สสส.-เครือข่ายพลังสังคม ประสานความร่วมมือทุกภาคส่วน ขนทัพกว่า 60 ถนนตระกูลข้าว เจ้าของพื้นที่ภาคเอกชนทั่วไทย ร่วมประกาศเจตนารมณ์ 5 ข้อ ขับเคลื่อน “สงกรานต์วิถีไทย สนุกปลอดภัย ไร้ความรุนแรง ด้าน สธ. ขอความร่วมมือผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดจัดงาน “สงกรานต์โนแอล” ช่วง 21 วัน
เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 1 เม.ย. 2567 ที่ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และมูลนิธิเครือข่ายพลังสังคม จัดแถลงข่าว “สงกรานต์วิถีไทย สนุก ปลอดภัย ไร้ความรุนแรง” โดย ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. สนับสนุนให้เจ้าภาพจัดงาน และเจ้าของสถานที่ในพื้นที่ต่างๆ จัดงานสงกรานต์และส่งเสริมให้มีพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า จากผลการสำรวจความคิดเห็นคนไทย 939 คน และต่างชาติ 400 คน ใน 18 จังหวัดทั่วประเทศ ในช่วงสงกรานต์ปี 2566 พบว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติพอใจการจัดงานสงกรานต์ปลอดเหล้ามากถึง 88.90% ขณะที่คนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการจัดสงกรานต์แบบปลอดเหล้า 75.83% เห็นด้วยจัดโซนนิ่งเล่นน้ำ 79.23% เห็นด้วยกับมาตรการควบคุมไม่ให้นำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาดื่มในพื้นที่จัดงาน 77.74% เห็นด้วยที่เจ้าภาพจัดงานไม่รับสปอนเซอร์จากธุรกิจเหล้า-เบียร์ 73.16%
เมื่อถามถึงประโยชน์ของการจัดงานแบบปลอดเหล้า พบว่า ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้เพิ่มมากขึ้น 90.42% สามารถลดอุบัติเหตุ 89.99% ลดการทะเลาะวิวาท 89.67% ลดการลวนลามล่วงละเมิดทางเพศ 85.20% และเห็นว่าการจัดงานแบบปลอดเหล้าไม่ทำให้นักท่องเที่ยวลดลง 80.30%
15 ปีพิสูจน์แล้วพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดภัย นทท.ยิ่งเยอะ
“จากบทเรียนที่ร่วมกันดำเนินงานมากว่า 15 ปี พิสูจน์แล้วว่า ยิ่งพื้นที่จัดงานพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์มีความปลอดภัยมากเท่าไร ยิ่งทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะถนนตระกูลข้าวที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่พื้นที่ ปัจจุบันมีถนนเล่นน้ำตระกูลข้าวเกิดขึ้นทั่วประเทศมากกว่า 60 ถนนตระกูลข้าว และอีก 100 พื้นที่เล่นน้ำขนาดใหญ่กระจายทุกจังหวัดจังหวัด อาทิ ถนนข้าวเหนียว จ.ขอนแก่น เป็นต้นแบบสงกรานต์ปลอดเหล้าของไทย ถนนข้าวทิพย์ จ.จันทบุรี มีจุดเด่นเป็นงานสงกรานต์กลางคืน ถนนข้าวแต๋น จ.น่าน ถนนข้าวสุก จ.อ่างทอง ถนนข้าวหอมมะลิ จ.ร้อยเอ็ด ถนนข้าวยำ จ.ปัตตานี ที่สำคัญการจัดงานสงกรานต์ปลอดเหล้าเป็นการควบคุมต้นทางของอุบัติเหตุทางถนนจากการดื่มแล้วไปขับรถ ซึ่งต้องช่วยกันรณรงค์สื่อสาร ‘ขับ ไม่ดื่ม...ดื่ม ไม่ขับ’ หากสังคมไทยร่วมมือกันอย่างจริงจัง จะลดปัญหาความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินจากน้ำเมาลดลงได้” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
มหาสงกรานต์ 21 วัน ขอผู้ว่าฯกำหนดพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า
นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผอ.สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า รัฐบาลประกาศจัดกิจกรรม “มหาสงกรานต์ World Songkran Festival” เพื่อเฉลิมฉลองที่ UNESCO ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ โดยกำหนดจัดงานตั้งแต่วันที่ 1-21 เม.ย. 2567 รวม 21 วัน สธ. ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พิจารณาจัดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดภัยไร้แอลกอฮอล์ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ส่งผลดีต่อด้านความปลอดภัย ส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนที่สำคัญของรัฐบาล ทั้งนี้ ได้กำชับให้ผู้จัดงานต้องมีเจ้าหน้าที่ดูแลในพื้นที่ จัดให้มีแสงสว่างที่พอเพียง ต้องมีเจ้าหน้าที่ที่คุมเข้มเรื่องการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณโดยรอบพื้นที่จัดงาน มีการสุ่มตรวจ เดินสำรวจ หรือแจ้งเบาะแสการกระทำความผิด และดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการมึนเมาจนขาดสติ นำไปสู่การก่อเหตุความรุนแรง การล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งจะกระทบภาพลักษณ์การท่องเที่ยวและมรดกทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศ
เครือข่ายฯ เสนอ 5 ข้อ สงกรานต์สนุกได้ไร้ความรุนแรง
นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายพลังสังคม กล่าวว่า เครือข่ายพลังสังคมร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนให้สงกรานต์วิถีไทย สนุก ปลอดภัย ไร้ความรุนแรง 5 ข้อ ดังนี้ 1.สืบสานรักษาคุณค่าวิถีวัฒนธรรมสงกรานต์ไทยให้ทั้งโลกได้เห็นคุณค่า ความหมายงานประเพณีสงกรานต์ ที่ไม่ใช่แค่สาดน้ำ แต่ยังมีเรื่องเข้าวัดทำบุญ การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ และการละเล่นแบบไทยตามวิถีแต่ละพื้นที่ 2.รักษามาตรฐานพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้าปลอดภัย จากที่เคยเป็นพื้นที่เสี่ยง กลายเป็นพื้นที่ Zoning เล่นน้ำปลอดภัย
3.ป้องกันความปลอดภัยและควบคุมไม่ให้เกิดความรุนแรง โดยเฉพาะในช่วงเย็นค่ำและกลางคืน มีหน่วยเฉพาะกิจดูแลเป็นพิเศษ มีกล้อง CCTV คอยสอดส่อง และตรวจตราไม่ให้มีการดื่มการขายน้ำเมาในพื้นที่เล่นน้ำ 4.ขยายผลให้เกิดความปลอดภัยในพื้นที่เล่นน้ำของภาคเอกชนโดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าที่จัดงานเน้นความปลอดภัยไม่ให้มีน้ำเมา ช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุ การทะเลาะวิวาท ลดความสูญเสีย เพราะไม่เป็นแหล่งผลิตคนเมาลงถนน 5.สร้างค่านิยมให้การดื่มแล้วขับเป็นสิ่งที่สังคมรับไม่ได้ สังคมไทยทุกฝ่ายต้องใช้ทุกโอกาสในการช่วยกันสื่อสารเพื่อเปลี่ยนค่านิยมทางสังคม
พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้าหลายพันแห่งทั่วประเทศ
“ปัจจุบันมีพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้าปลอดภัยนับพันแห่งทั่วประเทศ ที่แต่ละท้องถิ่นร่วมกันจัดงาน โดยมีมาตรการดูแลควบคุมเป็นอย่างดี โดยเฉพาะพื้นที่เอกชน อาทิ สงกรานต์โนแอล ที่หน้าห้าง LimelightAvenue จ.ภูเก็ต และปีนี้ได้รับความร่วมมือจากสามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพฯ ร่วมจัดงานสงกรานต์ NO L ซึ่งจะเป็น LandMark สำคัญดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยว รวมทั้งสงกรานต์ในกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ ทั้งไทยรามัญ และไทยทรงดำ ที่ได้ร่วมรณรงค์อย่างเข้มแข็งมาโดยตลอด จนเกิดเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในการจัดพื้นที่เล่นน้ำ พื้นที่จัดงานสงกรานต์ ที่สนุก ปลอดภัย ไร้ความรุนแรง เป็นตัวอย่างที่ดีไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ” ประธานมูลนิธิเครือข่ายพลังสังคม กล่าว
ก.วัฒนธรรมจัดทำบทเพลงสงกรานต์ 4 ภาษา
นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ จัดกิจกรรมสงกรานต์ทั่วประเทศและมีการจัดทำบทเพลงสงกรานต์ฉบับภาษาต่างประเทศแล้ว 4 ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ จีน ฝรั่งเศส เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติรับรู้อย่างกว้างขวาง โดยเปิดให้ประชาชนทั่วไป ชม และดาวน์โหลดบทเพลงสงกรานต์ คลิป MV เพลงสงกรานต์ภาษาต่าง ๆ วีดิทัศน์องค์ความรู้ประเพณีสงกรานต์ ตำนานนางสงกรานต์ อินโฟกราฟิกเกี่ยวกับสงกรานต์ ได้ที่ www.culture.go.th และ www.youtube.com/@dcp5531/featured และในเครือข่ายของกระทรวงวัฒนธรรม
- 286 views