“ชลน่าน” เผยที่ประชุมบอร์ดโรคติดต่อฯ ห่วงสถานการณ์ไข้เลือดออก ป่วยตายแล้ว 25 คนจาก 16 จังหวัด  สัดส่วนสูงกว่าไข้หวัดใหญ่-โควิด19  มอบคกก.โรคติดต่อจังหวัด กำกับอสม. เดินหน้ามาตรการกำจัดยุงลาย พร้อมสั่ง รพ. จ่ายยากันยุง แก่ผู้ป่วยอาการไม่มากต้องรักษาที่บ้าน ให้ทาต่อเนื่อง 5 วัน รวมทั้งคนในครอบครัว เหตุยุงกัดนำเชื้อแพร่ต่อได้  ชี้ใช้งบเพียง 74.8 ล้าน แต่ประหยัดค่ารักษาปีละ 219.09 ล้านบาท ย้ำ! เป็นไข้ยาซื้อยากลุ่มเอ็ดเสด เสี่ยงตายสูง

 

ตามที่ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เห็นชอบตามข้อเสนอ กรมควบคุมโรค กรณีมอบผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ ทุกเขตสุขภาพ ดำเนินการให้ รพ.สังกัดจัดซื้อและจ่าย ‘ยากันยุง’ แก่ผู้ป่วยไข้เลือดออก อาการไม่รุนแรง และต้องรักษาที่บ้าน ให้ทายากันยุงต่อเนื่อง 5 วัน ป้องกันยุงลายกัด เนื่องจากมีข้อมูลพบว่า ยุงลายสามารถกัดและแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้นั้น

(ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ.สั่ง รพ. จัดซื้อและจ่าย 'ยากันยุง' ผู้ป่วยไข้เลือดออกรักษาที่บ้าน หลังคนไข้สูง 2.2 เท่า)

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา ได้รับทราบสถานการณ์ “โรคไข้เลือดออก”  ซึ่งในปี 2567 มีผู้ป่วยสะสม 17,783 ราย มากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ถึง 2.1 เท่า มีผู้เสียชีวิต 25 ราย จาก16 จังหวัด โดยได้มอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. กำกับ อสม. ทำการสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุกสัปดาห์ พร้อมทั้งรายงานตามระบบอย่างเข้มข้น โดยเน้นโรงเรียน โรงพยาบาล วัด/ มัสยิด/โบสถ์ โรงแรม สถานที่ราชการ โรงงาน และจ่ายยาทาหรือสเปรย์พ่นกันยุงแก่ผู้ป่วย  

ด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์ไข้เลือดออกยังระบาดอย่างต่อเนื่อง เดิมข้อมูลผู้ป่วยปี 2567 มากกว่าปี 2566 ณ ช่วงเวลาเดียวกันของเดือนมกราคมอยู่ที่ 1.9 เท่า ล่าสุดข้อมูลตั้งแต่ต้นปีจนตอนนี้เพิ่มเป็น 2.1 -  2.2 เท่าแล้ว  และพบผู้เสียชีวิตแล้ว 25 คน ซึ่งอัตราการป่วยและเสียชีวิตอยู่ที่ 0.14 คนต่อ 100 คน ซึ่งสูงกว่า โรคไข้หวัดใหญ่และโควิด  โดยไข้หวัดใหญ่อัตราป่วยและเสียชีวิตไม่เกิน 0.01-0.02 คนต่อ 100 คน ขณะที่โควิด ณ ปัจจุบันก็น้อยกว่าเช่นกัน อย่างสัปดาห์ที่ผ่านมาพบ 2 คน ประกอบกับแนวโน้มผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจและปอดบวมจากโควิดก็ลดลงเรื่อยๆ

นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า ปัจจุบันน่าห่วงสุด คือ โรคไข้เลือดออก จึงต้องออกมารณรงค์มาตรการต่างๆ โดยเฉพาะมาตรการเสริมอย่างการทากันยุง เนื่องจากต้องย้ำว่า ข้อมูลขณะนี้พบว่าคนไข้ที่รักษาแบบผู้ป่วยนอก  เมื่ออยู่ที่บ้าน ไม่ได้ทายากันยุง เมื่อยุงมากัดก็นำเชื้อที่ยังมีอยู่ไปแพร่เชื้อต่อคนอื่น กลุ่มนี้มีอาการที่เรียกว่า เรียกว่า DF หรือ Dengue fever คือ มีเชื้อไวรัสอยู่ แต่อาการไม่รุนแรง มีไข้ปกติ เมื่อยุงมากัด จึงนำโรคแพร่เชื้อคนอื่นด้วย ดังนั้น ในคนที่ติดเชื้อหรือผู้ป่วยที่มารักษา หากสามารถทากันยุงได้ 20% และคนใกล้เคียงในบ้านเดียวกันที่ไม่ติดเชื้อ แต่ทายากันยุงด้วยอีก 10% จะช่วยลดผู้ป่วยไข้เลือดออกถึง 27% หรือจะเหลือคนป่วย 200,991 ราย จากทุกวันนี้มีผู้ป่วย 276,945 ราย โดยงบประมาณจัดซื้อยากันยุงจะอยู่ที่ 74.8 ล้านบาท ประหยัดค่ารักษาได้ทั้งปี 219.09 ล้านบาท

จ่ายยาทากันยุง เฉพาะผู้ป่วยกลุ่มรักษาที่บ้าน

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีประชาชนต้องการยาทากันยุง สามารถไปรับที่หน่วยบริการใกล้บ้านหรือไม่ นพ.ธงชัย กล่าวว่า ประเด็นคือ เราต้องการให้ยาทากันยุง แก่ผู้ป่วยไข้เลือดออกที่อาการไม่รุนแรงและต้องกลับไปรักษาตัวที่บ้าน เรียกว่าเจตนาต้องการให้ผู้ป่วย ถือเป็นเวชภัณฑ์ในการป้องกันโรคแก่ผู้ป่วย หรือคนในครอบครัวเดียวกัน ไม่ได้แจกแก่คนทั่วไป

ไข้เลือดออก 80% ไม่มารพ. คิดว่าเป็นไข้ซื้อยาเอง เสี่ยงอันตราย

เมื่อถามว่าอุบัติการณ์ของผู้ป่วยไข้เลือดออกพบในกลุ่มอายุเท่าไหร่มากกว่ากัน นพ.ธงชัย กล่าวว่า  หากมารพ. จะพบในเด็กต่ำกว่าอายุ 15 ปี แต่เสียชีวิตมักเป็นผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม โรคไข้เลือดออก 80%  ไม่ได้มารพ. โดยเฉพาะผู้ใหญ่ เนื่องจากเมื่อมีไข้จะไปซื้อยาลดไข้มากินเอง จุดนี้เสี่ยงตรงที่ไปซื้อยาลดไข้ แก้ปวดในกลุ่มยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนค แอสไพริน รวมถึงยาชุด จะมีผลทำให้เลือดออกมากในทางเดินอาหารและยากต่อการรักษา เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ ในขณะที่เด็กเมื่อเป็นไข้ พ่อแม่จะพามา รพ. ดังนั้น เคสในรพ. จะพบเด็กเยอะ อย่างข้อมูลผู้ป่วยกว่า 2.7 แสนรายคือ มารักษาที่รพ.ในกระทรวงสาธารณสุข เป็นเด็กพบประมาณ 2 ใน 3

เมื่อถามว่าผู้ใหญ่ที่เสียชีวิตจากไข้เลือดออก พบว่ามาจากการป่วยครั้งที่สองหรือไม่ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ส่วนใหญ่การติดไข้เลือดออก ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่หากป่วยครั้งที่สอง การเสียชีวิตจะสูงกว่าครั้งแรก แต่การติดของผู้ใหญ่ก็จะไม่คิดว่าเป็นไข้เลือดออก คิดว่าป่วยเป็นไข้เท่านั้น การมารพ.อาจไม่ทัน แต่เด็ก ทางพ่อแม่จะพามารพ.เร็วกว่า

สังเกตอาการไข้เลือดออก ต้องรีบมารพ.ทันที

ถามว่าจะสังเกตอาการอย่างไรที่ต้องมา รพ.ทันที นพ.ธงชัย กล่าวว่า   หากมีไข้สูงลอย ตาแดง อาจมีจ้ำเลือด คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง โดยเฉพาะกดบริเวณท้องด้านขวา ใต้ชายโครง หากกดแล้วเจ็บ หรือง่ายๆ คือ ไข้สูงลอย ทานข้าวไม่ได้ คลื่นไส้ อาเจียน กดเจ็บตามชายโครงขวา มารพ.ทันที  เพราะไข้เลือดออกตับจะโต กดจะเจ็บ ซึ่งอาการรุนแรงจะมีลักษณะแบบนี้ หากรีบมาจะรักษาทันได้ ส่วนใหญ่เสียชีวิตเพราะช็อก และไปกินยากลุ่มต้องห้าม อย่างเอ็นเสด ทำให้เกร็ดเลือดไม่แข็งตัว มีเลือดออกตามอวัยวะภายใน เกร็ดเลือดแตกได้

เมื่อถามว่าอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นหลังรับเชื้อเมื่อไหร่ นพ.ธงชัย กล่าวว่า 2-3 วันก็จะพบได้แล้ว