เปิดความสำเร็จ 2 ชุมชนต้นแบบด้านสุขภาพอย่างยั่งยืน โครงการอาสาจุฬาภรณ์ ชุมชนเมืองเขตหลักสี่ และชุมชนชนบท จ.น่าน พร้อมบูรณาการการเรียนการสอนให้นักศึกษาลงพื้นที่จริง เก็บข้อมูล ตรวจคนไข้ ต่อยอดจากองค์ความรู้ ทำงานเพื่อสังคม   

วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้จัดงานแถลงข่าวความก้าวหน้า “โครงการอาสาจุฬาภรณ์” เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา ณ ห้อง Auditorium ชั้น 3 อาคารวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ โดยมี รศ.นพ.ธีรภัทร อึ้งตระกูล รักษาการคณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ผศ.นพ.วิสุทธิ์ ล้ำเลิศธน รักษาการรองคณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน และประธานโครงการอาสาจุฬาภรณ์ ผศ.นพ.ณัฐวุฒิ กันตถาวร ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการวิชาการ และ ผศ.ดร.วิริยะ มหิกุล อาจารย์ประจำวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน หัวหน้าโครงการวิจัยชุมชนอาสาจุฬาภรณ์ ร่วมกันรายงานความก้าวหน้าและเสนอมุมมองการพัฒนาสุขภาพในชุมชน

ผศ.นพ.วิสุทธิ์ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของ โครงการอาสาจุฬาภรณ์ ว่า การพัฒนาคน อาสาจุฬาภรณ์ ในด้านการดูแลสุขภาพตนเอง ครอบครัว และชุมชน เพื่อสร้างชุมชนต้นแบบด้านสุขภาพที่มีความยั่งยืน พร้อมพัฒนาศักยภาพชุมชน สร้างความเข้มแข็งของชุมชน ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รวมทั้งพัฒนามาตรฐานความเป็นอยู่ของชุมชนให้ดีขึ้น และยังสร้างระบบดูแลสุขภาพ ที่ประชาชนในชุมชนมีส่วนร่วม
 
โครงการอาสาจุฬาภรณ์มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 อาศัยหลักการ "สร้างคน สร้างเครื่องมือ และสร้างระบบ" รองรับการบริการชุมชน ให้มีความมั่นคงและมีคุณภาพอย่างยั่งยืน โดยมีพื้นที่ชุมชนเป้าหมาย ได้แก่ ชุมชนเมืองโดยรอบราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และชุมชนชนบท ที่อ.บ้านหลวง จ.น่าน ในโครงการมีเครือข่ายอาสาจุฬาภรณ์ จำนวน 363 คน 

"โครงการฯ ได้จัดกิจกรรมอบรมความรู้ด้านสุขภาพทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติ การให้บริการด้านสุขภาพ การวิจัยชุมชนโดยที่ประชาชนมีส่วนร่วม พร้อมกับบูรณาการการเรียนการสอนให้นักศึกษา ได้มีโอกาสเข้าถึงและรับทราบปัญหาของประชาชนทั้งในเขตเมืองและชนบทมากยิ่งขึ้น"   

สำหรับความก้าวหน้าในการดำเนินงานจนถึงปัจจุบัน จะมีขั้นตอนสำคัญ 3 ขั้นตอน ได้แก่

1. ค้นหาชุมชนเป้าหมายที่สอดคล้องกับพันธกิจ เป็นชุมชนในโครงการวิจัยของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือชุมชนที่มีความสนใจด้านสุขภาพ

2. สำรวจปัญหาและความต้องการ โดยเฉพาะปัญหาด้านสุขภาพ จัดทำโครงการร่วมกับชุมชน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน

3.จัดทำแผนบูรณาการ พัฒนาความรู้ด้านสุขภาพ พัฒนาศักยภาพชุมชน และพัฒนางานวิจัยชุมชน

"นอกจากพัฒนาชุมชน แล้วยังนำงานวิจัยไปบูรณาการ เป็นการเรียนการสอนทางอ้อม ให้นักศึกษามีปฏิสัมพันธ์ เรียนรู้การเก็บข้อมูลในชุมชน และได้ทำงานเพื่อสังคม" ผศ.นพ.วิสุทธิ์ กล่าว

ผศ.นพ.วิสุทธิ์ เพิ่มเติมว่า จากการลงชุมชนจะเห็นว่า ชุมชนต่าง ๆ เข้าสู่สังคมหรือชุมชนผู้สูงอายุ จึงต้องประสานความร่วมมือกัน พยายามเชื่อมต่อกับเด็กในชุมชน ดึงคนรุ่นใหม่และเยาวชนมามีส่วนร่วม สร้างพลังงานหมุนเวียนด้วยนักศึกษา เพราะการพัฒนาชุมชนยั่งยืนไม่ได้ถ้าทำคนเดียว โดยการดึงคนในชุมชนมาต่องานกันก็ถือเป็นความท้าทายอีกเรื่องหนึ่ง

"เป้าหมายในอนาคต ต้องการบูรณาการกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อดูแลชุมชน ปัจจุบันเน้นเรื่องการพัฒนาชุมชนผ่านงานวิจัย โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการวิจัย เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพในชุมชนได้ด้วยตัวเอง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในระยะยาว การดูแลสุขภาพไม่ใช่เรื่องไกลตัว ไม่อยากให้รอให้เกิดโรคก่อนแล้วค่อยรักษา ชุมชนต่าง ๆ ควรตระหนักว่า สังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทุกคนต้องดูแลตัวเอง ส่งเสริมสุขภาพ ตระหนักถึงการดูแลตัวเองในการป้องกันโรคร่วมด้วย"

ด้านผศ.ดร.วิริยะ เสริมว่า โครงการนี้บูรณาการการวิจัย การเรียนการสอน และการบริการวิชาการด้านการแพทย์และสาธารณสุขร่วมกับคนในชุมชน โดยงานวิจัยจะไปสนับสนุนให้คนในชุมชนสามารถวางแผนสุขภาพ คิดโครงการได้ด้วยตัวเอง และยังแก้ปัญหาสุขภาพด้วยตนเองได้ด้วย ส่วนนวัตกรรมสุขภาพ มีแอปพลิเคชัน อาสาจุฬาภรณ์ ในการเข้าไปคัดกรองโรค ภาวะเสี่ยงในชุมชน ในการวางแผนต่อไปในอนาคต เพื่อให้สุขภาพดีและห่างไกลโรคได้ด้วยกิจกรรมต่าง ๆ เมื่อชุมชนได้เป็นชุมชนต้นแบบก็สามารถนำความรู้ งานวิจัย ไปส่งต่อความรู้ให้ชุมชนอื่นได้

"โครงการอาสาจุฬาภรณ์ ยังมีนักศึกษาแพทย์ นักศึกษาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ ร่วมลงพื้นที่ เพื่อประยุกตร์องค์ความรู้ เช่น นักศึกษาแพทย์ได้ตรวจสุขภาพเบื้องต้น วัดชีพจร ตรวจวัดน้ำตาลในเลือด บูรณาการองค์ความรู้ไปยังชุมชน และยังได้ศึกษาความแตกต่างตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ฝึกการปรับตัว ต่อยอดจากองค์ความรู้ นำไปแลกเปลี่ยนในชั้นเรียนได้ด้วย" ผศ.ดร.วิริยะ กล่าว