยและคิดถึงการเลิกสูบบุหรี่ได้ ประเด็นจึงไม่ใช่แค่การเพิ่มขนาดคำเตือนเป็นเท่าใด แต่การฟ้องในครั้งนี้ ถือเป็นการแทรกแซงนโยบายทางกฎหมาย และไม่ให้บอกความจริงคนไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่รับไม่ได้" น.ส.บังอรกล่าว

ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า การออกประกาศฉบับดังกล่าวเป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยการบริโภคยาสูบ มาตรา 5.3 ขององค์การอนามัยโลก ซึ่งมีการออกคำแนะนำว่าให้ประเทศสมาชิกให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องพิษภัยของบุหรี่ มีผลการวิจัยจำนวนมากชี้ว่า ภาพคำเตือนบนซองบุหรี่เป็นมาตรการที่ได้ผล ซึ่งทำให้ประชาชนตัดสินใจเลิก และไม่สูบบุหรี่ได้

ที่มา --มติชน ฉบับวันที่ 29 ส.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--