ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วงเสวนา “ลดทอนการควบคุมแอลกอฮอล์...เมืองไทยจะไปต่อหรือพอแค่นี้?” เครือข่ายงดเหล้าฯ เผยแก้ไขร่าง พ.ร.บ.คุมน้ำเมา คาดเสร็จ ก.ย.ปีนี้ ถ้าจะผ่อนต้องไม่เกิดความเสียหายมากกว่าเดิม สภาพัฒน์ชี้แม้มีกฎหมาย รณรงค์ต่อเนื่อง ยังไม่เห็นผล คนไทยเกิดอุบัติเหตุเพิ่ม พบปัญหาใช้ความรุนแรงในครอบครัว เหตุจากสุรา “หมอคำนวณ” ชี้ปิดผับตี 4 ทำคนเสียชีวิตเพิ่ม

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ที่เดอะ ฮอลล์ บางกอก วิภาวดี 64 มีการเสวนาหัวข้อ “ลดทอนการควบคุมแอลกอฮอล์...เมืองไทยจะไปต่อหรือพอแค่นี้?” โดยดร.ภูมิสุข คณานุรักษ์ สํานักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า แม้ว่าจะมีกฎหมายในการควบคุมแอลกอฮอล์ แต่ก็ยังไม่สามารถควบคุมได้ แนวโน้มมูลค่าการบริโภคแอลกอฮอล์จากปี 2563-2566 มีสูงขึ้น คนไทยดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉลี่ย 8.3 ลิตรต่อปี ในปี 2566 ส่งผลต่อสุขภาพ สร้างปัญหาด้านสาธารณสุข แม้ว่าจะมีการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่ค่อยได้ผล เห็นได้ว่ามีนักดื่มหน้าใหม่อายุ 15-19 ปี จำนวน 1.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึง 2 แสนคน

ส่วนผลกระทบด้านสังคม การเกิดอุบัติเหตุ จากสถิติของกรมควบคุมประพฤติ พบคดีขับรถขณะเมาสุรา โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ จำนวน 7,130 คดี คิดเป็นร้อยละ 96.51 คดี ด้านความรุนแรงในครอบครัวจากการดื่มแอลกอฮอล์ แนวโน้มปี 2559-2565 จากหลักพันเคส สูงขึ้นเป็น 2,347 ราย ร้อยละ 26.4 สาเหตุจากการเมาสุราและการเมาสุราร่วมกับการใช้สารเสพติด ร้อยละ 59.4 เป็นความรุนแรงด้านร่างกาย

ศ.(พิเศษ) วิชา มหาคุณ  คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ทุกประเทศทั่วโลก สุราจะผูกขาดไม่ได้ หากผูกขาดจะกำหนดกฎเกณฑ์ของการทำนโยบาย ประเทศไทยกฎหมายดี แต่ยังบังคับใช้ไม่ได้ การจัดทำนโยบายด้านเศรษฐกิจต้องคิดให้รอบด้าน บางอย่างได้ไม่คุ้มเสีย โดยเฉพาะการสร้างอนาคตของชาติให้ไปสู่จุดมุ่งหมายที่ต้องการ นอกจากนี้ การควบคุมการโฆษณาก็สำคัญ เพราะมีเรื่องวุฒิภาวะ ขอให้คำนึงถึงคนรุ่นใหม่ด้วย

ด้านนายธีระ วัชรปราณี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ใช้มาแล้ว 16 ปี โดยประกาศใช้ 14 กุมภาพันธ์ 2551 ตอนนี้มีกฎหมายที่เสนอเข้ามาทั้งหมด 5 ฉบับ 3 ฉบับ ต้องการปรับแก้ไขร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้เข้มแข็งขึ้น อีก 2 ฉบับ เป็นเรื่องการขายให้เสรี โฆษณาได้มากขึ้น แต่ฝั่งรัฐบาลและฝ่ายค้านต้องการให้ผ่อนลง ทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ สคล. ยืนอยู่ในฝั่งสุขภาพ มีความเห็นว่า ถ้าจะผ่อน ต้องไม่เกิดความเสียหายมากกว่าที่เป็นอยู่

"ถ้าจะลงทุนในทางเศรษฐศาสตร์เพื่อป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs เศรษฐศาสตร์สาธารณสุขก็ยืนยันว่า ถ้าไม่มี พ.ร.บ.แอลกอฮอล์ ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2551 อัตราการดื่มแอลกอฮอล์จะเพิ่มขึ้นถึง 10 ลิตรแอลกอฮอล์ต่อคนต่อปี สถานการณ์ในสภา มีการประชุมเรื่อง พ.ร.บ. มาแล้วกว่า 20 ครั้ง คาดว่า จะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน และเข้าสู่สภาเพื่อพิจารณาอีกรอบหนึ่ง อีกหนึ่งหัวใจสำคัญ คือ การควบคุมโฆษณาที่ทำให้เห็นว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องปกติธรรมดา การพิจารณาในกฎหมายต่าง ๆ ต้องการให้ธุรกิจทำได้อย่างตรงไปตรงมา ไม่แฝงไปกับเครื่องดื่มชนิดอื่น" นายธีระ เสริม

นายธีระ กล่าวต่อว่า 16 ปีที่บังคับใช้กฎหมาย ปัญหาใหญ่ คือ การบังคับใช้ ซึ่งผลประโยชน์ การเมือง ธุรกิจ การสร้างจิตสำนึก กฎหมายที่ใช้ในการควบคุม และการบังคับใช้กฎหมาย เป็นวงจรที่ไม่สมดุล สิ่งที่จะไปต่อเป็นการกระจายการตัดสินใจ หากจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตในการทำบางอย่าง คนในพื้นที่ในจังหวัดต้องช่วยกันตัดสินใจและกำกับดูแล 

นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... กล่าวว่า ประเทศไทยมีคนที่ติดสุรา ดื่มหนักมากจนทำลายสุขภาพถึง 1.4 ล้านคน ในจำนวนนี้ 3 แสนคนติดสุราหนักมากจนทำงานไม่ได้ ดังนั้น สุราทำให้ลดทอนการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต ในหลาย ๆ ประเทศ คนรุ่นใหม่หรือ Gen Z ไม่อยากดื่ม หรือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง อีกทั้งการดื่มมากทำให้เกิดปัญหา กลุ้มใจ และยังทำให้ถูกล่วงละเมิดหรือเอาเปรียบได้ ทำให้ Gen Z ปฏิเสธการดื่ม แต่ยังมาไม่ถึงคนไทย 

"รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะลด มีแผนการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อยากลดปีละ 5% และในปี 2570 จะลดมาให้เหลือ 5.2 ลิตรต่อคนต่อปี แต่เมื่อแผนที่เขียนไปสู่รัฐบาลมักจะมีความเห็นที่ขัดแย้งกัน มักจะคิดว่า สุขภาพเป็นเรื่องระยะยาว แต่ใน 4 ปี ต้องทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นก่อน การขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เปิดผับบาร์ขยายถึงตี 4 นำร่องไป 5 จังหวัด เชียงใหม่ ชลบุรี กรุงเทพฯ สมุย ภูเก็ต ทำให้คนเสียชีวิตในช่วงเวลา ตี 2-6 โมงเช้า เพิ่มขึ้น 13-25% ประมาณ 20-40 คน" นพ.คำนวณ กล่าว

นพ.คำนวณ ทิ้งท้ายว่า การออกนโยบายต้องไม่เป็นอันตรายต่อคนอื่น อย่าคิดแต่เรื่องเศรษฐกิจ และต้องไม่สร้างความเหลื่อมล้ำ 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

- นักวิชาการ ชี้คนดื่มแอลกอฮอล์เยอะ ศก.ยิ่งถดถอย ปี 21 คนไทยเสียชีวิตเกือบ 2.4 พัน