ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สิ้นสุดการรอคอยเกือบ 2 ปี กับเงิน “ค่าเสี่ยงภัยโควิด19” ของบุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์โรคระบาดหนัก กระทั่งคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบงบประมาณผ่านงบกลางรวมราว 6.9 พันล้านบาทให้แก่บุคลากรประมาณ  2 แสนคน แบ่งการอนุมัติงบประมาณออกเป็น 2 รอบ ครอบคลุมเวลาการรอคอย นับตั้งแต่มกราคมปี 2566 จนถึงกันยายน 2567  

เหตุใด... งบประมาณค่าเสี่ยงภัยโควิดจึงมีความสำคัญ...... นั่นเพราะ  “บุคลากรสาธารณสุข” เป็นกลุ่มที่มีบทบาทอย่างมากในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส หรือโควิด19 (COVID-19) ตลอดช่วง 3 ปี นับตั้งแต่การระบาดใหญ่เมื่อปี 2563 จนถึงกันยายน 2565 ถึงมีการประกาศสิ้นสุดการระบาด

เห็นได้จากความเสียสละของบุคลากรสาธารณสุข ที่ได้ร่วมมือกันหยุดยั้งการระบาด ผลงานการควบคุมโรคนี้เป็นที่ประจักษ์และได้รับการยอมรับว่า เป็นผลงานอันดีเด่นในอันดับต้นๆของโลก รัฐบาลจึงออกประกาศจ่าย “ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยโควิด19”  ให้กับบุคลากรที่ปฏิบัติงานด่านหน้าทุกคนตั้งแต่ปี 2565 แต่ปัญหาคือ ช่วงต้นปี 2566  กลับยังมีบุคลากรที่ไม่ได้รับ “เงินเสี่ยงภัยโควิด” อีกกว่า 2 แสนคน และจำเป็นต้องใช้งบประมาณรวมราว 6.9 พันล้านบาท เพื่อจ่ายย้อนหลังให้แก่บุคลากรสาธารณสุข ที่ทำงานโรคระบาดในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 จนถึงกันยายน 2565   

Hfocus เห็นความสำคัญของการติดตามข่าวเรื่องนี้มาตลอด  ปัญหาการตอบแทนบุคลากรสาธารณสุข ที่มิใช่แค่เป็นเรื่อง การจ่ายเงินตอบแทนเท่านั้น แต่แท้จริงแล้ว เป็นปัญหาที่สำคัญกว่านั้น คือ เป็นการตระหนักถึงคุณค่าในผลการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรค จนสามารถหยุดยั้งการระบาดของโรคโควิด  การตอบแทนบุคลากรสาธารณสุข ยังเป็นการรักษาโครงสร้างการทำงานของระบบสาธารณสุขของประเทศ ที่จะใช้หยุดการแพร่ระบาด ตั้งแต่ระดับนโยบาย จนถึงระดับครัวเรือน 

จึงได้ติดตามข่าว “ค่าเสี่ยงภัยโควิด19” ของบุคลากรสาธารณสุขมาตลอด ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 กระทั่งเดือนกันยายน 2567  ในที่สุดมีมติ ครม.เห็นชอบงบกลางออกมา   โดยเกาะติดประเด็นปัญหาต่างๆ แบ่งออกเป็น 2 ช่วง

*ช่วงแรก ติดตามเงินค้างจ่ายตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 จนมีผลสำเร็จเมื่อ ครม.เห็นชอบงบค่าเสี่ยงภัยโควิดค้างจ่ายรอบแรก ให้แก่บุคลากรสาธารณสุข จำนวน 2,995.95 ล้านบาท เมื่อเดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา

(เผยแพร่ครั้งแรก 6 ม.ค.66 : เครือข่ายลูกจ้างรวมพล 12 เขตสุขภาพบุก สธ. ขอสวัสดิการ-ค่าเสี่ยงภัยโควิด 6 ก.พ.นี้)

*ช่วงที่สอง ติดตามข่าวตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงที่บุคลากรจำนวนมากยังไม่ได้รับเงินดังกล่าว  จากการเกาะติดประเด็นต่างๆ ในที่สุดเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567  ครม.เห็นชอบงบค่าเสี่ยงภัยโควิดค้างจ่ายรอบสอง จำนวน 3,849.30 ล้านบาท ให้แก่บุคลากรที่ตกหล่นอยู่

( เผยแพร่ครั้งแรก 10 ต.ค.67: บุคลากรสาธารณสุขตัดพ้อ! ค่าเสี่ยงภัยโควิดล่าช้า ด้านปลัดสธ.เผยปัญหาจากนอกสังกัด หลักฐานไม่ครบ)

แฟ้มภาพ

จุดสำคัญก่อนอนุมัติงบค่าเสี่ยงภัยโควิด

จุดสำคัญในแต่ละช่วง ก่อนที่ ครม.จะมีมติอนุมัติงบค่าเสี่ยงภัยรอบแรกกว่า 2.9 พันล้านบาท (ข่าว : ครม.อนุมัติงบค่าเสี่ยงภัยโควิดรอบแรก 2.9 พันล้านบาท แก่บุคลากรสาธารณสุข)

เริ่มจากเมื่อเดือนมกราคม 2566  นำเสนอข่าวด้วยการสัมภาษณ์ตัวแทน “สหภาพลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย”  ถึงปัญหาค่าตอบแทนเสี่ยงภัยโควิดที่ล่าช้า นำไปสู่การเคลื่อนไหวรวมตัวกัน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566  ซึ่งขณะนั้นกระทรวงสาธารณสุข มีความพยายามเสนอรัฐบาล ของบประมาณค้างจ่ายกว่า 6.9 พันล้านบาท ให้แก่บุคลากรฯ  แต่ถูกตีกลับ จึงเสนอใหม่ เปลี่ยนเป็นเสนอของบประมาณ 2 รอบ จึงมีการติดตามข่าวต่อเนื่อง กระทั่งครม.อนุมัติเห็นชอบงบฯรอบแรก

แม้ ครม.จะอนุมัติงบฯรอบแรก แต่ปัญหาพบว่าเกิดความล่าช้าในการเบิกจ่ายเงิน โดยมีผู้ได้รับผลกระทบ เป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย เป็นลูกจ้างชั่วคราว และพนักงานกระทรวงสาธารณสุขอีกจำนวนมาก แต่ปัญหาคือ ไม่สามารถระบุตัวตน เพราะกังวลกระทบหน้าที่การงาน จึงต้องนำเสนอใช้คำว่า แหล่งข่าว แทน  จากนั้นไม่นานกลุ่มบุคลากรที่ได้รับผลกระทบ เริ่มรวมตัวกันตั้งกลุ่มในเฟซบุ๊ก  ชื่อ ทวงถามค่าเสี่ยงภัยโควิด เล่าสู่กันฟัง  มีสมาชิกกลุ่มกว่า 3 พันคน วัตถุประสงค์เพื่อสะท้อนปัญหาของคนทำงาน 

สาเหตุของความล่าช้า

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจากทาง “สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน” และข้อมูลจาก  นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ ส.ส.กทม. จตุจักร-บางเขน-หลักสี่ ซึ่งขณะนั้นยังเป็นพรรคก้าวไกล (ก.ก.)  เปิดเผยถึงความล่าช้าของค่าเสี่ยงภัยโควิด งวดเดือนกรกฎาคม 2564 – ครึ่งเดือนแรกเดือนมิถุนายน 2565 รวมเงินค่าเสี่ยงภัยโควิดเป็นวงเงิน 2,995 ล้านบาท  สำหรับบุคลากร 118,323 คน คาดเบิกจ่ายจบภายในเดือนมีนาคม 2567 แบ่งเป็น บุคลากรในกระทรวงสธ. 64,436คน เบิกจ่ายครบ 100%
บุคลากรนอกสังกัดฯ 53,887คน เบิกจ่ายไปแล้วเพียง 3.69%  เนื่องจากติดปัญหาเอกสารไม่ครบ ทำให้เกิดความล่าช้าในการเบิกจ่าย จึงต้องแก้เอกสารใหม่  

ยังมีงบประมาณของงวดที่เหลือค้างจ่ายผู้ที่ปฏิบัติงานจนถึงเดือนกันยายน 2565 อีกกว่า 3 พันล้านบาท สำหรับบุคลากร 202,867คน (หลายคนซ้ำกัน เพราะทำต่อเนื่อง)  ที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติจาก ครม.  

สธ.เร่งผลักดันเสนองบเสี่ยงภัยโควิดค้างจ่าย

จึงได้มีการติดตามและนำเสนอข่าวดังกล่าว จนทางกระทรวงสาธารณสุข ออกมาเปิดเผยว่า ส่วนใหญ่ล่าช้าที่หน่วยบริการนอกสังกัด สธ. เนื่องจากปัญหาอยู่ที่เอกสารหลักฐานไม่ครบถ้วน ทำให้ไม่สามารถเบิกจ่ายเงินได้  กระทั่ง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทำหนังสือถึงหน่วยบริการนอกสังกัด และจัดประชุมชี้แจงเรื่องดังกล่าว

ขณะเดียวกันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขณะนั้น คือ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ได้เร่งรัดการเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จ ในที่สุดประมาณเดือนมิถุนายน 2567 จึงดำเนินการได้ครบถ้วน แต่ปัญหายังไม่จบสิ้น เพราะ “เงินค่าเสี่ยงภัยโควิด” ยังเหลืออีกล็อตกว่า 3.8 พันล้าน ซึ่งต้องขอ ครม.อนุมัติงบกลางอีกเช่นกัน แต่ช่วงนั้นมีการปรับเปลี่ยน ครม. และได้รัฐมนตรีว่าการสธ. คนใหม่ คือ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน

ด้วยการเกาะติดข่าวต่อเนื่อง และจากการผลักดันโดยกระทรวงสาธารณสุข (การเสนอของบฯ มีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง) ในที่สุดเมื่อ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงได้ลงนามเสนอของบค่าเสี่ยงภัยโควิดรอบสอง และในวันที่ 24 กันยายน 2567 ครม.เห็นชอบงบกลาง ค้างจ่ายแก่บุคลากรสาธารณสุข เป็นจำนวน 3,849.30 ล้านบาท  ซึ่งด้วยระเวลาอันสั้นในการเบิกจ่ายงบฯให้ทันสิ้นปีงบประมาณ กระทรวงงสาธารณสุข ได้หารือร่วมหน่วยงานเกี่ยวข้อง กรมบัญชีกลาง ยินดีขยายเวลาเบิกจ่ายถึงเดือนตุลาคม 2566 เพื่อให้ทันต่อการเบิกจ่ายงบค่าเสี่ยงภัยที่มีจำนวนมาก

(ข่าว: ครม.เคาะงบกลางจ่าย 'ค่าเสี่ยงภัยโควิด' รอบสอง 3.8 พันล้านให้บุคลากรสาธารณสุข)

นายโอสถ สุวรรณ์เศวต

ขอบคุณเงินค่าเสี่ยงภัยโควิด

แน่นอนว่า บุคลากรสาธารณสุข ต่างดีใจกับการอนุมัติงบฯก้อนนี้  โดยในส่วนของตัวแทนฝั่งลูกจ้าง ผู้ใต้บังคับบัญชาที่ปฏิบัติงานช่วงโควิด ที่รอคอยเงินอย่างใจจดใจจ่อมาเป็นเวลาร่วม 2 ปี   นายโอสถ สุวรรณ์เศวต ประธานสหภาพลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (สลท.) ให้สัมภาษณ์ในฐานะตัวแทนฝ่ายลูกจ้างสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ว่า  ต้องขอบคุณนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ที่ช่วยเร่งรัด ติดตามค่าเสี่ยงภัยโควิด ตอนนี้รอเพียงการโอนจ่ายให้ทันตามกรอบเวลาที่กำหนด ซึ่งทั้งหมดถือเป็นขวัญและกำลังใจให้คนทำงานต่อไป

แต่ในอีกมุม ยังเกิดคำถามในส่วนของ “สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน”  ว่า ความล่าช้าที่เกิดขึ้นตลอด 2 ปี ว่า ควรต้องมีใครรับผิดชอบหรือไม่

พญ.ชุตินาถ ชินอุดมพร ผู้แทนสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน กล่าวกับ Hfocus  ว่า สำหรับค่าเสี่ยงภัยโควิดในตอนนี้ กว่าที่ทุกคนจะได้รับก็ผ่านเวลามานานมาก แต่น่าแปลกที่ไม่มีการเยียวยาใดๆ จริงๆ ความล่าช้า 2 ปีขนาดนี้ รัฐบาลต้องรับผิดชอบอะไรหรือไม่  ต้องตั้งคำถามถึงการจัดการของระบบราชการด้วย เพราะคนทำงานต้องตามเรื่องเองมาตลอด คอยทวงคอยถาม เรียกร้องสื่อ จนปัจจุบันโควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่น

ส่วนวิธีการเบิกค่าเสี่ยงภัยก็มีความซับซ้อน ไม่ได้ถูกดีไซน์มาเพื่อช่วยเหลือคนหน้างาน เอกสารก็ส่งมาอย่างกระชั้นชิด ทำให้ไม่สามารถจัดเตรียมข้อมูลได้อย่างครบถ้วน เรื่องนี้เป็นการสะท้อนถึง ความสำคัญของคนทำงานในสายตาของรัฐบาล ผู้จัดการเรื่องงบประมาณ ทั้งหมด ความสำคัญของคนทำงานนั้นไม่มากพอ 

ข้อเท็จจริงบุคลากรในสายวิชาชีพ อย่างกลุ่มแพทย์ พยาบาล ส่วนใหญ่ได้รับเงินค่าเสี่ยงภัยโควิดเกือบหมดแล้ว แต่กลุ่มนอกเหนือจากนี้ที่ต้องรอคอยเงินมานาน ถือว่าเป็นกลุ่มที่น่าเห็นใจมาก  ตนมองว่า บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เป็นสายงานที่ต้องเจอกับความเสี่ยงมาตลอด ไม่ใช่แค่เฉพาะช่วงโควิด แต่ก่อนหน้านั้นก็มีสถานการณ์ วัณโรคดื้อยา แต่ด้วยตัวงานถูกมองว่าเป็นความเสี่ยงที่คนทำงานต้องแบกรับ จึงอยากให้กลับไปมองพื้นฐานคำว่า ค่าเสี่ยงภัย ไม่อยากให้เป็นแค่ช่วงที่เกิดโรคอุบัติใหม่เท่านั้น 

"คำว่า ค่าเสี่ยงภัย เมื่อตีความแคบจะทำให้บุคลากรหลายคนที่ไม่ใช่บุคลากรวิชาชีพ ลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างรายวัน หรือแม่บ้าน ก็ไม่ได้รับค่าเสี่ยงภัย เพราะรูปแบบการจ้างที่ไม่เหมือนกัน ทั้งที่ทุกคนก็เจอความเสี่ยง แต่ถูกมองข้ามไป และการเสี่ยงภัยไม่อยากให้มองว่า เป็นช่วงวิกฤตหรือสถานการณ์ของโรคอย่างเดียว เพราะทุกงานตอนนี้ก็มีความเสี่ยง" พญ.ชุตินาถ กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการติดตามข่าวต่อเนื่องยาวนาน จบเส้นทางทวงคืน “ค่าเสี่ยงภัยโควิด” ค้างจ่ายแก่บุคลากรสาธารณสุข

(ข่าวเกี่ยวข้อง : ปลัด สธ. กำชับ สสจ.เร่งเบิกจ่าย “ค่าเสี่ยงภัยโควิด” ให้แล้วเสร็จใน 31 ต.ค.นี้ ล่าสุดเบิกจ่ายแล้ว 74.27%)

แฟ้มภาพ