รามาฯ-สธ.-สวรส.-สสส. สานพลัง มหาวิทยาลัย 4 ภาค ลงพื้นที่ประเมินสุขภาพกาย-ใจ เจาะคำถามปัจจัยเสี่ยงยอดฮิต บุหรี่ไฟฟ้า-กัญชา-กระท่อม 21 จังหวัด เก็บข้อมูลภาวะสุขภาพ ปัจจัยเสี่ยง และพฤติกรรมทางสุขภาพ เพื่อควบคุมและป้องกันโรค หวังเป็นข้อมูลสำคัญช่วยรัฐกำหนดนโยบายเดินหน้าสร้างสังคมสุขภาวะ สอดรับเป้าหมายลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ที่โรงแรม แกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่นโฮเทล จ.นนทบุรี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมหาวิทยาลัย 4 แห่งทั่วภูมิภาค ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดการประชุมชี้แจงโครงการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 7 พ.ศ. 2567-2568 การเก็บข้อมูลภาวะสุขภาพ ปัจจัยเสี่ยง และพฤติกรรมทางสุขภาพของคนไทยเพื่อการควบคุมและป้องกันโรค รวมทั้งสนับสนุนภาครัฐกำหนดนโยบายสร้างเสริมสุขภาพเฝ้าระวังสภาวะทางสุขภาพประชาชนไทยในระยะยาว
โดย นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัด สธ. กล่าวในพิธีเปิดการประชุมว่า การสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ดำเนินการอย่างต่อเนื่องทุก ๆ 5 ปี เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2534 ในการสำรวจครั้งที่ 7 นี้ มีประชากรกลุ่มตัวอย่าง 32,400 คน จาก 21 จังหวัดทั่วประเทศ มีลักษณะพิเศษกว่าการสำรวจอื่น ๆ เพราะนอกจากการเก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์ ยังมีการตรวจร่างกายพื้นฐาน รวมถึงตรวจเลือด และตรวจปัสสาวะ
การสำรวจรูปแบบนี้มีการดำเนินการในต่างประเทศเกือบ 50 ประเทศทั่วโลก แสดงให้เห็นว่าการสำรวจสุขภาพที่มีการตรวจร่างกายร่วมด้วย จะทำให้เกิดข้อมูลที่มีความสำคัญต่อการกำหนดนโยบายสุขภาพของประเทศต่าง ๆ เนื่องจากทำให้พบข้อมูลความชุกของโรคที่สำคัญ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง พฤติกรรมเสี่ยงด้านสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การบริโภคอาหาร กิจกรรมทางกาย ปัญหาสุขภาพจิต ข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาและวางแผนสาธารณสุขของไทย ขณะเดียวกันประชากรกลุ่มตัวอย่างได้รู้ถึงสถานะสุขภาพของตนเองด้วย
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า ข้อมูลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยมีความสำคัญต่อการดำเนินงานของ สธ. โดยช่วงเริ่มต้นกำหนดแผนยุทธศาสตร์โรคไม่ติดต่อ (NCDs) ข้อมูลที่มีอยู่ใน สธ. พบคนไทยเป็นโรคเบาหวานเพียง 8 แสนคน แต่ในรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 4 พ.ศ. 2552 พบว่าความชุกโรคเบาหวานในประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มีถึง 2.8 ล้านคน ที่สำคัญ ในจำนวนนี้ไม่รู้ว่าตนเองเป็นเบาหวานและไม่ได้รับการรักษากว่า 1 ล้านคน จึงทำให้เกิดโครงการรณรงค์การคัดกรองโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงในประชากรไทย ซึ่งการคัดกรองนี้ถือเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญของ สธ.
นอกจากนี้ ข้อมูลจากการสำรวจสะท้อนให้เห็นประสิทธิภาพของระบบการรักษาผู้ป่วย NCDs ของ สธ. ที่ไม่ได้มาจากระบบการเก็บข้อมูลโดยปกติที่มีเฉพาะข้อมูลจากโรงพยาบาลเท่านั้น ถือเป็นข้อมูลสะท้อนแนวโน้มสถานการณ์โรคและพฤติกรรมเสี่ยงของประชากรทั้งประเทศ
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. เห็นความสำคัญของการสำรวจด้านสุขภาพ ได้ร่วมสนับสนุนการสำรวจตั้งแต่ครั้งที่ 4 เป็นต้นมา ข้อมูลการสำรวจถือเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางและเป้าหมายการทำงาน รวมถึงใช้ติดตามผลการทำงานสร้างเสริมสุขภาพของไทย การสำรวจครั้งที่ 7 นี้ สสส. เตรียมนำข้อมูลการสำรวจใหม่ ๆ เช่น ศึกษาการทำงานของตับ อาการผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณของโรคทางตับ ที่อาจสัมพันธ์กับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้เกิดตับอักเสบและตับแข็งระยะเริ่มต้น ถือเป็นการสำรวจอัตราการดื่มหนัก-เบาในระดับพื้นที่แบบเชิงรุก รวมถึงศึกษาแนวโน้มภาวะเมทาบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome) ที่เกิดจากระบบการเผาผลาญของร่างกายทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดภาวะอ้วนลงพุง โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงในกลุ่มคนอายุน้อย นำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบาย การส่งเสริมรณรงค์ลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การบริโภคอาหารตามหลักโภชนาการ ลดหวาน มัน เค็ม และเพิ่มการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ลดเสี่ยงโรค NCDs ที่กำลังรุกคืบให้เกิดความเจ็บป่วยในกลุ่มวัยหนุ่มสาวมากขึ้น ส่งผลเสียรุนแรงกับประเทศในภาวะที่เด็กเกิดน้อยและเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์
รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และหัวหน้าโครงการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 7 กล่าวว่า การสำรวจครั้งนี้ ได้เพิ่มคำถามด้านสุขภาพที่สอดคล้องกับสถานการณ์และปัญหาสังคมมากขึ้น ทั้งการสูบบุหรี่ไฟฟ้า กัญชา กระท่อม มลพิษทางอากาศ PM2.5 และผลกระทบจากโควิด-19 โดยผลการสำรวจภายใต้การสนับสนุนการดำเนินงานของ สสส. สวรส. และ สธ. ครั้งนี้ จะเป็นข้อมูลสำคัญที่ใช้ประเมินผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานด้านการควบคุมโรค NCDs ของไทย นอกจากนี้ ยังมีการเก็บปัสสาวะ 24 ชม. เพื่อตรวจระดับโซเดียม เนื่องจากพบว่าการบริโภคโซเดียมของคนไทยอยู่ในระดับสูงกว่าค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดถึง 2 เท่า และใน พ.ศ. 2568 จะครบกำหนดตามที่ WHO กำหนด 9 เป้าหมายการรับมือสถานการณ์ NCDs โดยเฉพาะ 6 เรื่องที่ยังไม่บรรลุเป้าหมาย
1.ลดการเสียชีวิตจากโรค NCDs ลง 25%
2.ลดการบริโภคสุราลง 10%
3.ลดการบริโภคยาสูบลง 30%
4.ลดการบริโภคโซเดียมลง 30%
5.ลดภาวะความดันโลหิตสูงลง 25%
6.หยุดการเพิ่มของโรคเบาหวานและอ้วน
- 801 views