16 มิ.ย. วันลูกจ้างทำงานบ้านสากล กรมสวัสดิการฯ ติวเข้มกฎกระทรวงฉบับ 15 เพิ่มสิทธิ์คุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน หวังผลักดันประกันสังคมมาตรา 33 คุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน เครือข่ายฯ หวังเกิดสวัสดิการคุ้มครองความเป็นมารดา-หลักประกันถ้วนหน้า
เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.เวลา 10.30 น. ที่โรงแรมเซ็นจูรีปาร์ค เครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย (NTDW) องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) มูลนิธิความร่วมมือเพื่อต้านการค้าหญิง (GAATW) มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ (Homenet Thailand) ร่วมกันจัดงานเฉลิมฉลองวันลูกจ้างทำงานบ้านสากล (International Domestic Workers Day 2024) ภายใต้หัวข้อ เราดูแล แล้วใครดูแลเรา “Women are care workers. Who cares for them?” โดยภายในงานมีกิจกรรมการให้ความรู้กฎกระทรวงแรงงาน ฉบับที่ 15 (พ.ศ. 2567) และการแสดงจากเครือข่ายต่าง ๆ โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก
น.ส.กัญญภา ประสพสุข ประธานเครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย กล่าวว่า อยากให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการเฉลิมฉลองในวันนี้ เรามีวันนี้เพราะองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ลงมติในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2554 จึงเป็นจุดเริ่มต้นของวันลูกจ้างทำงานบ้านสากล อย่างไรก็ตามเราอยู่คนเดียวไม่ได้ต้องทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายเพื่อให้มีพลังที่ใหญ่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเสียงของเราจะดังมากขึ้นในสังคม
ด้านนางพวงทอง โชคบุญเจริญ ผอ.กลุ่มงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ กองคุ้มครองแรงงานนอกระบบ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวบรรยายเรื่องกฎกระทรวงฉบับที่ 15 (พ.ศ.2567) ว่า กฎกระทรวงดังกล่าวออกตามความใน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เนื่องจากกฎกระทรวงฉบับที่ 14 ยังไม่ครอบคลุมการดูแลลูกจ้างทำงานบ้านให้เท่าเทียมมาตรฐานสากล จึงมีการหารือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้เกี่ยวข้อง โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา มีการประชุมรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายจนคลอดเป็นกฎกระทรวงมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งทางกระทรวงแรงงานมอบให้เป็นของขวัญสำหรับพี่น้องลูกจ้างทำงานบ้านทุกคน
ทั้งนี้ลูกจ้างทำงานบ้าน หมายถึงคนไทย คนข้ามชาติ ทั้งหญิงและชายที่ทำงานในบ้าน หรือตามที่ได้รับมอบหมาย เช่น ทำความสะอาด ทำอาหาร ทำกับข้าว เลี้ยงเด็ก ดูแลผู้สูงอายุ ดูแลคนป่วย ดูแลสัตว์เลี้ยง ทำสวน คนขับรถ เป็นต้น โดยการทำงานดังกล่าวต้องทำเพื่อครอบครัวหรือครัวเรือนของนายจ้างเท่านั้น ไม่รวมถึงกรณีที่ทำงานอันมีลักษณะอันเป็นการประกอบธุรกิจของนายจ้างรวมอยู่ด้วย
นางพวงทวง กล่าวว่า โดยกฎกระทรวงฉบับที่ 15 เพิ่มความคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้านใน 11 เรื่อง ได้แก่ 1.ลูกจ้างทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน แล้วแต่ตกลงกับนายจ้างว่าเริ่มและหยุดกี่โมง 2.เวลาพักไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง 3.การตกลงนำงานไปทำที่บ้านหรือทำงานผ่านเทคโนโลยี ทำให้ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านหรือสถานที่อื่นก็ได้ 4.ลากิจธุระอันจำเป็นได้ปีละ 3 วัน 5.ให้แจ้งการจ้างและแจ้งสิ้นสุดการจ้างเด็ก 6.กรณีอายุไม่ถึง 18 ปีเด็กสามารถลาฝึกอบรมปีหนึ่งไม่เกิน 30 วันโดยได้รับค่าจ้าง 7.ห้ามหักค่าจ้างโอที ค่าทำงานวันหยุด โอทีวันหยุด 8.มีการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เช่น ถ้ารัฐบาลกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ลูกจ้างก็ต้องได้รับค่าจ้างเฉลี่ยวันละ 400 บาทด้วย นอกจากนั้นยังเพิ่มการคุ้มครองแรงงาน โดยเฉพาะการใช้แรงงานหญิง คือ 9.ห้ามลูกจ้างหญิงมีครรภ์ ทำงานเวลา 22.00-06.00 น.ทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุด 10.ลาคลอดบุตรได้ 98 วัน ได้รับค่าจ้างไม่เกิน 45 วัน 11.ห้ามเลิกจ้างเพราะเหตุมีครรภ์ หากนายจ้างฝ่าฝืนจะถูกดำเนินคดีทันที
นางพวงทอง กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามในส่วนที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานปี 41 ให้ความคุ้มครองลูกจ้างอยู่แล้ว คือ ในเรื่องการใช้แรงงานทั่วไป คือ ต้องไม่เลือกปฏิบัติ คุ้มครองทั้งชายหญิง เท่าเทียมตั้งแต่แรก ซึ่งการใช้แรงงานทั่วไป มีข้อกำหนดในการห้ามเรียกหรือรับหลักประกันการทำงาน ให้ปฏิบัติต่อลกจ้างชายและหญิงโดยเท่าเทียม ห้ามล่วงเกินหรือคุกคามทางเพศ ที่ผ่านมามีข่าวลักษณะนี้เกิดขึ้นบ่อยมาก กฎหมายพยายามจะพัฒนาให้มีการแจ้งกับเจ้าหน้าที่หรือพนักงานตรวจแรงงานและขอเตือนลูกจ้างให้ต้องแจ้งหากถูกการละเมิด รวมทั้งให้มีการบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนเลิกจ้าง ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์ 1 วันต่อสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี 13 วันต่อปี รวมวันแรงงานแห่งชาติ มีวันหยุดพักผ่อนประจำปี 6 วัน ลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง และได้รับค่าจ้างไม่เกิน 30 วัน หากลูกจ้างไม่ได้รับสิทธิ์เหล่านี้ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่หรือพนักงานตรวจแรงงานทันที
นางพวงทอง กล่าวต่อว่า ในประเด็นการใช้แรงงานเด็ก ห้ามจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นลูกจ้าง ห้ามเรียกหรือรับหลักประกันลูกจ้างเด็ก ห้ามจ่ายค่าจ้างลูกจ้างเด็กให้แก่บุคคลอื่น หากนายจ้างฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษ ปรับตั้งแต่ 1-8 แสนบาท หรือจำคุกตั้งแต่ 1-2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับแล้วแต่กรณี ดังนั้นลูกจ้างจึงต้องระมัดระวังในกรณีที่อยากให้ลูกๆ ทำงาน สำหรับประเด็นการจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดนั้น กำหนดค่าจ้างลูกจ้างชายและหญิงเท่าเทียมกัน จ่ายค่าจ้างเป็นเงินตราไทย ณ สถานที่ทำงานของลูกจ้าง ให้จ่ายค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี และวันหยุดพักผ่อนประจำปี ให้จ่ายค่าทำงานในวันหยุดไม่น้อยกว่า 1 เท่า ของค่าจ้างในวันทำงาน ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้ถูกต้องและตามกำหนด และสิทธิในการยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ที่ผ่านมาส่วนใหญ่กรมสวัสดิการฯ จะได้รับคำร้องในการจ่ายค่าจ้างไม่ครบ หรือไม่จ่ายค่าจ้างจำนวนมาก ทำให้ลูกจ้างต้องไปร้องเรียนเอง
นางพวงทอง กล่าวอีกว่า สำหรับบทลงโทษ ถ้าพวกเราไปทำงานแล้วไม่ได้รับการปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎหมาย ลูกจ้างสามารถยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน หากนายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษปรับหรือจำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือปรับเป็นพินัยแล้วแต่กรณี ท่านไม่ต้องกลัวว่าเจ้าหน้าที่จะรู้เห็นเป็นใจกับนายจ้าง เดี๋ยวนี้โลกเปลี่ยนแปลงแล้ว พนักงานตรวจแรงงานพร้อมช่วยเหลือทุกท่าน สามารถร้องได้ในจังหวัดที่ทำอยู่ หรือเว็บไซต์กรมสวัสดิการฯ
ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมงานได้ตั้งคำถามว่าสามารถขยายประกันสังคมมาตรา 33 ครอบคลุมลูกจ้างทำงานบ้านได้หรือไม่ โดยนางพวงทอง กล่าวว่า ทราบว่าสำนักงานประกันสังคมได้รับเรื่องไว้แล้วและกำลังอยู่การพิจารณา ในระหว่างนี้ให้ใช้ลูกจ้างทำงานบ้านเข้าระบบประกันสังคมมาตรา 40 ไปก่อน เพื่อให้ได้รับสิทธิในส่วนที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่น.ส.กัญญารัตน์ ปัญญา เลขาธิการเครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย กล่าวว่า อยากเห็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับลูกจ้างทำงานบ้านบังคับใช้ได้จริง ทั้งนี้ทางกระทรวงแรงงานยืนยันว่าประกันสังคมรับเรื่องการขยายสิทธิประกันสังคม มาตรา 33 ครอบคลุมลูกจ้างทำงานบ้านแล้ว ดังนั้นเชื่อว่าต้นปี 68 อาจได้รับเป็นของขวัญปีใหม่ ซึ่งความสำเร็จในการขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ นั้นเป็นเพราะการรวมพลังของพวกเรา
ส่วนน.ส.ชลธิชา ตั้งวรมงคล ผู้ประสานงานองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ กล่าวว่า องค์การแรงงานระหว่างประเทศ จับมือและเป็นเพื่อนร่วมทางในการสนับสนุนในการส่งเสริมสิทธิแรงงานทั้งแรงงานนอกระบบและลูกจ้างทำงานบ้าน ยินดีที่กฎหมายถูกปรับปรุงให้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามแม้มีกฎหมายออกมาแล้ว แต่สิ่งสำคัญคือกฎหมายจะอยู่อย่างนั้น ถ้าไม่มีคนใช้ และเรายังปล่อยให้สิทธิเราถูกละเมิด กฎหมายก็อาจจะไม่ศักดิ์สิทธิ์ จึงอยากฝากทุกคนให้ใช้สิทธิ์ที่มีตามกฎหมายด้วย และคาดหวังว่าจะปีหน้าจะเข้าถึงสิทธิประกันสังคมมาตรา 33 ได้
ในช่วงบ่ายเป็นการจัดกิจกรรมการแสดงละครและการร้องเพลง สลับกับการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานระหว่างเครือข่าย โดย Bandana Pattanaik ตัวแทนมูลนิธิความร่วมมือเพื่อต้านการค้าหญิง กล่าวว่า เราทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกับหลายประเทศ ซึ่งผู้หญิงจำนวนมากทำงานเป็นผู้ดูแล แล้วใครดูแลผู้หญิงเหล่านี้ ถ้าวันหนึ่งไม่มีผู้หญิงดูแล ก็เท่ากับโลกหยุดหมุนเลยทีเดียว ดังนั้นสิ่งที่เราต้องการคือเราเรียกร้องว่างานบ้านเป็นงานสำคัญ ลูกจ้างทำงานบ้านควรได้รับการยกย่อง แต่เหนือสิ่งอื่นใดเราต้องเคารพตัวเองและดูแลตัวเองด้วย และตนขอเฉลิมฉลองร่วมกับทุกคนในวันนี้
ทั้งนี้ทั้งนี้ในช่วงท้ายของกิจกรรม เครือข่ายฯ และตัวแทนลูกจ้างทำงานบ้าน ได้ประกาศเจตนารมณ์ ร่วมกันโดยระบุ ว่าทั่วโลกมีผู้หญิงที่ทำงานดูแลประมาณ 215 ล้านคน ในนี้มีลูกจ้างทำงานบ้านประมาณ 70 ล้านคน และมีผู้หญิงเกือบทั่วโลก ที่ทำงานดูแลโดยไม่ได้รับค่าจ้าง “เราต้องการสวัสดิการเพื่อคุ้มครองความเป็นมารดา และหลักประกันสังคมอื่นๆ แบบถ้วนหน้า”
- 204 views