“ประเทศไทยปลอดไขมันทรานส์” WHO รับรองไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศแรกของโลกที่กำจัดไขมันทรานส์จากอุตสาหกรรมอาหาร โดยไทยได้ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายอาหารที่มีส่วนผสมของไขมันทรานส์ รวมถึงมีการตรวจสอบอยู่เสมอ เพื่อส่งเสริมให้คนไทยสุขภาพดีและมีเศรษฐกิจเติบโต

ไขมันทรานส์ คือ

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม  ภก.เลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ไขมันทรานส์เกิดจากกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนในน้ำมัน เพื่อเปลี่ยนสภาพน้ำมันให้เป็นไขมันที่มีสภาพกึ่งแข็งกึ่งเหลว เช่น เนยเทียม เนยขาว ทำให้มีอายุการเก็บรักษานานขึ้น ปัจจุบันมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์พบว่ากรดไขมันทรานส์ให้ผลร้ายต่อสุขภาพ เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เพิ่มความเสี่ยงเสียชีวิต 28% ความเสี่ยงในการเกิดโรค 21% และพบการเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวสูงถึง 500,000 รายต่อปี

ไทยปลอดไขมันทรานส์

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงร่วมกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ประสบความสำเร็จในการดำเนินโครงการ “ประเทศไทยปลอดไขมันทรานส์” โดยหลังจากการออกประกาศห้ามผลิต นำเข้า จำหน่าย น้ำมันหรืออาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (ไขมันทรานส์) เป็นส่วนประกอบ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2562 โดย อย. ได้ดำเนินการตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารอย่างเข้มงวดต่อเนื่องเพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีการฝ่าฝืนกฎหมาย

อีกทั้ง มีการรณรงค์ให้ความรู้แก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับอันตรายของไขมันทรานส์ ให้ผู้บริโภคอ่านฉลากโภชนาการก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 ว่าเป็น 1 ใน 5 ประเทศแรกของโลกที่กำจัดไขมันทรานส์จากอุตสาหกรรมอาหารได้สำเร็จ และเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีนโยบายแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best-practices) ในการกำจัดไขมันทรานส์จากอุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้นแบบการพัฒนาที่ดีให้แก่ประเทศอื่นทั่วโลก

รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวเพิ่มเติมว่า การลดปริมาณไขมันทรานส์ในอาหาร เป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ช่วยให้ลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพ ลดความเสี่ยงของอุบัติการณ์เกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจจากไขมันทรานส์ ลดความเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ส่งผลให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีด้านการดูแลสุขภาพของประชาชน เป็นแบบอย่างในการกำจัดไขมันทรานส์ ส่งผลให้อุตสาหกรรมอาหารไทยน่าเชื่อถือและมีโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น นอกจากนี้ ประเทศไทยยังคงเดินหน้าดำเนินการเฝ้าระวังปริมาณไขมันทรานส์ในอาหารอย่างต่อเนื่อง เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้มั่นใจว่าจะได้รับประทานอาหารที่มีความปลอดภัยต่อไป