สสส.เดินหน้ารณรงค์ต่อเนื่อง "ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ" เหตุยังจุดกระแสไม่ติด เพราะคนยังไม่ตระหนัก คิดว่าดื่มแล้วขับยังปลอดภัย จนกว่าจะประสบอุบัติเหตุก็เสียหาย สายเกินไป ย้ำ! ไม่ว่าดื่มกี่แก้ว ต้องดื่มไม่ขับทุกกรณี

 

เมื่อวันที่ 4 เมษายน นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการรณรงค์ "ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ" ที่มีการรณรงค์มาตั้งแต่ปี 2564 หรือกว่า 3 ปี โดยเฉพาะช่วงปีใหม่-สงกรานต์ กระแสเป็นอย่างไร ว่า ยอมรับว่า มีความยาก เพราะว่าความเป็นจริง กระแสยังจุดไม่ติด แต่ต้องพูดซ้ำๆ ซึ่งความยากคือ คนดื่มแล้วขับส่วนใหญ่จะยังไม่เกิดอุบัติเหตุ จะมีแค่จำนวนหนึ่ง เขาจะต้องทำพฤติกรรมเสี่ยงซ้ำๆ สมมติว่า 100 คน จะเกิดอุบัติเหตุพิการหรือหนักๆ 1 คน อุบัติเหตุเบาๆ 10 คน ส่วนอีก 90 คนยังรู้ว่าตนเองปลอดภัยอยู่  จึงยังใช้ชีวิตเป็นปกติเพราะเขาปลอดภัยอยู่ แต่เมื่อวันหนึ่งความเสี่ยงเกิดขึ้น ความประมาทเกิดขึ้น แล้วเกิดเหตุขึ้น นั่นคือความเสียหาย

คนยังไม่ตระหนักความจำเป็น ดื่มไม่ขับ

"ความหมายคือ แคมเปญนี้บอกไปกับทุกคน แต่ทุกคนไม่ได้มีความตระหนักจริงๆ แต่ที่ต้องขับเคลื่อนว่าขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ เพราะจากข้อมูลของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ วันที่ 11-17 เม.ย. 2566 พบผู้ขับขี่ที่ดื่มแล้วขับ 4,340 ราย ขับล้มเอง 2,319 ราย คิดเป็น 53.43% หลายคนอาจคิดว่าดื่มนิดเดียวไม่เป็นอะไร เพราะขณะที่ดื่มแอลกอฮอล์ยังดูดซึมได้ไม่หมด ก่อนไปขี่จึงคิดว่ายังไหว ประคองได้ แต่ขณะขับขี่จะดูดซึมแอลกอฮอล์ขึ้นเรื่อยๆ จนถึงระดับที่ส่งผลทำให้หมดสติ และเกิดอุบัติเหตุระหว่างทาง" นพ.พงศ์เทพกล่าว

 

นพ.พงศ์เทพกล่าวว่า ระดับของแอลกอฮอล์ที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย คือ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เริ่มมึนๆ 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์เริ่มเดินเซ 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์จะทำให้หมดสติ และ 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ก็อาจจะหลับไปเลย ประเด็นคือ แม้ตัวเราจะยังมีสติอยู่ ก็ไม่ควรขับ เพราะอาจจะมีแอลกอฮอล์ที่ค้างอยู่ในกระเพาะดูดซึมเรื่อยๆ ส่วนที่ถามกันว่าควรดื่มกี่แก้ว ตรงนี้ขึ้นกับจำนวนที่ดื่ม ประเภทของเครื่องดื่ม ดีกรีของแอลกอฮอล์ ปัจจัยร่างกายของแต่ละคนก็ดูดซึมแอลกอฮอล์ไม่เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่ "1 ดื่มมาตรฐาน" ก็จะประมาณเบียร์ 2 กระป๋อง เหล้าสี 2 แก้ว

 

"แต่ถ้า 2 ดื่มมาตรฐานก็จะเกินเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด คือ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น เมื่อขี่มอเตอร์ไซค์ออกไป ถูกเป่าก็เสร็จเลย แต่ส่วนใหญ่เวลาฉลองก้มักดื่มมากกว่านี้ และระหว่างที่เดินทางปริมาณแอลกอฮอล์จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เวลาออกไปรู้สึกสติยังดีอยู่ แต่ระหว่างทางบวกกับความง่วงทำให้ไปทับ แม้แอลกอฮอล์ไม่ถึง 100 มิลลิกรัมปอร์เซ็นต์ก็หลับได้เลย ซึ่ง 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ การตัดสินใจจะเริ่มเสียแล้วในเรื่องของระยะเบรก" นพ.พงศ์เทพกล่าว

ปัญหาคือ ไม่คิดว่าเมา

นพ.พงศ์เทพกล่าวว่า อีกเรื่องคือ จากข้อมูลพบว่า อุบัติเหตุจะเกิดประมาณ 5 กิโลเมตรรอบๆ รัศมีจุดที่ดื่ม เช่น ไปดื่มบ้านเพื่อน บ้านตนเอง หรือตรงไหนก็ตาม พอขี่ออกไป ก็จะไปเกิดเหตุระหว่างทาง หรือระหว่างไปซื้อเหล้าน้ำแข็งมาเพิ่ม เพราะเขาไม่คิดว่าตอนนั้นเขาเมา เขาแค่ดื่ม เขาไม่เมา แต่ระหว่างทางแอลกอฮอล์ดูดซึมมากขึ้น ส่วนแอลกอฮอล์ที่ตกค้างอยู่ในกระเพาะอาหาร ต้องใช้เวลาข้ามอีกวันถึงจะหมด หรือจริงๆ อาจจะ 6-7 ชั่วโมง แต่เพียงดื่มตอนกลางคืนเข้าไปถึงหลับไปถึงเช้า ตื่นมาแอลกอฮอล์ก็ลดระดับลง แต่ "ตับ" ก็จะถูกทำลายในช่วงนั้น ดังนั้น ไม่ใช่แนะนำว่า ดื่ม 1-2 แก้วแล้วขับได้ แต่ดื่มแล้วต้องไม่ขับเลย ไม่ใช่เมาไม่ขับ นี่คือการเปลี่ยนคอนเซ็ปต์

"สิ่งที่ดำเนินการช่วงหลัง ส่วนใหญ่เราพยายามให้ความสำคัญกับกลุ่มที่เกิดอุบัติเหตุแล้วหรือถูกจับคุมประพฤติ โดยเราทำงานร่วมกับกรมคุมประพฤติให้กลุ่มนี้ไปเยี่ยมบ้านคนพิการ แล้วฟังคนพิการแล้ว อาจสะท้อนแล้วเกิดมุมมองวิธีคิด แต่ตรงนี้ยังทำได้น้อย เป็นโมเดลอยู่ รวมถึงการปลูกฝังในเด็กรุ่นใหม่ ทำงานกับศูนย์เด็กเล็ก แต่จะทำอย่างไรให้กระจายทุกที่ก็เป็นความยก เราพยายามใช้นิทาน ใช้เกมต่างๆ ปูเป็นพื้น ซึ่งปัญหามีระยะสั้นและระยะยาว เพราะสงครามนี้ยังอีกยาว เราก็จะค่อยๆ ปูพื้นไป" นพ.พงศ์เทพกล่าว