"หมออาทิตย์" ผอ.รพ.สวนสราญรมย์ เผย พบเยาวชนใช้สะพานศรีสุราษฎร์ปลิดชีวิต 20 กว่ารายต่อปี ชูหลัก 3 ส. คือ "สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง ส่งต่อเชื่อมโยง" ให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงบริการมากขึ้น ชี้อนาคตเตรียมแผนช่วยเหลือป้องกันการก่อเหตุซ้ำ!

เร็วๆนี้ นพ.อาทิตย์ เล่าสุอังกูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนสราญรมย์  ให้สัมภาษณ์กับ Hfocus เกี่ยวกับ ปัญหาคนฆ่าตัวตายหลังมีข้อมูลว่าเยาวชนใช้สะพานศรีสุราษฎร์เป็นพื้นที่สัญลักษณ์จบปัญหา ว่า สําหรับประเด็นสะพานศรีสุราษฎร์ที่อยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีถือเป็นจุดเสี่ยงในการฆ่าตัวตายสูง เนื่องจากว่าเป็นสะพานที่มีความสูงมากประมาณ 22 - 35 เมตร ฉะนั้นจึงเป็นจุดที่มีการไปกระโดดน้ำทําให้เสียชีวิตเยอะ และเมื่อเป็นข่าวก็มีการลอกเลียนแบบในการที่ทําร้ายตัวเอง ซึ่งจะมีข่าวอยู่บ่อยๆ ทั้งนี้เนื่องจากว่าจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ปัญหา เรื่องของการทํามาค้าขาย ปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ หรือปัญหาโรคเรื้อรัง ทำให้บุคคลเหล่านี้มีความคิดว่าไม่อยากมีชีวิตอยู่หรือบางคนก็จะเป็นการประชดประชันอยากเรียกร้องความสนใจ เป็นต้น

นพ.อาทิตย์ กล่าวต่อว่า ในเรื่องของการวางแผนรองรับเหตุการณ์ก็ได้ร่วมกับสํานักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในการที่จะรณรงค์และก็ป้องกัน โดยในเครือข่ายของสุราษฎร์ธานีเรามีการประสานงานกับกลุ่มกู้ชีพกู้ภัยในการลาดตระเวนที่สะพานศรีสุราษฎร์ธานี รวมถึงท่านผู้ว่าฯได้รณรงค์เรื่องของโรคซึมเศร้ามีทางออกให้กับพี่น้องประชาชนถ้าเกิดว่าใครมีปัญหาเรื่องของซึมเศร้า มีความเครียด วิตกกังวล ก็ให้ปรึกษาหน่วยบริการใกล้บ้าน แล้วทางโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ ก็ได้มีการโปรโมทในเรื่องของสายด่วน 1323 หรือถ้าเกิดพบเห็นผู้ป่วยก็มีการส่งต่อเพื่อมารับบริการที่โรงพยาบาลได้ นอกจากนี้ เรามีการรณรงค์ในเรื่องของการดูแลปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยได้รณรงค์ในหลักของ 3 ส. คือ สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง ส่งต่อเชื่อมโยง ให้กับประชาชนในจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้สอดส่องคนรอบข้างว่ามีอาการซึมเศร้าหรือไม่ แล้วถ้าเจอก็ใส่ใจรับฟังกุมมือชวนทานข้าวทานน้ำ แล้วสุดท้ายก็คือส่งต่อเชื่อมโยงให้แนะนํามาที่โรงพยาบาลเพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงบริการ 

 

"ในช่วงที่ผ่านมามีข่าวการฆ่าตัวตายสําเร็จที่สะพานศรีสุราษฎร์ประมาณ 20 กว่ารายต่อปี หลังจากที่มีการดําเนินมาตรการหลายอย่างการรณรงค์โดยท่านผู้ว่าแล้วก็มีทีมกู้ชีพกู้ภัยมาช่วย การรณรงค์เรื่องของซึมเศร้า ซึ่งที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลงจากเดิมพอประมาณ โดยที่ผ่านมามีการทํากิจกรรมหลายอย่างเช่น กิจกรรมสร้างสุขบริเวณสะพานศรีสุราษฎร์ เรื่องของการเปิดตลาดบริเวณสะพาน ทํากิจกรรมสร้างสุขทําบุญ และการก่อสร้างศาลที่อยู่ใต้ตีนสะพานด้วยเพื่อให้เกิดเป็นที่ยึดเหนี่ยวต่อประชาชน เป็นต้น รวมทั้งเรื่องสารเสพติดถือเป็นปัจจัยสําคัญ ถ้าแต่ละบุคคลมีความเครียดมีภาวะซึมเศร้า มีปัจจัยเสี่ยงตรงนี้อยู่แล้ว จากปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว หรือว่าการเข้าถึงสารเสพติดเพิ่มขึ้นก็จะเป็นปัจจัยกระตุ้นทําให้อาการของโรคเป็นมากขึ้น ทำให้การยับยั้งชั่งใจเลดน้อยลงจากลิตรของสารเสพติด ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเกิดมีแอลกอฮอล์ในร่างกายความยับยั้งชั่งใจลดลง ความกล้ามากขึ้น ก็ทําให้ตัดสินใจทําร้ายตัวเองได้สูงขึ้น " นพ.อาทิตย์ กล่าว

 

ฉะนั้นเรื่องการใช้สารเสพติดอยากจะรณรงค์ให้ทุกคนได้หลีกเลี่ยง ที่สําคัญคือคนรอบข้าง ตัวคนไข้เองอาจจะไม่รู้ตัวหรือว่าไม่มีทางออกก็เลยไปพึ่งสารเสพติด แต่ถ้าเกิดคนรอบข้างเห็นก็ขอให้ช่วยห้ามมปรามตักเตือน แล้วก็นําพาคนรอบข้างเพื่อนฝูงญาติมาที่โรงพยาบาลเพื่อให้ได้รับการรักษา นอกจากนี้ปัจจัยในการฆ่าตัวตายจะมีเรื่องของวัสดุอุปกรณ์ คือในกรณีถ้ามีวัตถุอุปกรณ์อยู่ใกล้มือก็จะมีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายสูง เช่น น้ำยาล้างห้อง น้ำยาฆ่าหญ้า เชือก มีด ปืน การกินยาที่กินเกินขนาด ฉะนั้นจึงอยากให้ญาติเพื่อนฝูงหรือคนในครอบครัวที่มีภาวะซึมเศร้าดูแลให้ใกล้ชิดแล้วก็เก็บวัสดุอุปกรณ์เหล่านี้ให้ห่างมือมากยิ่งขึ้น การฆ่าตัวตายของจังหวัดสุราษฎร์ธานีจริงๆแล้วโดยภาพรวมยังสูงเท่าเดิม แต่ว่าไม่ใช่แค่สะพานศรีสุราษฎร์เพียงอย่างเดียว อนาคตเราจะมีการเพิ่มศักยภาพการดูแลจิตใจของกู้ชีพกู้ภัย และการส่งต่อเคสที่ไปสะพานศรีสุราษฎร์เข้าสู่ระบบการดูแลช่วยเหลือป้องกันการก่อเหตุซ้ำอีกด้วย