“สมศักดิ์” เผย 1 เดือนกับตำแหน่งรมว.สธ.อยู่ในช่วงรับฟัง เพื่อวางแผนงานสอดรับกำลังคน เงิน โดยเฉพาะบุคลากร “แพทย์-พยาบาล” ทุกสายงาน สายวิชาชีพ ต้องสอดคล้องนโยบาย โดยเฉพาะยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ รวมถึงประเด็นค่าเสี่ยงภัยโควิด ติดประเด็นไหนพร้อมช่วย เผยนายกฯ กำชับให้มาดูอะไรขาดตรงไหนเสนอได้
รวบรวมทุกประเด็นสธ. ขาดตรงไหนพร้อมเสนอรัฐบาล
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมหารือติดตามนโยบายกระทรวงฯ และมีการพูดคุยกับพยาบาลถึงปัญหาต่างๆ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา ว่า จริงๆเป็นการสรุปงานทุกๆด้าน เพื่อทำความเข้าใจแผนงานต่างๆ เนื่องจากตนอยู่กระทรวงสาธารณสุขมา 1 เดือน เป็นช่วงของการรับฟัง อย่าเรียกว่าเป็นปัญหา แต่เรามองว่าทุกอย่างต้องควบคู่กัน อย่างแผนงานที่จะออกมา ต้องมีทั้งบุคลากร ทั้งงบประมาณให้เพียงพอ ต้องบูรณาการร่วมกันให้ได้ บุคลากรทางการแพทย์ หรือ พยาบาล ทุกวิชาชีพทุกตำแหน่ง หากไม่เพียงพอก็ต้องมาดูว่างบประมาณต้องเป็นอย่างไร เพื่อรวบรวมประเด็นเสนอให้รัฐบาลพิจารณา อย่างการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ทำมาตอนนี้เป็นอย่างไร และจะมีโอกาสที่จะเพิ่มงานมากน้อยแค่ไหน จากคำว่าไปได้ทุกที่ ก็ต้องมาดูงบประมาณ สิ่งเหล่านี้ต้องเตรียมแผนให้พร้อม
ไม่ทิ้งค่าเสี่ยงภัยโควิด เป็นของเก่าที่ต้องติดตามช่วยเหลือ
“เรื่องค่าเสี่ยงภัยโควิด เป็นเรื่องเก่าที่ต้องทำต่อเนื่อง เรื่องนี้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการดีอยู่แล้ว แต่ผมมาใหม่ก็จะได้ทราบว่า ติดประเด็นไหน จะได้ติดตามว่า จะช่วยอะไรได้บ้าง ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรี เปิดโอกาสเรื่องนี้ และได้สั่งการก่อนผมมาทำงานตรงนี้ว่าให้ติดตามพิจารณาว่า มีอะไรขาดเหลือก็เสนอได้” นายสมศักดิ์ กล่าว
ประเด็นค่าเสี่ยงภัยโควิด อยู่ที่หลักฐานของหน่วยงานต้นสังกัด
ผู้สื่อข่าวราย Hfocus รายงานว่า การติดตามการจัดสรรเงินค่าเสี่ยงภัยโควิด19 หรือเงินค่าตอบแทนของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่ปฏิบัติงานช่วงการระบาดของโควิด19 ที่ผ่านมา ซึ่งงบประมาณดังกล่าวรวมวงเงิน 6,745.64 ล้านบาท เป็นเงินค้างจ่ายบุคลากรตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎกาคม 2564 จนถึงกันยายน 2565 แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ 1.งบค่าเสี่ยงภัยโควิดช่วงเดือนกรกฎาคม 2564- ครึ่งเดือนแรกเดือนมิถุนายน 2565 วงเงิน 2,995.95 ล้านบาท และ 2.งบค่าเสี่ยงภัยโควิดช่วงครึ่งเดือนหลังมิถุนายน จนถึงกันยายน 2565
โดยล็อตแรกกระทรวงสาธารณสุขได้รับจัดสรรวงเงิน 2,995.95 ล้านบาท เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2566 (ก.ค.64-ครึ่งเดือนแรกมิ.ย.65) ซึ่งงบประมาณส่วนนี้ได้จัดสรรในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว 1,362.76 ล้านบาท เท่ากับจ่ายแล้ว 100% ส่วนนอกสังกัดกระทรวงฯ เบิกจ่ายแล้วเกือบ 80% คงเหลือกว่า 344 ล้านบาท ซึ่งจากการสอบถามผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง ระบุว่า ประเด็นสำคัญคือ หน่วยงานหรือสถานบริการนอกสังกัดส่งเอกสารหลักฐานไม่ครบถ้วน ทำให้ไม่สามารถจัดสรรเงินลงไปได้ โดยเรื่องนี้ต้องสอบถามไปยังหน่วยงานต้นสังกัดของบุคลากรที่ยังไม่ได้รับค่าเสี่ยงภัย
ประเด็นสำคัญคือ หากหน่วยบริการนั้นๆไม่สามารถหาหลักฐานตามเงื่อนไขเพื่อนำเบิกเงินค่าเสี่ยงภัย ตามระเบียบกรมบัญชีกลาง หากไม่มีหลักฐานก็ไม่สามารถจัดสรรเงินให้ได้ งบประมาณที่เหลือก็ต้องคืนแผ่นดิน และหากจะมีการอุทธรณ์ก็ต้องพิจารณาตามหลักฐานข้อเท็จจริง
ส่วนงบประมาณค้างจ่ายล็อตหลัง ซึ่งเป็นค่าตอบแทนเสี่ยงภัยโควิด ระหว่างครึ่งเดือนหลังมิถุนายน จนถึงกันยายน 2565 ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขกำลังจะเสนอของบประมาณวงเงินรวม 3,749.69 ล้านบาท แบ่งเป็นสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 3,233.18 ล้านบาท และนอกกระทรวงสาธารณสุขอีก 516.51 ล้านบาท ซึ่งกำลังดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
ข่าวเกี่ยวข้อง
- รวมตรงนี้ ! บรรจุข้าราชการโควิดรอบสอง-นักสาธารณสุข - แผนความก้าวหน้าวิชาชีพอื่นๆ
- 1381 views