สภาผู้บริโภค เสนออย. ดำเนินการทางกฎหมายกับบริษัทผู้นำเข้าผลไม้ “องุ่นไชน์มัสแคท” มีสารคลอไพริฟอส และ เอ็นดริล อัลดีไฮด์ วัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามใช้ในประเทศ แนะเลิกให้ข่าวปลอดภัย เพราะถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.อาหารมาตรา 25
จากกรณีเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สุ่มตรวจ องุ่นไชน์มัสแคท 24 ตัวอย่าง ทั่วกรุงเทพและปริมณฑล โดยสุ่มตรวจสารเคมีเกษตรมากกว่า 400 ชนิด พบสารเคมีเกษตรตกค้างเกินค่ามาตรฐานมากถึงร้อยละ 95.8 ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ย้ำมาตรการเฝ้าระวัง พร้อมแจงข้อมูลอาจเข้าใจคลาดเคลื่อน เหตุองุ่นไชน์มัสแคทตรวจพบสารตกค้าง 1 ตัวอย่าง เป็นสารต้องห้ามที่มีวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ส่วนอีก 23 ตัวอย่างเป็นสารที่แม้จะตกค้าง แต่อยู่ในระดับมาตรฐานปลอดภัย หากล้างถูกวิธีสามารถบริโภคได้นั้น
(ข่าวเกี่ยวข้อง : อย.แจงสารตกค้าง “องุ่นไชน์มัสแคท” อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย บริโภคได้ ด้านไทยแพนเผยผลสุ่มตรวจ)
ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า ขอให้เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินการทางกฎหมายกับบริษัทผู้นำเข้าผลไม้ที่มีวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่ห้ามใช้ในประเทศ คือ คลอไพริฟอส และ เอ็นดริล อัลดีไฮด์ เพราะถือเป็นผลไม้หรืออาหารที่ผิดมาตรฐานตรวจพบสารเคมีที่ห้ามใช้ ไม่ใช่เลขาธิการอย.ออกมายืนยัน ว่า ปลอดภัยและไม่มีการตกค้างในเนื้อผลไม้ เพราะถือว่ามีความผิดตามพรบ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 25 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นําเข้าเพื่อจําหน่าย หรือจําหน่ายซึ่งอาหารดังต่อไปนี้ (3) อาหารผิดมาตรฐาน (4) อาหารอื่นที่รัฐมนตรีกำหนด ซึ่งมีการกำหนดโทษไว้ ดังนี้ ความผิดตามมาตรา 60 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 25(3) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท มาตรา 61 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 25(4) ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
"ขอให้อย.เร่งต้องตรวจสอบผักและผลไม้ก่อนจำหน่วยให้ผู้บริโภค ว่า มีความปลอดภัย หากพบไม่ปลอดภัยต้องส่งคืนต้นทาง หรือทำลายทันที และกำกับมาตรฐานผักและผลไม้ให้ปลอดภัยจากสารเคมีอันตรายที่ห้ามใช้ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคเรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร ถือเป็นหน้าที่หลักของ อย. ที่ต้องทำหน้าที่เฝ้าระวัง และตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากประเทศอย่างละเอียด จากการตรวจพบสารเคมีอันตรายที่ยกเลิกหรือห้ามใช้ไปแล้ว ต้องดำเนินตามกฎหมาย กับบริษัทที่นำเข้ามาจำหน่าย และต้องเรียกคืนสินค้านั้นออกจากท้องตลาดทันที" เลขาฯ อย.กล่าว
เสนอแก้ไข พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสภาผู้บริโภค ได้เสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 และให้กลไกจัดการอาหารที่ไม่ปลอดภัยได้อย่างรวดเร็วและสามารถปฏิบัติได้จริงเช่นที่นานาประเทศมีการดำเนินการ
ส่วนผู้ประกอบการ หากยังมีองุ่นล็อตดังกล่าวเหลืออยู่ควรดำเนินการเก็บออกจากชั้นวาง หากจำหน่ายองุ่นล็อตดังกล่าวไปหมดแล้ว ควรแถลงมาตรการที่ชัดเจนกับซัปพลายเออร์ และแหล่งผลิตที่มีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน เช่น ผู้ประกอบการต้องยกเลิกการนำเข้าจากซัปพลายเออร์ และแหล่งผลิตนั้น เมื่อมีการกระทำผิดซ้ำอีก
ผู้ประกอบการนำเข้า ห้างโมเดิร์นเทรด และผู้จำหน่ายต้องระบุแหล่งที่มา/ประเทศต้นทาง ของสินค้านำเข้า เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้เมื่อเกิดปัญหา ผู้นำเข้าและผู้จัดจำหน่ายต้องติดฉลากแสดงที่มา/ประเทศต้นทาง และฉลากต้องเป็นภาษไทย ระบุผู้จัดจำหน่าย ผู้นำเข้า ที่อยู่ เบอร์โทร ตั้งแต่นำเข้า ตลอดจนมีการขายแยกไปจำหน่ายแบบปลีกตามตลาดทั่วไป ก็ต้องมีการติดฉลากที่ถูกต้อง อย. ต้องกำกับดูแลอย่างจริงจังตามอำนาจและหน้าที่ที่มีในปัจจุบัน
สารอันตราย คลอไพริฟอส-เอ็นดริล อัลดีไฮด์
ทั้งนี้ คลอไพริฟอส มีผลต่อความผิดปกติของพัฒนาการทางสมองของเด็กที่แม่ได้รับระหว่างตั้งครรภ์ เด็กมีพัฒนาการช้า ความจำสั้น ไอคิวต่ำ สมาธิสั้น รวมถึงพัฒนาการด้านจิตใจ และมีผลต่อเนื่องแม้เมื่อเด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม (https://eht.sc.mahidol.ac.th/article/2239) สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ พบว่า สารนี้กระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งลำไส้ H-29 ผ่านตัวรับ EGFR กระทรวงสาธารณสุขมีข้อเสนอให้ยกเลิกการใช้สารเคมี 3 ตัว ได้แก่คลอร์ไพริฟอส พาราควอต และไกลโฟเสต และใช้เวลากว่า 3 ปี จนคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้ยกเลิกการใช้ในที่สุด โดยคลอร์ไพริฟอสถูกประกาศยกเลิกการใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563
ส่วนเอ็นดริล อัลดีไฮด์ เป็นสารเคมีอันตรายใช้ในการกำจัดแมลง กระทรวงเกษตรห้ามใช้ไปตั้งแต่ กรกฎาคม 2524 เนื่องจากมีความเป็นพิษสูงมาก
- 179 views