ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สมศักดิ์ เตรียมหาเงินนอกงบประมาณช่วยสธ. ไม่พึ่งพาภาครัฐอย่างเดียว แต่ต้องหาช่องทางอื่น พร้อมมอบนโยบายให้ผู้บริหารทำโครงการขอรับเงินสนับสนุนจากกองสลาก ขณะเดียวกันในการประชุมผู้บริหารยังเปิด 7 โครงการ ครม.อนุมัติ และรอเสนอรวมกว่า 2.6 พันล้านบาท  

 

แก้ปัญหาภาพรวมหางบฯช่วย สธ.

เมื่อเร็วๆนี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า  เมื่อตนเข้ามาทำงาน ก็พยายามแก้ภาพรวมให้ อย่าไปพึ่งพาเงินงบประมาณของรัฐเพียงอย่างเดียวเท่านั้น  เมื่อมีเงินน้อยแต่บริหารให้ได้จะต้องทำอย่างไร การบริหารกระทรวงสาธารณสุขต้องมีทั้งรูปแบบการใช้เงินจากงบประมาณ ,การใช้เงินกองทุนที่บริจาค หรือเงินกู้เอดีบี หรือถ้าตรงไหนสามารถเชิญชวนเอกชนมาลงทุนได้ อย่างอีอีซีก็ให้รีบระดมสมองอย่าไปรออย่างใดอย่างหนึ่ง  ผู้บริหารต้องคิดต้องเดินหน้า รวมถึงได้ให้นโยบายแนวทางยื่นโครงการขอรับเงินสนับสนุนจากกองสลาก ซึ่งได้ให้แนวนโยบายไปแล้ว ว่า ต้องหาแหล่งเงินนอกงบประมาณช่วยสธ.

“อย่างเมดิคัลฮับ จะมีพื้นที่ตรงไหนเป็นอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร เป็นเครื่องมือแพทย์ ยา อะไรต่างๆ ก็ต้องหาพื้นที่ทำ บางคนบอกว่าจะเป็นพื้นที่อีอีซีได้หรือไม่ เพราะให้สิทธิพิเศษประโยชน์BOI  หรือจะเป็นพื้นที่อื่นที่มีสิทธิประโยชน์ต่างๆได้ ก็ให้ไปดูกฎระเบียบกระทรวงที่ติดขัด พอที่จะปรับแก้ได้หรือไม่ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงขององค์ความรู้ด้วย ถ้ามีองค์ความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์แล้วก็ไม่ควรจะช้า แต่บางอย่างไม่เป็นวิทยาศาสตร์ก็จะต้องไม่ไปบังคับคณะกรรมการแต่ละชุด ซึ่งพิจาณาเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญ”นายสมศักดิ์กล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ยังให้นโยบายเรื่องการนำเงินยึดทรัพย์คดียาเสพติดมาใช้ในการดำเนินงานของสธ. ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบำบัดฟื้นฟูยาเสพติด ซึ่งก็ได้ให้กรมสุขภาพจิต พิจารณาเรื่องการจัดตั้งกองทุนสุขภาพจิต รองรับเงินที่จะขอใช้จากเงินยึกทรัพย์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดประชาพิจารณ์(ร่าง) พ.ร.บ.สุขภาพจิต ที่จะมีเรื่องของกองทุนด้วย รวมถึงนำเงินส่วนของการยึดทรัพย์เข้ากองทุน อสม.ที่จะถูกจัดตั้งขึ้นหลังมีพ.ร.บ.อสม. เพื่อใช้สำหรับการปฏิบัติงาน สวัสดิการและกิจกรรมของอสม.ด้วย อยู่ระหว่างการดำเนินการผลักดันพ.ร.บ.อสม.เช่นเดียวกัน ผ่านการรับฟังความคิดเห็นเรียบร้อยแล้ว 

ให้นโยบายผู้บริหารเสนอของบจากกองทุนสลาก

ถามถึงกรณีมีแนวคิดนำเงินจากกองทุนสลากฯ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ก็ต้องไปขอ ซึ่งกองสลากก็แนะนำ สธ. เพราะเห็นว่า สธ.เราทำงานกันด้วยความตั้งใจ ส่วนจะมีการยื่นโครงการขอใช้เงินจากกองทุนสลากแล้วหรือยัง ต้องไปตามจากฝ่ายปฏิบัติ ซึ่งตนได้ให้แนวนโยบายไปแล้ว

7 โครงการ ครม.อนุมัติ และรอเสนอรวมกว่า 2.6 พันล้านบาท  

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เมื่อวันที่ 19 ก.ค.2567 ได้มีการนำเสนอเรื่อง การขอรับสนับสนุนเงินจากโครงการสลากการกุศล โดยมี 7 โครงการ จำนวนรวมราว 2,637 ล้านบาท แยกเป็น 

 

1.มติครม.อนุมัติ 3 โครงการ วงเงินราว 2,322.82 ล้านบาท

 

-โครงการศูนย์บริการสุขภาพนานาชาติชั้นเลิศด้านหัวใจและหลอดเลือด รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ราว 949.98 ล้านบาท

-โครงการจัดสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี(ศูนย์อุบัติเหตุฉุกเฉิน) รพ.มหาราชนครราชสีมา ราว 650 ล้านบาท

-โครงการเพิ่มศักยภาพบริการทางการแพทย์สู่ความเป็นเลิศในเขตภาคใต้ตอนบน รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช ราว 722.84 ล้านบาท

 

2.อยู่ระหว่างเสนอครม.อนุมัติ 4 โครงการ วงเงินจำนวน 315.31 ล้านบาท

-โครงการขอสนับสนุนเครื่องมือและครุภัณฑ์ทางการแพทย์สำหรับอาคารวัฒนเวชและศูนย์เฉพาะโรค รพ.ราชบุรี ราว 100.5 ล้านบาท

-โครงการเพิ่มศักยภาพบริการทางการแพทย์โรงพยาบาลหัวไทร สู่ความเป็นโรงพยาบาลชั้นนำของจังหวัดนครศรีธรรมราช รพ.หัวไทร  จำนวน 8.51 ล้านบาท

-โครงการพัฒนาการตรวจและรักษาผู้ป่วยโดยใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมส่องกล้องตรวจรักษาที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย รพ.เกาะสมุย จำนวน 10.1 ล้านบาท

-โครงการพัฒนาศักยภาพการผ่าตัดผู้ป่วยโรคหัวใจ มะเร็ง และอุบัติเหตุ รพ.วชิระภูเก็ต จำนวน196.2 ล้านบาท

9 โครงการพัฒนาศักยภาพการบริการ

รวมถึง ยังมีโครงการที่เสนอขอรับการสนับสนุน โครงการพัฒนาศักยภาพการบริการ จำนวน 9 โครงการ วงเงินราว 5,757.66 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.โครงการพัฒนาศักยภาพการบริการ โรงพยาบาลยะลา เพื่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน และบ้าบัดรักษา 10 ชั้น และเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดชนิดสองระนาบ ราว 803.63 ล้านบาท

2 โครงการพัฒนาศักยภาพการบริการ โรงพยาบาลสระบุรี เพื่ออาคารผู้ป่วยใน ผู้ป่วยวิกฤติและครุภัณฑ์การแพทย์ 3 รายการ ราว 891.44 ล้านบาท

3 โครงการพัฒนาศักยภาพการบริการ โรงพยาบาลชลบุรี เพื่ออาคารผู้ป่วยนอก ระดับตติยภูมิ 9 ชั้น และครุภัณฑ์การแพทย์ 6 รายการ ราว 651.20 ล้านบาท

4 โครงการพัฒนาศักยภาพการบริการอาคารผู้ป่วยวิกฤติ โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช

จังหวัดลพบุรี ราว 566.24 ล้านบาท

5.โครงการพัฒนาศักยภาพการบริการ โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา เพื่ออาคารอุบัติเหตุฉุกเฉิน บ้าบัดรักษาและผู้ป่วยใน 5 ชั้น และครุภัณฑ์การแพทย์ 2 รายการ ราว 511.28 ล้านบาท

6 โครงการพัฒนาศักยภาพการบริการ โรงพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี เพื่ออาคารศูนย์เฉพาะโรคหัวใจมะเร็งและรังสีวินิจฉัย 10 ชั้น และครุภัณฑ์การแพทย์ 2รายการ ราว 427.30 ล้านบาท

7 โครงการพัฒนาศักยภาพการบริการ โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช เพื่ออาคารอุบัติเหตุฉุกเฉินและศูนย์หัวใจ 10 ชั้นและใต้ดิน และครุภัณฑ์การแพทย์ 4รายการ ราว 957.64 ล้านบาท

8 โครงการพัฒนาศักยภาพการบริการอาคารผู้ป่วยนอก วินิจฉัย โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ราว629.70 ล้านบาท

9 โครงการพัฒนาศักยภาพการบริการอาคารผู้ป่วยนอก วินิจฉัยและบ้าบัดรักษา 5 ชั้น โรงพยาบาลหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ราว 319.12 ล้านบาท

 

ซื้อครุภัณฑ์การแพทย์วงเงินกว่า 500 ล้าน

ยังมี โครงการที่เสนอขอรับการสนับสนุน รายการครุภัณฑ์การแพทย์วงเงินตั้งแต่ 10 ล้านบาท จำนวน 18 หน่วย วางเงินรวม 511.50 ล้านบาท ได้แก่ 

-เครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดชนิดระนาบเดี่ยวแบบใช้งานร่วมกับเตียงผ่าตัดชนิดไฮบริด ระนาบ รพ.ลำปาง 60 ล้านบาท

-เครื่องถ่ายภาพรังสีแกมม่า หลายระนาบพร้อมเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (SPECT/CT)และหุ่นยนต์บรรจุรังสีไอโอดีน-131อัตโนมัติ รพ.สุรินทร์ 45 ล้านบาท

-เครื่องเอกซเรย์ตรวจสวนหัวใจ และหลอดเลือด ชนิดสองระนาบ พร้อมทั้งระบบรายงานผลตรวจผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด  รพ.สรรพสิทธิประสงค์ 40 ล้านบาท

-เครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดชนิดสองระนาบ (เครื่องละ 38,000,000 บาท) รพ.เชียงรายฯ/รพ.พระนั่งเกล้า/รพ.พุทธชินราชฯ/รพ.ระยอง รวม 152 ล้านบาท

-เครื่องสวนหัวใจสองระนาบ ระนาบ (เครื่องละ 38,000,000 บาท) รพ.ขอนแก่น/ รพ.สุราษฎร์ธานี  รวม 76 ล้านบาท

-เครื่องสวนหัวใจระนาบเดี่ยว พร้อมเครื่องอัลตราซาวด์หลอดเลือดหัวใจ รพ.สุรินทร์ 25 ล้านบาท

-เครื่องนำวิถีผ่าตัดพร้อมซอฟท์แวร์นำวิถีสำหรับผ่าตัดศัลยกรรมประสาทและการผ่าตัดศัลยกรรมกระดูกสันหลังแบบ 3 มิติ  รพ.หาดใหญ่ 18.5 ล้านบาท

-หุ่นยนต์ช่วยในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า CORI รพ.ลำปาง 18 ล้านบาท

-เครื่องเอกซเรย์เต้านมระบบดิจิตอล 3 มิติ พร้อมชุดอุปกรณ์ระบุต้าแหน่งในการเจาะตัดชิ้นเนื้อเต้านม ระนาบ(เครื่องละ 15,000,000 บาท) รพ.หนองคาย/รพ.หาดใหญ่ รวม 30 ล้านบาท

-กล้องส่องตรวจระบบทางเดินอาหาร ทางเดินน้ำดีและตับอ่อนด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงพร้อมชุดควบคุมสัญญาณภาพ รพ.บุรีรัมย์ 12 ล้านบาท

-เครื่องเลเซอร์พลังงานสูงขนาดไม่น้อยกว่า100วัตต์ รพ.อุทัยธานี 12 ล้านบาท

-เครื่องเอกซเรย์เต้านมระบบดิจิตอล 3 มิติ (เครื่องละ 11,500,000 บาท) รพ.ศรีสังวาล/รพ.หนองบัวลำภู รวม 23 ล้านบาท

ทั้งนี้  ให้แต่ละจังหวัดเตรียมโครงการเสนอให้เรียบร้อยภายในเดือนส.ค.2567