รมว.สธ.เกาะติดเหตุการณ์เด็กนักเรียนระยอง ท้องเสีย อาเจียน เหตุอาหารเป็นพิษ กำชับเร่งหาสาเหตุ วางแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ ล่าสุดผลสอบสวนโรค นร.ระยอง 2 โรงเรียน ป่วยอุจจาระร่วงรวม 1,057 ราย

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงเหตุการณ์การระบาดของโรคอาหารเป็นพิษที่โรงเรียนวัดพลงช้างเผือกและโรงเรียนแกลงวิทยสถาวร อ.แกลง จ.ระยอง ว่า ตนได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และรับทราบรายงานจากเจ้าหน้าที่ว่าตั้งแต่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารสุข 

โดยทีมสอบสวนโรค สสจ.ระยอง ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ได้ไปสอบสวนและควบคุมโรค เก็บตัวอย่างอาหารและน้ำส่งตรวจทางห้องปฏิบัติ ตรวจเชื้อแบคทีเรียและไวรัสก่อโรคทางเดินอาหาร ส่งตรวจมายังสถาบันบำราศนราดูร และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้รายงาน สาเหตุเบื้องต้นคาดว่า อาจจะมาจากผู้ประกอบการร้านอาหารปฏิบัติไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์สุขาภิบาลอาหาร หรือน้ำใช้มีค่าคลอรีนคงเหลือต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (ต่ำกว่า 0.2 ppm) แต่ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าผู้ป่วยรับเชื้อมาจากที่ใด เนื่องจากข้อจำกัดไม่สามารถสัมภาษณ์ผู้ป่วยได้เพราะผู้ป่วยทุกรายหยุดโรงเรียน 

จากประวัติการรับประทานอาหารเบื้องต้นผู้ป่วยทุกรายมีทั้งทานอาหารชนิดเดียวกันและไม่ได้ทานอาหารชนิดเดียวกัน เนื่องจากร้านจำหน่ายอาหารในโรงเรียนมีเป็นจำนวนมากและยังมีการทานอาหารในแหล่งอื่น โดยทั้ง 2 โรงเรียนอยู่ตรงข้ามกัน จึงมีเด็กมีลักษณะอาการเดียวกัน ตนได้กำชับไปยังเจ้าหน้าที่ให้เร่งหาสาเหตุและหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำอีก 
  
นายสมศักดิ์
กล่าวว่า ระหว่างรอผลตรวจที่แน่ชัด เจ้าหน้าที่ได้ให้คำแนะนำกับทางโรงเรียน หากพบนักเรียนมีอาการให้หยุดเรียนทันทีและให้ควบคุมกำกับร้านค้าจำหน่ายอาหารในโรงเรียนปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลอาหาร อีกทั้งให้ความรู้ด้านสุขศึกษาเกี่ยวกับอาหารเป็นพิษในโรงเรียน ขณะนี้โรงพยาบาลแกลงและโรงเรียนร่วมกันเฝ้าระวังการเกิดโรคในชุมชนและภายในโรงเรียนอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการระบาดของโรคอาหารเป็นพิษ  

แม้ผู้ป่วยบางรายอาการทุเลาและแพทย์อนุญาตให้กลับบ้าน แต่ขอให้เจ้าหน้าที่คอยติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดจนกว่าสถานการณ์การระบาดจะคลี่คลาย และให้เตรียมความพร้อมการดูแลผู้ป่วยหากมีเพิ่มขึ้นด้วย  นอกจากนี้เจ้าหน้าที่จะมีมาตรการเพิ่มเติม โดยจะเก็บตัวอย่างน้ำแข็ง และน้ำดื่มที่สถานผลิต และวันจันทร์ที่ 11 พ.ย.67 วางแผนสอบสวนโรคในพื้นที่เพิ่มเติม เช่น ระบบน้ำในโรงเรียน ท่อมีแตกตรงไหนหรือไม่ เฝ้าระวังประชาชนในพื้นที่มีการป่วยเพิ่มขึ้นผิดปกติหรือไม่ พร้อมกับประสานทีมระบาดของ รพ.ทุกแห่ง เฝ้าระวังข้อมูลอาการอุจจาระ อาหารเป็นพิษว่ามีเพิ่มขึ้นผิดปกติหรือไม่ 

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับโรคอาหารเป็นพิษ เป็นภาวะที่เกิดจากรับประทานอาหาร หรือน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป ทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง และท้องเสียถ่ายเหลวตามมา อาหารเป็นพิษสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยทั่วไปอาหารเป็นพิษเป็นภาวะไม่รุนแรง และสามารถหายได้เอง การพบอาหารเป็นพิษเกิดจากเชื้อโรคที่มีการปนเปื้อนในอาหารหรือน้ำที่บริโภค โดยเชื้อสามารถผ่านมาทางผู้ป่วยที่สามารถแพร่เชื้อได้ เป็นผู้ปรุงอาหารโดยไม่ได้ล้างมือทำให้มีการปนเปื้อนของเชื้อในอาหาร หรือเชื้อที่มีอยู่ในอาหารหรือน้ำที่ไม่ผ่านการทำความสะอาดหรือความร้อนอย่างเพียงพอ

 

ผลสอบสวนโรค นร.ระยอง 2 โรงเรียน ป่วยอุจจาระร่วงรวม 1,057 ราย

 

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีเด็กนักเรียนใน จ.ระยอง ป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงหลายร้อยรายว่า ได้รับรายงานจาก นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวรผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 6 ถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า กลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลแกลง เมื่อช่วงค่ำวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 พบนักเรียนเข้ารับการรักษาด้วยอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาจเจียน ท้องเสีย มีไข้ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ จำนวนมาก จึงได้ลงพื้นที่สอบสวนโรคใน วันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 สรุปข้อมูลเบื้องต้น 2 เหตุการณ์ ที่เชื่อมโยงกัน ดังนี้1.โรงเรียนระดับประถมศึกษา ที่มีนักเรียนมากกว่า 1 พันคน กำลังมีกิจกรรมกีฬาสี นักเรียนรายแรกเริ่มมีอาการวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 จากนั้นทยอยป่วยเพิ่มขึ้น ไปรักษาที่โรงพยาบาลแกลง 75 ราย และกลับบ้านได้ในวันเดียวกัน 71 ราย ปัจจุบันที่เหลือ 4 รายที่เหลือหายกลับบ้านแล้ว รวมมีผู้ป่วย 342 ราย

 

และ 2.โรงเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา มีนักเรียนทั้งหมด 2,762 คน พบมีอาการป่วยทั้งหมด 715 รายส่วนใหญ่ไม่รุนแรง อาการที่พบมากที่สุดคือ ปวดท้อง ร้อยละ 88 รองลงมาได้แก่ อาเจียน ร้อยละ 83 ปวดศีรษะ ร้อยละ 79 ถ่ายเหลว ร้อยละ 72 และ มีไข้ ร้อยละ 68 นักเรียนที่ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลแกลง 18 ราย แพทย์ให้กลับบ้านได้ทั้งหมดผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ตัวอย่างอุจจาระจากนักเรียนป่วย 2 ราย พบเชื้อไวรัสโนโร1 ตัวอย่าง และไม่พบเชื้อก่อโรค 1 ตัวอย่าง

 

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ทั้ง 2 เหตุการณ์มีผู้ป่วยรวมทั้งหมด 1,057 ราย ส่วนใหญ่มีอาการเล็กน้อยสามารถดูแลรักษาที่บ้านได้ ที่รักษาในโรงพยาบาลอาการดีขึ้นแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ ทีมสอบสวนได้มีการเก็บตัวอย่างอาหารและน้ำ ตัวอย่างอาเจียน อุจจาระส่งตรวจหาเชื้อก่อโรคเพิ่มเติม อยู่ระหว่างรอผลตรวจ ขณะนี้การระบาดจำกัดอยู่ในโรงเรียน ผลการสอบสวนโรคเบื้องต้นพบปัจจัยเสี่ยงหลายจุด เช่น สภาพแวดล้อมของโรงครัว สุขาภิบาลอาหารและน้ำในร้านจำหน่ายอาหาร  จึงได้ให้คำแนะนำในการปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลเพื่อป้องกันความเสี่ยง แนะนำนักเรียนกินร้อน ใช้ช้อนกลาง และล้างมือก่อนรับประทานอาหารและหลังใช้ห้องน้ำ