ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สาธารณสุข ตรวจเยี่ยม รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ฝากวิจัยต่อยอด “ใบมะละกอ” ทางเลือกช่วยผู้ป่วยมะเร็ง เผยคนเริ่มบอกหายากขึ้น  พร้อมศึกษา “กัญชา-กระท่อม-เถาวัลย์เปรียง” รักษาคนติดยาบ้า  ชี้สธ.กับกลุ่มคัดค้านมีวัตถุประสงค์ตรงกัน แต่พูดกันไปมาอาจทำเข้าใจผิด ย้ำ! กัญชาใช้ทางการแพทย์ ทั้งแผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก แต่ไม่หนุนสันทนาการ ชู "มัสคูลสเปรย์จากกระดูกไก่ดำ" เป็นสมุนไพรเด่น รพ.อภัยภูเบศร

 

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม  นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานเปิดอาคารนวัตกรรม เปรม ชินวันทนานนท์ มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัย นวัตกรรมสมุนไพร สอดรับกับนโยบาย IGNITE THAILAND ของรัฐบาล เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ  ว่า ตนอยากให้กระทรวงสาธารณสุขช่วยรณรงค์ในการพัฒนาสมุนไพรไทย “1 จังหวัด 1 ตัวยาสมุนไพร” เนื่องจากวันนี้ดูจากตำรับยาที่ผ่านการรับรองจาก อย. 77,300 รายการ มียาแพทย์แผนไทยที่อยู่ในบัญชียาหลักน้อยมาก  ซึ่งเราจะทำอย่างไรให้เกิดการยอมรับในสมุนไพรมากขึ้น แน่นอนว่าการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานด้วยงานวิจัยและพัฒนา เพื่อพิสูจน์ให้เขาเห็นถึงประโยชน์ในทางการรักษา ก็จะช่วยเพิ่มความมั่นใจในยาสมุนไพรได้  

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนตัวเชื่อมั่นในสมุนไพรไทย และเคยเจอประสบการณ์ครั้งสำคัญ คือช่วงวิกฤติโควิด 19 ในขณะที่ทั่วโลกไม่มียาและวัคซีน ผมเป็น รมว.ยุติธรรม ต้องดูแลนักโทษ 360,000 คน  ก็ได้ฟ้าทะลายโจรของอภัยภูเบศร ช่วยชีวิตพวกเขาไว้  สมุนไพรอีกตัว คือกัญชา ซึ่งวันนี้ยืนยันว่า เราไม่ได้ปิดกั้นการใช้ แต่ให้ใช้อยู่ในการดูแลของแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย หรือแพทย์ทางเลือก ก็ตาม เดี๋ยวเราจะเขียนไว้ให้ชัดเจนว่า ไม่สนับสนุนให้ใช้ในทางสันทนาการ

หนุนวิจัย "ใบมะละกอ" และ "กัญชา กระท่อม เถาวัลย์เปรียง"

“จริง ๆ แล้วกระทรวงสาธารณสุข กับ กลุ่มผู้คัดค้านการนำกัญชาสู่ยาเสพติด เรามีวัตถุประสงค์ตรงกัน แต่พูดกันไปมา ก็เลยออกมาแบ่งข้าง ทำให้เกิดการเข้าใจผิด  เช่นเดียวกับกระท่อมที่อยู่ในบัญชียาเสพติดมาถึง 78 ปี เนื่องจากคนนำไปใช้ในการเลิกฝิ่นและรัฐบาลในสมัยนั้น ต้องการปราบฝิ่น จึงให้อยู่ในบัญชียาเสพติดไปด้วยกัน ซึ่งจริง ๆ แล้วกระท่อมมีประโยชน์มากโดยเฉพาะมีสรรพคุณเป็นยาชาได้ดีกว่ามอร์ฟีน ก็ขอฝากให้มีการวิจัยสมุนไพร 3 ชนิดคือ กัญชา กระท่อม เถาวัลย์เปรียง ว่าสามารถรักษาคนติดยาบ้าได้หรือไม่ ถ้าได้ก็จะเป็นประโยชน์มาก” นายสมศักดิ์ กล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า เรื่องใบมะละกอก็เป็นอีกสมุนไพร  ซึ่งจากประสบการณ์ส่วนตัว ที่เพื่อนเสียชีวิตไป โดยที่ตนไม่ได้บอกว่า มีสูตรยารักษามะเร็งจากใบมะละกอ โดยสามารถทำยาใช้ได้เองโดยการสับใบมะละกอใส่หม้อเคี่ยวให้เหลือ 50% ทิ้งไว้ให้เย็นแล้วกรองน้ำแล้วนำมาดื่ม หลายคนหายทั้งมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ มะเร็งปอด ฯลฯ แต่เนื่องจากมะเร็งมีหลายสายพันธุ์เราจึงไม่สามารถรับรองได้ ตอนนี้คนที่ได้ยินเรื่องมะละกอจากตน บอกว่าหา ใบมะละกอ ยากแล้ว  จึงขอฝากรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร  ช่วยวิจัยต่อยอด เพื่อจดสิทธิบัตรได้ในอนาคตให้เป็นสมบัติของแผ่นดิน

"มัสคูลสเปรย์จากกระดูกไก่ดำ" เป็นสมุนไพรเด่น รพ.อภัยภูเบศร

จากนั้น นายสมศักดิ์ ได้เดินชมบูธนิทรรศกาลที่นำเสนอสมุนไพรที่อภัยภูเบศรได้วิจัยพัฒนาจนได้ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ตำรับกลีบบัวแดง ในผู้ป่วยที่มีภาวะความจำบกพร่อง อภัยเมาท์สเปรย์ ยาพ่นคอฟ้าทะลายโจร  กระชายต้านโควิด เพชรสังฆาตกับภาวะกระดูกพรุน ตำรับยารักษาสะเก็ดเงิน และ งานวิจัย มัสคูลสเปรย์ จากกระดูกไก่ดำ เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรให้กับประชาชนด้วย ซึ่ง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  การันตีด้วยตัวเองว่า ใช้ดีจริง เนื่องจากได้ทดลองใช้ด้วยตัวเอง

ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ ได้เสนอว่าให้เป็นผลิตภัณฑ์เด่นของ รพ.อภัยภูเบศร และให้ปลัดส่งเสริมให้นำมัสคูลสเปรย์ ไปใช้ในโรงพยาบาล เสริมการรักษากับแผนปัจจุบัน

ด้าน พญ.ชนิดา สยุมภูรุจินันท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และประธานมูลนิธิอภัยภูเบศร กล่าวว่า ในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสมุนไพร ได้นำองค์ความรู้ภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านและชุมชน มาทวนสอบความถูกต้องตามหลักวิชาการและเก็บเป็นฐานข้อมูล เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และนำมาใช้ในโรงพยาบาล ภายใต้การดูแลของแพทย์ แพทย์แผนไทย และเภสัชกร อย่างเป็นระบบ จนมั่นใจในประสิทธิผลและความปลอดภัย ก่อนส่งต่อให้มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรฯ นำไปศึกษาวิจัยต่ออย่างเต็มรูปแบบ ทั้งการศึกษาขนาดของยาที่เหมาะสม ความคงสภาพ การวิจัยในสัตว์ทดลองและในคนตามมาตรฐานการวิจัย โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยเครือข่าย เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล  มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จนกระทั่งสามารถส่งผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้