ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เดินหน้าบำบัดผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดตามนโยบายรัฐบาล โดยการนำร่อง 25 จังหวัด เร่งให้เห็นผลใน 3 เดือน เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและชุมชน ชี้เป้าหมายสำคัญคือผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดลดลง

วันที่ 27 พฤษภาคม 2567 ณ ห้องประชุมกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จัดการประชุมมอบนโยบายสาธารณสุข แก่ข้าราชการ บุคลากรทางการแพทย์ ปี 2567-2568 โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข , นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. และผู้บริหาร ข้าราชการ เข้าร่วมจำนวนมาก

สำหรับหนึ่งในนโยบายสำคัญที่ต้องเร่งรัดดำเนินการให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม คือ ประเด็นการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างบูรณาการ พัฒนามินิธัญญารักษ์ บูรณาการระบบการบำบัด รักษา ฟื้นฟูให้เป็นรูปธรรม ทบทวนกฎหมายให้เหมาะสม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้สังคม

โดย นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กลุ่มภารกิจด้านพัฒนาการแพทย์ กล่าวว่า ยาเสพติดเป็นประเด็นที่เป็นนโยบายหลักของรัฐบาล เนื่องจากเกี่ยวข้องกับสังคม เยาวชน วัยแรงงาน รวมถึงสภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งเรามีผลกระทบในมุมกว้าง ผลการดำเนินงานที่ชัดเจนและเป็นสิ่งที่กังวลมากคือ การออกกฎกระทรวงการกำหนดจำนวนเม็ดหรือจำนวนปริมาณสารเสพติดในปริมาณน้อยที่สันนิษฐานไว้ก่อน ตอนนี้อยู่ในช่วงระหว่างการรับฟังความคิดเห็น และขณะนี้ได้มีการปรับจำนวนยาบ้าเหลือ 1 เม็ด 

25 จังหวัดปัญหายาเสพติดเร่งดำเนินการ 90 วัน

และล่าสุดเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567  ที่ผ่านมา ค.ร.ม. มีความเห็นชอบ ให้มีคณะกรรมการติดตามเร่งรัดดำเนินการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งได้กำหนดพื้นที่ ที่มีปัญหายาเสพติดรุนแรงทั้งหมด 25 จังหวัด ส่วนใหญ่ภาคอีสาน และมีภาคเหนือบางส่วน รวมถึงภาคใต้ตอนล่าง โดยมุ่งเน้นเห็นผลสำเร็จใน 25 จังหวัดภายใน 90 วันนับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2567 

"การเร่งรัดดังกล่าวภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องรวมทั้ง ตำรวจ และกระทรวงสาธารณสุข ขอความกรุณาท่านนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป และผู้เกี่ยวข้องทั้ง 25 จังหวัด ให้ความสำคัญในประเด็นนี้เพราะถือว่าเป็นมติค.ร.ม. "นพ.กิตติศักดิ์ กล่าว

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การดำเนินการในครั้งนี้เรามีเป้าหมายเพื่อให้ผู้มีอาการทางจิตเวชและยาเสพติดในพื้นที่ลดลง ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะ 25 จังหวัด ต้องมีการไปติดตามลงพื้นที่ว่าขณะนี้มีจำนวนผู้ป่วยจิตเวชหรือผู้ติดยาเสพติดและมีปัญหาเรื่องยาเสพติดมีเท่าไหร่ และความรุนแรงของผู้ติดยาเสพติดมีมากน้อยแค่ไหนในแต่ละประเภท อย่างไรก็ตาม นโยบายของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญในส่วนนี้และได้ดำเนินการเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมกับการบำบัดรักษาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงสาธารณสุขอย่างชัดเจน

ในการประชุมประกาศนโยบาย ยังยกตัวอย่างจังหวัดที่มีการดำเนินการบำบัดยาเสพติด 2 จังหวัด คือ พัทลุง และ เลย อ่านรายละเอียดข่าวเพิ่มเติม "เลย-พัทลุง" ตัวอย่าง "บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดในชุมชน" เน้นการมีส่วนร่วมแบบบูรณาการ

  

 

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

- เปิดนโยบายสาธารณสุข (ปี67-68) 5+5 เร่งรัดพัฒนาสานต่อ 

- “สมศักดิ์” ประกาศนโยบายเดินหน้า 30 บ.รักษาทุกที่ ดันกฎหมายแยกตัวออกจาก ก.พ.