ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณ วรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี  อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบาตรพระสงฆ์ เนื่องในโอกาสวันสถาปนาโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ครบ 110 ปี ณ บริเวณหน้าอาคารจักรพงษ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2567 เวลา 07.30 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เสด็จพระราชดำเนินไปยังบริเวณลานหน้าอาคารจักรพงษ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยมี นายเตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เหรัญญิกสภากาชาดไทย คณะผู้บริหาร คณาจารย์ แพทย์ พยาบาล บุคลากร เฝ้าทูลละอองพระบาท รับเสด็จ 

ต่อมา เสด็จเข้าศาลาทินทัต ทรงวางพวงมาลัย ถวายราชสักการะพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จากนั้นเสด็จไปยังบริเวณหน้าอาคารจักรพงษ์ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทรงบาตรพระสงฆ์ จำนวนทั้งสิ้น 9 รูป ร่วมกับคณะผู้บริหาร คณาจารย์ แพทย์ พยาบาล บุคลากร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องในโอกาสวันสถาปนาโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ครบ 110 ปี และทรงปลูกต้นจามจุรี เสด็จพระราชดำเนินกลับ 

ประวัติ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยสังเขป

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ก่อกำเนิดขึ้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระราชประสงค์ที่จะสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยเมื่อครั้งดำรงพระชนม์ได้ทรงพระราชดำริจัดตั้งสภากาชาด ซึ่งเรียกกันในเวลานั้นว่า สภาอุณาโลมแดง ขึ้นไว้สำหรับการรักษาพยาบาลผู้เจ็บไข้ และเมื่อสมเด็จพระปิยมหาราชเสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว พระราชโอรสและพระธิดาทรงเห็นพ้องที่จะสร้างโรงพยาบาลสภากาชาดเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เป็นถาวรประโยชน์อนุสรณ์ ทั้งยังเป็นเกียรติยศแก่ราชอาณาจักรไทยสืบไป พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยพระภาดาและภคินี จึงได้ทรงบริจาคทรัพย์ร่วมกันสมทบกับทุนของสภากาชาด สร้างโรงพยาบาลขึ้นและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขนานนามตามพระปรมาภิไธยในสมเด็จพระบรมชนกนาถว่า “โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์” เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พุทธศักราช 2457 โดยเริ่มทำการสงเคราะห์เพื่อพสกนิกรเป็นปฐมแต่นั้นสืบมา