สสส.เผยปี 66 พบคนวัยทำงานมีพฤติกรรมเสี่ยง NCDs สูบบุหรี่ กินเหล้า กินหวาน มัน เค็มจัด กิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ พร้อมสานพลัง เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ พัฒนานวัตกรรมหลักสูตร “ออมสุขภาพ รับวัยอิสระ” ปั้น “ผู้นำสุขภาพ” สู่ “นักออมสุขภาพ” เก็บสะสมพฤติกรรมสุขภาพดี ผ่านแอปฯ Health Coin
เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2567 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ กรุงเทพฯ นางประภาศรี บุญวิเศษ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 5 สสส. กล่าวว่า จากรายงานสุขภาพคนไทย ปี 2566 พบคนวัยทำงานมีพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพใน 4 เรื่อง
1.พฤติกรรมสูบบุหรี่ในกลุ่มนี้ 1 ใน 5 สูบบุหรี่ทุกวัน
2.พฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์กลุ่มนี้ 1 ใน 4 ดื่มอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์
3.กินอาหารนอกบ้าน จากร้านหรือตลาด หวาน มัน เค็มจัด
4.มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ สอดคล้องกับข้อมูลการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ ความรอบรู้ และปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลต่อสุขภาพวัยทำงาน โดยกระทรวงสาธารณสุข ที่พบว่า กิจกรรมทางกายของวัยทำงานลดลงต่อเนื่อง จาก 73.44% ในปี 2564 เป็น 63.31% ในปี 2566 สะท้อนการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ในอนาคต
“สสส. สานพลัง เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย พัฒนานวัตกรรมหลักสูตรออมสุขภาพ รับวัยอิสระ โดยเร่งพัฒนาศักยภาพผู้นำสุขภาพ สู่การเป็นนักออมสุขภาพ ในองค์กร 200 แห่งทั่วประเทศ เป็นบุคคลต้นแบบในการดูแลสุขภาพในองค์กรและสมาชิกในครอบครัว ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพพนักงานในองค์กร ที่ส่งผลถึงการมีสุขภาพดีในวัยเกษียณ รองรับสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์” นางประภาศรี กล่าว
ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ ประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลักสูตรต้นแบบ "ออมสุขภาพ รับวัยอิสระ" มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนวัยทำงาน ดูแลสุขภาพ และปฏิบัติพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลไปถึงการมีสุขภาพดีในวัยเกษียณ รองรับสถานการณ์ที่สังคมไทยก้าวสู่สังคมสูงวัย โดยมีเนื้อหาหลักสูตรครอบคลุมทั้งด้านการบริโภคที่ดีต่อสุขภาพ การเพิ่มกิจกรรมทางกาย การสร้างสุขภาวะทางอารมณ์ การสร้างความมั่นคงทางการเงิน และการท่องเที่ยว/เดินทางอย่างสุขภาพดี
รศ.นพ.เพชร รอดอารีย์ รองประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง ในฐานะประธานหลักสูตรออมสุขภาพ รับวัยอิสระ กล่าวว่า หลักสูตรออมสุขภาพนี้ แบ่งออกเป็น 3 ช่วง
1.เปิดบัญชีสุขภาพ ผู้เข้าอบรมลงทะเบียนเป็นนักออมสุขภาพ รับการประเมินร่างกาย ความเครียด ความสุข และแผนปฏิบัติในการดูแลสุขภาพ
2.ช่วงออมสุขภาพ อบรมสร้างความรู้ และฝึกปฏิบัติในการดูแลสุขภาพ ทุกวันศุกร์-เสาร์ เป็นเวลา 12 สัปดาห์ เช่น กิจกรรมออกกำลังกาย ปลูกผักสวนครัว ทำอาหาร เดินทางท่องเที่ยวอย่างสุขภาพดี โดยสะสมเหรียญสุขภาพผ่านแอปพลิเคชัน Health Coin
3.รับผลตอบแทน นักออมสุขภาพรับการประเมินตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ พร้อมติดตามผลการตรวจสุขภาพร่างกายประจำปีและมอบรางวัลเชิดชูเกียรติ ในงาน Healthy Organization Award ซึ่งจัดขึ้นทุกวันศุกร์สัปดาห์ที่ 3 ในเดือนมกราคมของทุกปี
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ เครือข่ายคนไทยไร้พุง หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่อีเมล์ raipoong@gmail.com
“การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ปลอดโรค NCDs ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขถึงวันสุดท้ายของชีวิต จำเป็นต้องตั้งเป้าหมาย วางแผนปฏิบัติให้ชัดเจนอย่างเป็นระบบ เปรียบเสมือนการเปิดบัญชีสุขภาพ ตั้งเป้าหมายสุขภาพ และเริ่มเก็บออมความรู้ ฝึกปฏิบัติพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพอย่างต่อเนื่อง สะสมให้เกิดผลตอบแทนการออมสุขภาพออกในระยะยาว เก็บออมสุขภาพตั้งแต่วันนี้ เพื่อความมั่งมีทั้งสุขภาพกาย ใจ การเงินในวันหน้า หรือ Save your health, Save your wealth” รศ.นพ.เพชร กล่าว
- 527 views