กรมสุขภาพจิต ส่งทีม MCATT ลงพื้นที่เยียวยาจิตใจครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบเหตุดินสไลด์ จ.สุโขทัย แนะ 5 วิธีเมื่อเผชิญกับความตื่นตระหนก

 

ตามที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์ดินสไลด์ริมฝั่งแม่น้ำยม จ.สุโขทัย พร้อมทั้งระดมกำลังร่วมกับพื้นที่ เร่งค้นหาเด็กหญิง อายุ 10 ขวบสูญหาย

(ข่าว : “สมศักดิ์” ระดมกำลัง เร่งค้นหาเด็กหญิง 10 ขวบสูญหาย จากเหตุดินสไลด์สุโขทัย

ทีม MCATT ลงพื้นที่ช่วยเหตุดินสไลด์ จ.สุโขทัย

ล่าสุดวันนี้ (9 ต.ค.67) กรมสุขภาพจิตเร่งดำเนินการมอบหมายทีม MCATT ลงพื้นที่เกิดเหตุลงพื้นที่เกิดเหตุแล้ว นอกจากการช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บและติดค้างอยู่ในบ้าน นำส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลสวรรคโลก กรมสุขภาพจิตมอบหมายทีม MCATT โรงพยาบาลจิตเวชพิษณุโลกลงพื้นที่เยียวยาจิตใจครอบครัวอย่างเร่งด่วน

นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากกรณีเหตุดินสไลด์ริมฝั่งแม่น้ำยม ในเขตพื้นที่ หมู่ 4 ต.คลองกระจง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ได้มอบหมายให้ทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team : MCATT) ในพื้นที่และโรงพยาบาลจิตเวชพิษณุโลก ลงพื้นที่ตรวจสอบและประเมินสถานการณ์ทางจิตของครอบครัว และประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุ พร้อมกำชับติดตามเยียวยาจิตใจ ผู้ได้รับบาดเจ็บจนกว่าหมดความเสี่ยง และให้ครอบคลุมครอบครัวผู้สูญหายและเสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วย

5 วิธีเมื่อเผชิญกับความตื่นตระหนก

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวต่อว่า  การดูแลจิตใจในการเผชิญเหตุวิกฤตดินถล่มในระยะแรกเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะผู้ประสบภัยมักจะเผชิญกับความตื่นตระหนก ความเครียด และความวิตกกังวลสูง การจัดการกับจิตใจในช่วงนี้จะช่วยลดผลกระทบทางอารมณ์และจิตใจในระยะยาวได้ วิธีการดูแลจิตใจในระยะแรก ประชาชนสามารถทำได้ ดังนี้

1. จัดการกับความรู้สึกของตนเองยอมรับความรู้สึก โดยให้ตระหนักว่าความกลัวและความวิตกกังวลเป็นเรื่องธรรมดาในสถานการณ์วิกฤต อย่าพยายามหลีกหนีจากความรู้สึก แต่ให้เผชิญหน้าและยอมรับว่ามันเกิดขึ้น ใช้เทคนิคการหายใจเข้าลึกๆ เพื่อช่วยลดความเครียดและทำให้จิตใจสงบลง

2. การสื่อสารและขอความช่วยเหลือ ทั้งการสนับสนุนจากคนใกล้ตัว พูดคุยกับครอบครัว เพื่อน หรือผู้ให้การสนับสนุน เพื่อระบายความรู้สึกและรับการสนับสนุนทางอารมณ์

3. ติดตามข้อมูลข่าวสารสถานการณ์จากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ เพื่อให้มั่นใจว่าได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และในปริมาณที่เหมาะสม 4. ไม่ควรคาดหวังความสมบูรณ์แบบจากตนเองไม่จำเป็นต้องทำให้ตนเองรู้สึกดีทันที แต่ควรค่อยๆ ปรับตัวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

5.หากความเครียดหรือความวิตกกังวลรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ควรขอคำปรึกษาจากนักจิตวิทยาหรือผู้เชี่ยวชาญในการดูแลจิตใจหรือปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง