กรมควบคุมโรค ห่วงสุขภาพประชาชนพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล จากกรณีกลิ่นไหม้ ฝุ่น PM2.5 พบค่าเกินมาตรฐานระดับสีแดง เฝ้าระวังผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค คือ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบทางเดินหายใจ โรคผิวหนังอักเสบ และ โรคตาอักเสบ เผยอัตราป่วยผิวหนังอักเสบสูงสุด เตือนกลุ่มอายุ 60 ปี ส่วนใหญ่เสี่ยงรับผลกระทบ
ฝุ่น PM 2.5 วันที่ 20-21 มี.ค. อยู่ระดับสีแดง มีผลต่อสุขภาพ
เมื่อวันที่ 21 มีนาคม นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีประชาชนจำนวนมากในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้กลิ่นเหม็นไหม้ และพบว่ามีหมอกควันปกคลุมในหลายพื้นที่ นั้น จากข้อมูลกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กรมควบคุมมลพิษ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 แบบรายชั่วโมง เมื่อเวลา 23.00 - 06.00 น. ของวันที่ 20-21 มีนาคม 2567 พบ 39 พื้นที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมไปถึงภาคกลาง มีค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ
ฝุ่นกทม.พบหลายพื้นที่กระทบสุขภาพ
โดยพื้นที่ที่พบค่าฝุ่นสูงสุด คือ เขตลาดกระบัง 195.6 มคก./ลบ.ม. รองลงมา คือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 138.8 มคก./ลบ.ม. เขตวังทองหลาง 130.0 มคก./ลบ.ม. เขตจตุจักรและเขตลาดพร้าว 117.2 มคก./ลบ.ม. เขตธนบุรี 113.7 มคก./ลบ.ม. เขตหลักสี่ 110.9 มคก./ลบ.ม. เขตดอนเมือง 110.3 มคก./ลบ.ม. อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 101.1 มคก./ลบ.ม. สถานการณ์เช่นนี้อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้เกิดอาการระคายเคืองคอ ไอ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ใจสั่น ระคายเคืองตา หรือเป็นผื่นคันตามร่างกาย และผู้ที่สัมผัสฝุ่นอย่างต่อเนื่อง และโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ รวมถึงผู้ป่วย 4 กลุ่มโรคสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง คือ กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ และกลุ่มโรคตาอักเสบ ซึ่งกลุ่มดังกล่าวจะมีอาการผิดปกติเจ็บป่วยหรือมีผลกระทบต่อสุขภาพที่รุนแรงได้มากกว่าคนทั่วไป
เฝ้าระวังฝุ่น PM2.5 ใน 4 กลุ่มโรค
นพ.วีรวัฒน์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากรมควบคุมโรคได้เฝ้าระวังสถานการณ์การเจ็บป่วยที่อาจเกี่ยวเนื่องจากการได้รับสัมผัสฝุ่นละอองขนาดเล็กใน 4 กลุ่มโรคดังกล่าว พบว่าระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 20 มีนาคม 2567 อัตราป่วยทั้งหมด 977 รายต่อประชากรแสนคน โดยอัตราป่วยสูงสุด คือ กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ 493 ราย ต่อประชากรแสนคน รองลงมา คือ กลุ่มโรคตาอักเสบ 395 รายต่อประชากรแสนคน กลุ่มโรคทางเดินหายใจ 12 รายต่อประชากรแสนคน และโรคหัวใจและหลอดเลือด 4 รายต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ
ผู้ป่วยกลุ่มอายุ 60 ปี ส่วนใหญ่รับผลกระทบ
ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป อัตราป่วย 4,564 รายต่อประชากรแสนคน รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 50-59 ปี อัตราป่วย 3,230 รายต่อประชากรแสนคน อายุ 50-54 ปี อัตราป่วย 2,528 รายต่อประชากรแสนคน อายุ 45-49 ปี อัตราป่วย 1,952 รายต่อประชากรแสนคน อายุ 40-44 ปี อัตราป่วย 1,497 รายต่อประชากรแสนคน อายุ 5-9 ปี อัตราป่วย 1,415 รายต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ
แนะข้อปฏิบัติช่วงฝุ่นพิษพุ่ง!
ทั้งนี้ ในช่วงที่สถานการณ์ฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน ขอให้ประชาชน 1.ปิดบ้านให้มิดชิด โดยเฉพาะบ้านที่มีผู้ป่วยพักอาศัยอยู่ เพื่อป้องกันฝุ่น 2.เมื่อจำเป็นต้องออกจากบ้านให้ตรวจเช็กค่าฝุ่น PM 2.5 ผ่านแอปพลิเคชัน air4thai หรือ “เช็คฝุ่น” หากค่าฝุ่นเกิน 37.5 mg/m3 ให้สวมหน้ากากสำหรับป้องกันฝุ่นและใช้เวลาอยู่ภายนอกสั้นๆ ลดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง 3.หากค่าฝุ่นมากกว่า 75.0 mg/m3 ผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค ไม่ควรออกจากบ้านเพราะมีความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงขึ้น 4.หากประชาชนมีอาการผิดปกติ ให้รีบกลับเข้าสู่ที่พักที่ปลอดฝุ่น และรีบปรึกษาแพทย์ทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
- 304 views