นายกสภา มธ.เผย รพ.ธรรมศาสตร์ฯ แบกต้นทุนจ่ายแทนผู้ป่วยปีละ 40-50 ล้านบาท พร้อมเปิด "ศูนย์การแพทย์ธรรมศาสตร์" ยกระดับการบริการ คุณภาพพรีเมียมเทียบเท่า รพ.เอกชน นำรายได้มาช่วยค่าใช้จ่าย ดูแลผู้ป่วยทุกคนอย่างเท่าเทียม
ศูนย์การแพทย์ธรรมศาสตร์ หรือ THAMC (Thammasat Advanced Medical Center) จัดงานพิธีเปิดศูนย์การแพทย์ฯ (Soft Opening) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตประธานรัฐสภา เป็นประธานในพิธีเปิดอาคารศูนย์การแพทย์ธรรมศาสตร์ วันเดียวกันนี้ยังเป็นวาระพิเศษเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบการสถาปนา 90 ปีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นายชวน กล่าวเปิดงานว่า โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ที่มาถึงวันนี้ได้ อยากให้ระลึกถึงผู้บริหารแต่ละชุดที่ผ่านมา เพราะมีความยากในการไปสู่เป้าหมาย ที่เห็นถึงความสำเร็จนั้น ตอนเริ่มไม่ง่าย แต่เชื่อว่า โรงพยาบาลแห่งนี้จะเป็นโรงพยาบาลชั้นนำของประเทศ และได้มาตรฐานในระดับสากลเช่นกัน
ศูนย์การแพทย์ธรรมศาสตร์ ยกระดับบริการเทียบเท่าเอกชน
ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ศูนย์การแพทย์ธรรมศาสตร์ เป็นศูนย์การแพทย์ที่ครบวงจร (One-stop Service) รักษาพยาบาลผู้ป่วยในระดับพรีเมียม โดยมีเครื่องมืออุปกรณ์และบุคลากรทางการแพทย์ชั้นนำ ปัจจุบันโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ก่อตั้งมา 36 ปีแล้ว จากมีแพทย์ทำงานประมาณ 500 คน ขณะนี้มีบุคลากรมากกว่า 4,000 คนของโรงพยาบาล ไม่นับพนักงานมหาวิทยาลัยในตำแหน่งแพทย์หรือพยาบาลปฏิบัติงานเกือบ 1,000 คน ใช้งบประมาณในการดูแลผู้คนปีละ 7,500 ล้านบาท เกือบครึ่งหนึ่งของงบประมาณทั้งหมดของมหาวิทยาลัย ทุกวันนี้ รับผู้ป่วยนอกวันละ 5-6 พันคน มีผู้ป่วยนอกรับอยู่ 1,500,000 ครั้ง โดยเฉลี่ยในแต่ละปี
โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เป็นโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีขนาด 850 เตียง รับดูแลทุกคนโดยไม่เลือก นอกจากการรักษาพยาบาลแล้ว ยังพัฒนาการเรียนการสอน ผลิตบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างดี โดยมีเครื่องมือที่ทันสมัยตามมาตรฐานโรงเรียนแพทย์ และเป็นที่สำหรับการฝึกแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (Resident) ปีละ 100 คน และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางต่อยอด (Fellow) ปีละ 50 คน
"เราดูแลผู้ป่วยบนพื้นฐานการรับใช้ประชาชน ผ่านมาวันนี้ มีต้นทุนจ่ายแทนผู้ป่วยที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ปีละ 40-50 ล้านบาท รับแทนผู้ป่วยที่ใช้สิทธิ์เกิน ผู้ป่วยอยู่นอกหลักประกันสุขภาพ หรือผู้ป่วยที่ไม่มีศักยภาพในการจ่าย จึงเป็นเหตุผลให้ทางโรงพยาบาลต้องหารายได้อย่างอื่น นอกจากคลินิกนอกเวลา เป็นที่มาให้ ศูนย์การแพทย์ธรรมศาสตร์ เกิดขึ้น" ศ.ดร.สุรพล กล่าว
ศ.ดร.สุรพล กล่าวอีกว่า ในการมีศูนย์การแพทย์ธรรมศาสตร์ขึ้น เพื่อให้คนของเราได้ให้บริการในอีกมาตรฐานหนึ่ง อย่างเดียวกับที่โรงพยาบาลเอกชนชั้นนำที่ทำอยู่ ผู้ป่วยจะได้รับบริการที่ดีกว่า การรักษาโดยอาจารย์แพทย์ โดยมีความตั้งใจให้เป็นศูนย์การแพทย์ของมหาวิทยาลัยรัฐบาลที่ดีที่สุด ตอนนี้มีอาจารย์แพทย์เข้าเวรตรวจประมาณ 300 คน ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วย พร้อมเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยที่สุด
"เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กรรมการบริหาร รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ได้ประชุมและตัดสินใจ เห็นชอบการเก็บค่ารักษาพยาบาลของศูนย์การแพทย์ธรรมศาสตร์ เก็บในไอเท็ม โดยเฉลี่ย 80% ของโรงพยาบาลเอกชนในระดับ 2 จะเก็บค่ารักษาพยาบาล 50% ของโรงพยาบาลชั้น 1 ทั้งหมดที่อนุมัติให้ดำเนินการ อยากจะได้ปีละ 40-50 ล้านบาท มาช่วยค่าใช้จ่ายของ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ"
ภายในงาน ผศ.ดร.จตุวัฒน์ วโรดมพันธ์ ที่ปรึกษาด้านอาคารเขียวทั้งระบบ LEED AP and TREES. ยังได้มอบโล่อาคารเขียวระดับ PLATINUM ให้กับรศ.นพ.จิตตินัดด์ หะวานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์ธรรมศาสตร์ เนื่องด้วยการออกแบบและก่อสร้างอาคารให้เป็นอาคารอนุรักษ์พลังงาน ในหมวดอาคารสร้างใหม่ ตามเกณฑ์การประเมินความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในประเทศไทยที่ผ่านการรับรองอาคารเขียวในระดับ Platinum
อาคารศูนย์การแพทย์ธรรมศาสตร์ เป็นอาคาร 10 ชั้น ที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสอดคล้องกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เป็นมหาวิทยาลัยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย ออกแบบโดยคำนึงถึงปัจจัยในการบริหารจัดการอาคาร สภาพแวดล้อม และที่ตั้งอาคารที่เหมาะสม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้ประหยัดพลังงานไป 35% ใช้วัสดุยั่งยืนและวัสดุรีไซเคิล พร้อมติดโซล่าเซลล์ และได้คะแนนเต็มด้านพลังงานหมุนเวียนของอาคาร
ศูนย์การแพทย์ธรรมศาสตร์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดให้บริการในเฟสแรกตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา ครอบคลุมการให้บริการทั้งผู้ป่วยนอก อาทิ คลินิกกระดูกและข้อ คลินิกผิวหนัง คลินิกหูคอจมูก คลินิกอายุรกรรม คลินิกหัวใจและหลอดเลือด คลินิกศัลยกรรม คลินิกจิตตรักษ์ คลินิกกุมารเวช คลินิกสูติ-นรีเวช ศูนย์เลสิก ศูนย์ส่องกล้อง ศูนย์รังสีวินิจฉัย และผู้ป่วยในที่พร้อมให้บริการตามมาตรฐานวิชาชีพ 24 ชั่วโมง โดยสัญญาก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จ 30 กันยายน 2567
- 1038 views