ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โฆษกสธ. เผย "สมศักดิ์" ปลื้มหลังผลสำรวจสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุ “30 บาทรักษาทุกที่” เป็นนโยบายที่ครองใจประชาชนสูงสุุด ผลงานรัฐบาลควบคู่การทำงานอย่างหนักของบุคลากรสธ. คาดสิ้นปี ปชช.ได้ใช้สิทธิ์ทั้งประเทศไม่ต้องมีใบส่งตัว  

วันที่ 4 มิ.ย. 2567 น.ส.ตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายการเมืองเปิดเผยว่า หลังจาก นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและ ดร.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติแถลงข่าวผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนครบ 6 เดือน ต่อการบริหารงานของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสินปี พ.ศ. 2567 พบ นโยบาย/มาตรการ/โครงการ  30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว เป็นนโยบายที่ประชาชนมีความพึงพอใจมากถึงมากที่สุด ร้อยละ 68.4  เป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงเอาไว้ตั้งแต่ช่วงเลือกตั้ง และเมื่อมาเป็นรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีสั่งทำทันที ตั้งแต่สมัยที่นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นการต่อยอดจากนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคที่เคยประสบความสำเร็จสมัยพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมตรีเมื่อปี 2544 - 2548  มาถึง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน มารับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขต่อยอดทันที  

เป็นความภาคภูมิใจของรัฐบาลและคนในกระทรวงสาธารณสุขทุกคน ทั้งนพ.โอภาส การย์วินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี รองปลัดกระทรวงสธ.ผู้รับผิดชอบดูแลโครงการ ผู้บริหารถึงผู้ปฏิบัติ   บุคลากรทุกภาคส่วนของกระทรวงสาธารณสุขทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค รวมทั้งภาคเอกชน รู้สึกยินดีและปลื้มใจมากที่นโยบายนี้ประสบความสำเร็จ ความดีทั้งหลายอันนำมาซึ่งความพอใจของประชาชน และ ประโยชน์ของพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ  รวมถึง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดส่งยาไปถึงบ้านผู้ป่วยที่อยู่ในหมู่บ้านอย่างรวดเร็ว ทำให้ประชาชนประทับใจ ชื่นชอบการให้บริการเพราะประหยัดเวลา สะดวก 

น.ส.ตรีชฎากล่าวว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ สังกัด กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นสถาบันที่รวบรวมข้อมูลทางสถิติได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดยเก็บรวบรวมจากประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ด้วยวิธีการสัมภาษณ์ตัวอย่างจากทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 6,970 ระหว่างวันที่ 22 เมษายน - 15 พฤษภาคม 2567 สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนได้รับประโชน์อย่างแท้จริง นโยบายนี้เพิ่งเริ่มระยะที่ 1 เมื่อวันที่ 7 มกราคม2567 นำร่อง 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่ ร้อยเอ็ด เพชรบุรีและนราธิวาส ระยะที่ 2 เริ่มเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2567 นำร่อง 8 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สิงห์บุรี สระแก้ว หนองบัวลำภู นครราชสีมา อำนาจเจริญและพังงา และระยะที่ 3 ในเดือนพฤษภาคม เพิ่มเป็น 6 เขตสุขภาพ อีก 33 จังหวัดทั้งภาคเหนือตอนบนตอนล่างในเขตสุขภาพที่ 1,3,4 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในเขตสุขภาพที่ 8,9 และภาคใต้ตอนล่างที่เขตสุขภาพที่ 12 จากนั้นระยะที่ 4 จะขยายครอบคลุมทั้งประเทศภายในปี 2567

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นการเริ่มนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติเป็นระยะเพื่อนำร่อง ยังไม่ครบทั้ง 76 จังหวัด แต่ด้วยความทุ่มเท เอาจริงเอาจังของคนในกระทรวงสาธารณสุข การสื่อสารประชาสัมพันธ์อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสร้างการรับรู้อย่างทั่วถึง ขณะเดียวกันประชาชนที่ได้รับผลจากการปฏิบัติได้พูดต่อๆกัน ทำให้ผลการสำรวจความคิดเห็นออกมาเช่นนี้  จึงเป็นกำลังใจให้นายสมศักดิ์และผู้เกี่ยวข้องจะพยายามปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดประโยชน์ในการดูแลรักษาโรคภัยไข้เจ็บเพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชนให้ดียิ่งๆขึ้น 

โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายการเมืองกล่าวทิ้งท้ายว่าขอให้ประชาชนมั่นใจในรัฐบาลที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี  และกระทรวงสาธารณสุขยุคใหม่ภายใต้การนำของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะดูแลพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ การที่ประชาชนมีสุขภาพที่ดีถ้วนหน้าอย่างเท่าเทียมกัน”