สธ.เตรียมตั้งคณะทำงานแก้ปัญหางบประมาณของนิติเวช ออกระเบียบ ของบฯ ตอบแทนภาระงานหมอและคิดค่าบริการสาธารณสุขด้านนิติเวช แก้ปัญหาชันสูตรพลิกศพ เสนอครม.ต่อไป
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 9 ก.ค.มีมติรับทราบรายงานของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ถึงการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาการชันสูตรพลิกศพว่า จะยึดแนวปฏิบัติเดิมแต่จะกำหนดระเบียบ กฎเกณฑ์ และแนวทางการบริหารจัดการงบประมาณเพื่อสนับสนุนค่าตอบแทนการปฏิบัติงานของแพทย์และค่าบริการสาธารณสุขด้านนิติเวช
ก่อนหน้านี้ ครม.มอบให้ สธ.มาหาทางออกร่วมกับหน่วยงานต่างๆ หลังได้รับรายงานจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่า มีกรณีร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ 3 ประเด็นหลัก คือ
1.มาตรฐานการให้ความเห็นเชิงวิชาการของแพทย์ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพ
2.ปัญหาเกี่ยวกับความเชี่ยวชาญของเจ้าหน้าที่ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพซึ่งอาจกระทบต่อสิทธิในกระบวนการยุติธรรม
3.แนวทางการแก้ไขปัญหาหรือกระบวนการตรวจสอบซ้ำ เพื่อเป็นหลักประกันและยืนยันความถูกต้องของผลการชันสูตรที่ชัดเจน
สธ.รายงานว่า ตามที่ กสม.เสนอให้ ครม.แก้ปัญหาระยะสั้นโดยให้ สธ. สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และแพทยสภาร่วมกันพิจารณาแนวทางในการตรวจพิสูจน์ซ้ำเพื่อให้มีมาตรฐานและเป็นไปในแนวทางเดียวกันนั้น หารือกันแล้วได้ข้อสรุปสองประการคือ
หนึ่ง ให้ปฏิบัติโดยยึดประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 151 ประกอบกับประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ลักษณะ 10 การชันสูตรพลิกศพ บทที่ 1 อำนาจและหน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพ ข้อ 62 และประกาศราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย วาระ พ.ศ. 2562 – 2564 ชุดที่ 17 ที่ 25/2563 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 25633
ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 151 กำหนดว่า บัญญัติให้เมื่อมีการจำเป็นเพื่อพบเหตุของการตาย เจ้าพนักงานผู้ทำการชันสูตรพลิกศพมีอำนาจสั่งให้ผ่าศพแล้วแยกธาตุส่วนใด หรือจะให้ส่งทั้งศพหรือบางส่วนไปยังแพทย์หรือพนักงานแยกธาตุของรัฐบาลก็ได้
สำหรับ ประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ลักษณะ 10 การชันสูตรพลิกศพ บทที่ 1 อำนาจและหน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพ ข้อ 6 วรรคหนึ่งกำหนดให้ในการชันสูตรพลิกศพนั้น เมื่อมีความจำเป็นเพื่อพบเหตุของการตาย เจ้าพนักงานผู้ทำการชันสูตรพลิกศพมีอำนาจสั่งให้ผ่าศพ แล้วแยกธาตุส่วนใดหรือจะให้ส่งทั้งศพ เศษหรือบางส่วนของศพไปยังแพทย์ หรือพนักงานแยกธาตุของรัฐก็ได้
ส่วนประกาศราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย ชุดที่ 17 ที่ 25/2563 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2563 กำหนดแนวทางปฏิบัติในการผ่าศพซ้ำ กรณีการร้องขอให้ผ่าซ้ำ โดยกำหนดขั้นตอน ไว้ดังนี้
1. หน่วยงานที่ถูกร้องขอจะรับทำได้ ต้องมีห้องปฏิบัติการการชันสูตรศพที่ผ่านการรับรองโดยราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย
2. หน่วยงานที่ถูกร้องขอต้องจัดตั้งคณะกรรมการ ซึ่งเป็นแพทย์จำนวนไม่น้อยกว่า 3 คน โดยต้องประกอบด้วยกรรมการสองกลุ่ม ได้แก่ กรรมการจากหน่วยงานที่ถูกร้องขอ กับกรรมการภายนอก
3. คุณสมบัติของกรรมการมี ดังนี้
3.1 เป็นแพทย์ที่ได้รับหนังสืออนุมัติหรือวุฒิบัตรจากแพทยสภาในสาขานิติวิทยาศาสตร์
3.2 หลังจากได้รับหนังสืออนุมัติหรือวุฒิบัตรแล้ว ต้องปฏิบัติงานในสาขานิติเวชศาสตร์เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี (และขณะที่เป็นกรรมการยังปฏิบัติงานในสาขานิติวิทยาศาสตร์อยู่)
3.3 ต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้ร้องขอให้ทำการผ่าศพซ้ำ และผู้เสียชีวิต
4. ให้คณะกรรมการประสานขอข้อมูลการผ่าศพครั้งก่อน เท่าที่ทำได้
5. ผู้ผ่าศพครั้งก่อน หรือตัวแทน สามารถเข้าร่วมสังเกตการณ์กระบวนการผ่าศพได้
6. การสรุปผลการผ่าศพซ้ำ หากไม่สามารถหาฉันทามติได้ ให้กรรมการแต่ละคนแสดงความเห็นไว้ในรายงาน
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะมีการยกระดับประกาศราชวิทยาลัยฯ โดยให้แพทยสภาออกประกาศเป็นข้อบังคับแพทยสภาเพื่อการบังคับใช้ให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน โดยให้ราชวิทยาลัยฯ เสนอเรื่องต่อแพทยสภาต่อไป
ส่วนข้อสอง กรณีกสม.เสนอให้กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการขนส่งศพเพื่อทำการผ่าพิสูจน์นั้น หารือกันแล้วได้ความว่า สธ. จะแต่งตั้งคณะทำงานสำหรับการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาด้านงบประมาณของนิติเวชร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดระเบียบ กฎเกณฑ์ และแนวทางการบริหารจัดการงบประมาณเพื่อสนับสนุนค่าตอบแทนการปฏิบัติงานของแพทย์และค่าบริการสาธารณสุขด้านนิติเวชเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาและขอรับการจัดสรรงบประมาณต่อไป
- 161 views