ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สภาพอากาศสุดขั้ว การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกอย่างต่อเนื่องเกิดเป็นสภาพอากาศแปรปรวน ผลกระทบในไทย ได้แก่ ฝนตก น้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟป่าที่เพิ่มขึ้น ด้านอุตุนิยมวิทยาเผยลักษณะอากาศถึงวันที่ 2 พ.ค. 2567 ยังมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด โดยเฉพาะประเทศไทยตอนบน

กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ความแปรปรวนของสภาพอากาศที่เกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้หลายพื้นที่บนโลกเกิดสภาพอากาศที่รุนแรงสุดขั้ว ไม่ว่าจะร้อนจัด หนาวจัด ลมพายุที่รุนแรง ฝนตกหนัก และในฤดูหนาวมีอุณหภูมิลดต่ำลง 

ผลกระทบที่เกิดในประเทศไทยที่เราเห็นได้ชัดเจน ได้แก่ ฝนตก น้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟป่าที่เพิ่มขึ้น 

เหตุการณ์สุดขั้ว สภาพอากาศแปรปรวน

  • สภาพอากาศแบบผสมระหว่างสภาพอากาศหนาวและฝนตกหนัก CCPES ในภาพรวมของประเทศไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ CCPES ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคมถึงมีนาคม 
  • จำนวนวันที่อากาศหนาว (อุณหภูมิต่ำสุดน้อยกว่า 16 องศาเซลเซียส) ในภาพรวมของประเทศไทยลดลง อย่างมีนัยสำคัญ (4 วัน/ทศวรรษ) วันที่สภาพอากาศหนาว ส่วนใหญ่เกิดในช่วงเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์
  • จำนวนวันที่ฝนตก (ปริมาณฝนมากกว่า 35.1 mm.) จำนวนวันที่ฝนตกหนักในภาพรวมของประเทศไทยเพิ่มขึ้น อย่างมีนัยสำคัญ (0.25 วัน/ทศวรรษ) วันที่ฝนตกหนักส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม

ไทยยังมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด

สำหรับสถานการณ์ของประเทศไทยในช่วงนี้ ยังมีค่าดัชนีความร้อนสูง โดยกลุ่มวิจัยและพัฒนาสารสนเทศอุตุนิยมวิทยาได้คาดหมายลักษณะอากาศล่วงหน้า 7 วัน 26 เม.ย. - 2 พ.ค. 2567 ยังมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด โดยเฉพาะประเทศไทยตอนบน

อากาศที่ร้อนจัดยังส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย ผลอนามัยโพลโดยกรมอนามัย เรื่อง ฤดูร้อนนี้ สุขภาพดีหรือยัง? เผยว่า อาการจากความร้อนที่พบ 3 อันดับแรก ได้แก่ อาการปวดศีรษะ ร้อยละ 21.9 รองลงมา มีอาการท้องผูก ร้อยละ 13.6 และเป็นตะคริวที่ขา แขน หรือท้อง ร้อยละ 12.7 ด้านสถานการณ์โรคและภัยสุขภาพที่สำคัญ คือ โรคลมร้อน (Heat stroke)

ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค พบว่า ช่วงเดือนมีนาคม -เมษายน 2567 พบผู้เสียชีวิตแล้ว 30 ราย กลุ่มเสี่ยงเป็นผู้สูงอายุ เด็กเล็กวัยทารกถึงอนุบาลเนื่องจากระบบระบายอากาศในร่างกายยังไม่สมบูรณ์ กลุ่มที่มีโรคเรื้อรังเช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคอ้วน เป็นต้น รวมถึงอาชีพเสี่ยงทั้งในกลุ่มคนทำงานกลางแจ้ง ทหาร ตำรวจ รปภ.

วิธีลดความเสี่ยงด้านสุขภาพจากความร้อน 

กรมควบคุมโรคและกรมอนามัย ได้แนะนำการดูแลสุขภาพ เพื่อลดความเสี่ยงด้านสุขภาพจากความร้อน ดังนี้ 

  • ดื่มน้ำบ่อย ๆ โดยไม่ต้องรอให้กระหายน้ำ เมื่ออยู่ข้างนอกควรดื่มน้ำทุกชั่วโมง  1-2 ชั่วโมงดื่ม 2-4 แก้ว หากเสียเหงื่อมากให้ดื่มน้ำเกลือแร่
  • สวมเสื้อผ้าสีอ่อน ที่ระบายอากาศได้ดี 
  • สวมหมวกปีกกว้าง 
  • ใส่แว่นกันแดด 
  • ทาครีมกันแดดเป็นประจำ 
  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงที่มีสภาพอากาศร้อนจัด ควรลดกิจกรรมช่วงเวลา 11.00 น.ไปจนถึง 15.00 น. 
  • ไม่ควรดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม และแอลกอฮอล์ 
  • รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ 

อาการเสี่ยงโรคลมร้อนหรือฮีทสโตรก

  • อุณหภูมิแกนกลางร่างกายสูงขึ้นมากกว่า 40 องศาเซลเซียส 
  • ผิวหนังแดงร้อน 
  • ชีพจรเต้นเร็วและแรง 
  • ปวดศีรษะ สับสน มึนงง 
  • คลื่นไส้หรืออาเจียน 

เมื่อพบผู้ป่วยโรคฮีทสโตรกให้พาเข้าพักในที่อุณหภูมิเย็น อากาศถ่ายเท และรีบปฐมพยาบาล ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณหลังคอ รักแร้ ขาหนีบ ถ้ายังมีสติให้ดื่มน้ำเพื่อระบายความร้อน และนำรีบส่งโรงพยาบาล หรือโทร 1669

นอกจากนี้ ควรติดตามสถานการณ์ค่าดัชนีความร้อนจากกรมอุตุนิยมวิทยา หากค่าดัชนีความร้อนอยู่ในระดับอันตรายหรือสีส้ม ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด

 

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เตือน 15 จ.ค่าดัชนีความร้อนพุ่ง!

อากาศร้อนจัด! ฮีทสโตรกเสียชีวิต 30 ราย ขณะที่ “ไข้หวัดใหญ่” พ.ค.นี้คาดป่วยเพิ่ม!

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง