สสส.เผย "โควิด" ทำให้กิจกรรมทางกายลดลงเหลือ 68.1% ในปี 2566 คนไทยยังมี 4 พฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ สูบบุหรี่-กินเหล้า-กินอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ-กิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ สานพลัง กทม.-กลุ่ม we!park-ภาคี Healthy Space Alliance พัฒนา 24 พื้นที่สุขภาวะแบบมีส่วนร่วม มุ่งยกระดับวิถีชีวิตคนเมือง จัดกิจกรรม “พัก กะ Park” กระตุ้นสังคมให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ นำร่องที่อุทยานเบญจสิริ ในวันที่ 24 และ 31 มี.ค. 2567 นี้
เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2567 ที่สวนป่าสัก ซ.วิภาดีรังสิต 5 กรุงเทพฯ นางประภาศรี บุญวิเศษ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 5 สสส. กล่าวว่า สสส. มุ่งสร้างเสริมสุขภาพเพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพดีตลอดช่วงชีวิต จากรายงานสุขภาพคนไทย ปี 2566 พบว่า คนไทยมีพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพใน 4 เรื่อง 1.สูบบุหรี่ 2.ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3.กินอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ 4.มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งทำให้อัตราการมีกิจกรรมทางกายลดลงจาก 74.6% ในปี 2562 เหลือ 68.1% ในปี 2566 สสส. สานพลัง กรุงเทพมหานคร (กทม.) กลุ่ม we!park และภาคีเครือข่ายพัฒนาเมืองสุขภาวะและชุมชนสุขภาวะ (Healthy Space Alliance) ขับเคลื่อนนโยบายพื้นที่สุขภาวะเพื่อให้คนทุกคนเข้าถึงได้ เน้นพัฒนาพื้นที่ตอบโจทย์การใช้งานของชุมชน โดยจะมีการจัดกิจกรรม “พัก กะ Park” กระตุ้นสังคมให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ นำไปสู่การฟื้นฟูอัตราการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอกลับมาอีกครั้ง
น.ส.นิรมล ราศรี ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สสส. และภาคีเครือข่าย พัฒนานวัตกรรมแนวคิดพื้นที่เพื่อสุขภาพที่ดี ชื่อว่า “พื้นที่สุขภาวะ” ปรับพื้นที่ว่าง เส้นทางสัญจร พื้นที่สวนสาธารณะ สวนส่วนกลางชุมชน และพื้นที่ในสถานที่ของทั้งภาครัฐและเอกชน ให้คนในชุมชนบริเวณรอบข้างสามารถใช้ชีวิตได้อย่างกระฉับกระเฉงด้วยความปลอดภัย ที่ผ่านมา ได้จัดอบรมนักพัฒนาพื้นที่สาธารณะมีส่วนร่วมออกแบบพื้นที่สุขภาวะ 2 รุ่น มีผู้เข้าร่วมกว่า 300 คน ขยายผลเป็นนวัตกรรมแนวคิด “พัก กะ Park” เปิดสวนสาธารณะเป็นพื้นที่สะท้อนกระบวนการการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ 9 ประเด็น โดยจะมีการเปิดนำร่องที่อุทยานเบญจสิริ ในวันที่ 24 และ 31 มี.ค. 2567 นี้ เพื่อสร้างความตระหนักในการพัฒนาพื้นที่ของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนทั้งในเชิงนโยบาย และเชิงปฏิบัติการ มุ่งเป้าหมายพัฒนาพื้นที่สุขภาวะต้นแบบ 150 แห่งใน 50 เขตพื้นที่กรุงเทพฯ
นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม. ร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่าย สนับสนุนนโยบายการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพคนเมือง ที่ผ่านมา กทม. ผลักดันให้เกิดพื้นที่สาธารณะเมือง ภายใต้นโยบาย “สวน 15 นาที” ล่าสุด ในปี 2566 เกิดเป็นพื้นที่ต้นแบบสวน 15 นาที (Pop Park) กระจายในทุกกลุ่มเขตพื้นที่กรุงเทพฯ 24 แห่ง ที่สำคัญเกิดการดูแลร่วมกันจากคนในพื้นที่และชุมชน ทั้งนี้ กทม. เตรียมพัฒนาพื้นที่นำร่องให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบโครงสร้างของกรุงเทพฯ ร่วมกับสสส. และมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ผ่าน “โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานของกรุงเทพมหานคร สวน 15 นาที” เพื่อสานต่อการพัฒนาศักยภาพของผู้ปฏิบัติงานสำหรับการขับเคลื่อนนโยบายสวน 15 นาทีทั่วกรุงเทพฯ สร้างพื้นที่สาธารณะสีเขียวเพื่อส่งเสริมสุขภาวะทางกายและทางใจสำหรับทุกคนอย่างเท่าเทียม
นายยศพล บุญสม หัวหน้ากลุ่ม we!park และผู้ประสานงานเครือพัฒนาเมืองสุขภาวะและชุมชนสุขภาวะ กล่าวว่า กิจกรรม “พัก กะ Park” มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อให้เกิดแนวทางการพัฒนา บริหารจัดการ และขยายแนวร่วมนักพัฒนาพื้นที่สาธารณะ 3 กลุ่ม
1.นิทรรศการ 10 แนวโน้มการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะประเทศไทยตามเป้าหมายสากล ปี 2573 พร้อมข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ
2.เสวนาแนวทางการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ
3.กิจกรรม Green Eco Play เช่น ดนตรีในสวน เดินเมืองดูไม้ ปั่นจักรยาน ซุมบ้า
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ Healthy Space Alliance
- 204 views