ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อย.เผยค้า “สุราปลอมใส่เมทานอล” นอกจากผิดกม.สรรพสามิต ยังผิด พรบ.อาหาร มีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท และผิดประกาศกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยติดฉลาก ปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท  ย้ำเมทิลแอลกอฮอล์นอกจากห้ามกินแล้ว ยังห้ามใส่ในเครื่องสำอางด้วย 

 

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า สุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัดว่าเป็นอาหารในการบริโภค แต่สุราจะมีกฎหมายควบคุมนอกจาก พ.ร.บ.อาหาร คือ พ.ร.บ.สุรา และ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ดังนั้น หากมีปริมาณแอลกอฮอล์เกิน 0.5% ก็จะเป็นหน้าที่ของกรมสรรพสามิตในการกำกับดูแลอนุญาต แต่หากต่ำกว่า 0.5% ก็จะจัดว่าเป็นอาหาร ซึ่ง อย.มีการกำหนดมาตรฐาน โดยมีประกาศชัดเจนว่า แอลกอฮอล์ที่ใช้รับประทานเป็นอาหารจะห้ามใช้ "เมทิลแอลกอฮอล์" (สารเมทานอล) อย่างเด็ดขาด 

ดังนั้น ความผิดที่ปรากฏจึงไม่ได้ผิดตาม พ.ร.บ.สรรพสามิตอย่างเดียว แต่ผิดตาม พ.ร.บ.อาหารด้วย กรณีนี้คือเป็นอาหารที่มีโทษ เพราะเป็นสารห้ามใช้ห้ามใส่ในอาหาร มีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท

ขณะเดียวกันเราออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการแสดงฉลากของสุราโดยเฉพาะ การแสดงฉลากของสุราจะมีข้อกำหนด เช่น ห้ามจำหน่ายสุราแก่บุคคลที่อายุต่ำกว่า 20 ปี การดื่มสุราทำให้ความสามารถในการขับขี่ยานพาหนะลดลง บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ไม่ควรดื่ม การผลิตลักษณะนี้ก็ผิดเรื่องประกาศฉลากด้วยเช่นกัน มีโทษปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท 

ภญ.สุภัทรากล่าวว่า ส่วนไอโซโพรฟิลแอลกอฮอล์ ก็เป็นสารห้ามใช้ห้ามดื่มห้ามรับประทานเช่นกัน เพราะใช้เป็นตัวทำละลายหรือเป็นสารสกัด ขณะที่เมทิลแอลกอฮอล์นอกจากห้ามรับประทานแล้ว ยังห้ามใส่ในเครื่องสำอางด้วย และเป็นวัตถุอันตรายประเภท 4 ใช้ในเฉพาะอุตสาหกรรมเท่านั้น การแยกระหว่างไอโซโพรฟิลแอลกอฮอล์ เมทิลแอลกอฮอล์ หรือเอทิลแอลกอฮอล์ มองด้วยตาเปล่าแล้วแยกยากมาก เพราะเป็นของเหลวใสเหมือนกัน หากผลิตมาจากโรงผลิตแอลกอฮอล์โดยเฉพาะ บางที่อาจใส่สีให้เห็นความต่างหรือเติมกลิ่นลงไป แต่ทำไมการทำเหล้าเถื่อนถึงนิยมนำเมทิลแอลกอฮอล์มาใช้ เพราะราคาถูกกว่า หากกลั่นไม่ดีก็ถูกเปลี่ยนโครงสร้างก็ยิ่งทำให้เกิดพิษ

 

เมื่อถามถึงการทำให้ยาดองถูกกฎหมายหรือการทำเป็นยาสมุนไพร  ภญ.สุภัทรากล่าวว่า ยาดองจะเป็นลักษณะของการทำกันเอง บางทีก็ไปหาเมทิลแอลกอฮอล์ที่มีราคาถูกกว่ามาใช้ อย่างไรก็ตาม หากจะทำให้ถูกกฎหมายเป็นยาสมุนไพรก็จะต้องมาขึ้นทะเบียนตำรับยาเป็นสูตร และจะมีเรื่องของมาตรฐานสถานที่ผลิตยาต่างๆ เหมือนอย่างยาสตรีที่มีการมาขึ้นทะเบียน